xs
xsm
sm
md
lg

ชวนรู้จัก! ตราสัญลักษณ์จังหวัดช้าง อีกหนึ่งความสำคัญของช้างไทย/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
การแสดงความสามารถของช้างไทย ที่ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง
13 มีนาคม วันช้างไทย

สำหรับเรื่องราวของช้างกับคนไทยนั้น ต้องยอมรับกันว่านับแต่อดีตกาลนานมาถึงปัจจุบัน ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่คุ้นเคยผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยเป็นอย่างดี จนประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลก ที่มนุษย์ตัวเล็กๆสามารถใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดอย่างช้างได้อย่างผูกพันเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน
วิถีความผูกพันของคนกับช้างที่ บ้าน ช.ช้างชรา จ.กาญจนบุรี
ในอดีตยามสยามประเทศสงบ ช้างจะเป็นพาหนะสำคัญในชักลากซุง ลากไม้ ใช้ในการลำเลียงและขนส่งสิ่งของต่างๆ แต่ครั้นยามถึงคราวรบทัพจับศึก ช้างก็ถือเป็นผู้ร่วมรบแนวหน้าที่ยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายร่วมกับนักรบไทย

ครั้นมาถึงยุคปัจจุบัน ช้างไทยที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กดึงดูดให้ทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยมาชมความสามารถของช้างไทยที่ถือเป็น“มหัศจรรย์ช้างไทย” กับการแสดงความสามารถต่างๆ รวมถึงการนั่งช้างท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นมนต์เสน่ห์แห่งช้างไทยที่ได้รับความนิยมไม่น้อย
รูปปั้นช้างที่ฐานเจดีย์(วัด)พระธาตุช้างค้ำ จ.น่าน
ส่วนถ้าหากมองในทางศาสนา มีวัดหลายแห่งในบ้านเราที่ใช้ชื่อช้างมาตั้งเป็นชื่อวัด เช่น วัดช้างล้อม(สุโขทัย) วัดช้างรอบ(กำแพงเพชร) วัดพระธาตุช้างค้ำ(น่าน) วัดช้างให้(ปัตตานี) และนำช้างมาเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของวัด เนื่องจากเชื่อกันว่าช้างเป็นสัตว์ที่ช่วยค้ำจุนโลกไม่ให้ล่มสลายและเป็นหนึ่งในทศชาติของพระพุทธเจ้า

นอกจากนี้เรื่องราวของคนไทยที่เกี่ยวข้องกับช้างก็ยังมีอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ชื่อสถานที่ อย่าง อำเภอด่านช้าง(สุพรรณ) ถนนช้างคลาน(เชียงใหม่) ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว เช่น เกาะช้าง(ตราด) ถ้ำพุงช้าง(พังงา) ถ้ำเขาช้างหาย(ตรัง) เขารูปช้าง(พังงา) เขาช้างเผือก(กาญจนบุรี) ดอยช้างมูบ(เชียงราย) หรือชื่อของช้างที่ถูกนำไปใช้ในสำนวนไทย อย่างเช่น เห็นช้างขี้อย่าขี้ตามช้าง ขี่ช้างจับตั๊กแตน รวมไปถึงบางจังหวัดที่มีช้างปรากฏอยู่ในคำขวัญ
เขาช้าง จ.พังงา
ส่วนเรื่องของช้างที่หลายคนไม่ค่อยรู้กันนั่นก็คือ หลายจังหวัดในบ้านเราต่างมีช้างเป็นสัญลักษณ์ของตราจังหวัด ซึ่งเมื่อทอดตาทั่วฟ้าเมืองไทยจนลูกตาไหม้เกรียมพบว่ามีอยู่ 8 จังหวัดที่มีช้างเป็นสัญลักษณ์จังหวัด
ตราสัญลักษณ์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร
โดยผมจะขอไล่เรียงไปตามลำดับอักษรเริ่มจาก “กรุงเทพมหานคร” หรือกทม. เมืองหลวงของไทยที่แม้จะถูกยกให้เป็นเขตปกครองพิเศษ แต่ก็คงเป็นจังหวัดที่สำคัญที่สุดในเมืองไทยอยู่นั่นเอง

สำหรับสัญลักษณ์จังหวัดของกรุงเทพฯคงเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 4 งา พระหัตถ์ขวาพระอินทร์ถือวชิราวุธ พระหัตถ์ซ้ายถือขอช้าง ถือเป็นสัญลักษณ์จังหวัดที่มาจากตราเครื่องหมายเดิมของเทศบาลนครกรุงเทพ ซึ่งนายกเทศมนตรีกรุงเทพคนแรก พลเอกเจ้าพระยารามราฆพ ได้ระบุว่า ตราสัญลักษณ์นี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้ทรงคิดและทรงประทานตราสัญลักษณ์นี้ ที่สื่อความหมายว่า พระอินทร์เป็นตำแหน่งของผู้ปกครองดูแลเทวดาทั้งหลาย เปรียบดังนายกเทศมนตรี ดูแลประชาชน ให้ได้รับความสุขความเจริญนั่นเอง
ตราสัญลักษณ์ จังหวัดเชียงราย
จังหวัดต่อมาคือ “เชียงราย” ที่มีรูปช้างเป็นตราสัญลักษณ์จังหวัด กับรูปช้างสีขาวและเมฆพร้อมกับลายที่ขอบตรามีรูปนาคเกี้ยว อันหมายถึงนิมิตของความรุ่งเรืองในอดีต เนื่องจากเคยใช้ช้างเป็นกำลังสำคัญในการออกศึกปราบศัตรูจนแพ้พ่าย นำชัยชนะมาสู่เชียงรายในอดีต
ตราสัญลักษณ์ จังหวัดเชียงใหม่
ในขณะที่จังหวัดติดกันอย่าง“เชียงใหม่” ก็มีช้างเป็นตราสัญลักษณ์จังหวัดเช่นกัน โดยเป็นรูปช้างเผือกยืนอยู่ในเรือนแก้ว ที่หมายถึงความสำคัญของประการ นั่นก็คือ ช้างเผือกคือช้างที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่นำขึ้นทูลเกล้าถวายแด่สมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย และขึ้นระวางเป็นช้างเผือกเอกในรัชกาล ส่วนเรือนแก้วหมายถึงดินแดนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุด จนมีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ขึ้นในเมืองเชียงใหม่
ตราสัญลักษณ์ จังหวัดนครนายก
หันมาดูคราสัญลักษณ์จังหวัด“นครนายก” กันบ้าง เดิมตราจังหวัดนครนายก(ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483) เป็นรูปช้างชูงวงเกี่ยวรวงข้าว ท่ามกลางฉากหลังรูปกองฟาง ที่สื่อถึงว่า ครั้งหนึ่งนครนายกเคยเป็นเมืองที่มีช้างมาก โดยปัจจุบันมีสถานที่และชื่อวัดที่เกี่ยวกับช้างอยู่หลายแห่ง อาทิ ตำบลท่าช้าง วัดท่าช้าง ในขณะที่ อำเภอเมืองนครนายกก็เคยเป็นท่าข้ามของโขลงช้างมาก่อน ส่วนรวงข้างและกองฟางนั้นหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหาร แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการเปลี่ยนรูปตราจังหวัดนครนายก โดยตราของจังหวัดที่ประกาศอยู่ในราชกิจจานุเบกษานั้นได้เพิ่มแถบชื่อจังหวัดและลายขอบตรา และได้ตัดองค์ประกอบที่อยู่เบื้องหลังรูปช้างชูรวงข้าวออกทั้งหมด
ตราสัญลักษณ์ จังหวัดตาก
อีกจังหวัดที่มีช้างเป็นตราสัญลักษณ์จังหวัดก็คือ “ตาก” กับรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงหลั่งทักษิโณทกเหนือคอช้างศึก ซึ่งตามหลักฐานระบุว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรฯยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีรบกับอังวะ พระมหาอุปราชาเมืองพม่าได้สั่งให้ทหารคู่ใจคอยตีขนาบข้างและปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรฯเสีย แต่ว่าความแตกรู้ถึงพระกรรณของสมเด็จพระนเรศวรฯที่เมืองแครง พระองค์จึงทรงประชุมชาวเมืองและบรรดาแม่ทัพนายกอง และทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกเหนือแผ่นดิน พร้อมประกาศอิสรภาพไม่ยอมขึ้นกับอังวะ นอกจากนี้ตากยังเป็นด่านแรกที่สมเด็จพระนเรศวรทรงฯช้าง ยกกองทัพกลับเข้ามายังราชอาณาจักรไทย
ตราสัญลักษณ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ขึ้นเหนืออีกครั้งไปยังจังหวัด “แม่ฮ่องสอน” ตราจังหวัดนี้เป็นรูปช้างเล่นน้ำซึ่งหลายๆคนอาจไม่รู้ แต่สำหรับแม่ฮ่องสอนในอดีต เมืองนี้เป็นหนึ่งในเมืองฝึกช้างป่าเพื่อให้รู้จักการบังคับบัญชาจากคนและใช้งานการรบ การใช้งานต่างๆ โดยมีเรื่องเล่าว่า เจ้าแก้วเมืองได้ออกมาจับช้างป่าให้พระเจ้าเชียงใหม่ (ราว พ.ศ. 2368-2389) แล้วรวบรวมชาวไทยใหญ่ตั้งเมืองเป็นหลักแหล่ง มีหัวหน้าขึ้นเป็นผู้ปกครอง 2 แห่ง คือบ้างปางหมู และบ้านแม่ฮ่องสอน โดยมีการฝึกซ้อมช้างป่าขึ้นที่ลำห้วยในบ้านแม่ฮ่องสอน
ตราสัญลักษณ์ จังหวัดสุพรรณบุรี
อีกจังหวัดหนึ่งที่มีช้างเป็นตราสัญลักษณ์ นั่นก็คือ“สุพรรณบุรี” ที่มีช้างถึง 2 ตัวทีเดียว เพราะนี่เป็นภาพการทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่า สำหรับเหตุที่สุพรรณฯใช้รูปนี้เป็นตราสัญลักษณ์จังหวัดก็เนื่องมาจาก มีความเชื่อว่า ที่ ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี เป็นสถานที่ทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรฯ(เป็นความเชื่อของนักประวัติศาสตร์สายหนึ่ง) ก่อนที่ไทยจะได้รับชัยชนะและประกาศเป็นอิสรภาพใน ปี พ.ศ. 2135
ตราสัญลักษณ์ จังหวัดสุรินทร์
มาถึงจังหวัดสุดท้ายที่มีช้างเป็นตราสัญลักษณ์ นั่นก็คือ“สุรินทร์” เมืองช้างที่คนทั่วไปรู้จักกันดี สุรินทร์มีช้างมากมาตั้งแต่โบราณ เป็นเมืองที่มีการจับช้างป่ามาเลี้ยงเสมอ โดยตราจังหวัดเป็นรูป พระอินทร์ประทับบนเศียรช้าง และภาพของสิ่งก่อสร้างแบบขอมที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของอิทธิพลขอมโบราณในดินแดนแถบนี้

และนั่นคือเรื่องราวของ 8 จังหวัดที่มีช้างปรากฏเป็นตราสัญลักษณ์ ที่แม้สถานการณ์ช้างไทยในปัจจุบันจะดูน่าเป็นห่วง แต่หากผู้เกี่ยวข้องและคนไทยร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือช้าง เจ้าสัตว์บกตัวใหญ่ตัวนี้ก็ยังคงจะอยู่คู่บ้านเมืองไทยไปอีกนานเท่านาน
******************************************

หมายเหตุ : นอกจากตราสัญลักษณ์จังหวัดที่มีรูปช้างดังกล่าวแล้ว ในอดีตช่วง พ.ศ. 2484-2489 ประเทศไทยยังมีจังหวัดลานช้างหรือจังหวัดล้านช้าง มีตราสัญลักษณ์จังหวัดเป็นรูปโขลงช้างยืนอยู่กลางลานกว้าง ซึ่งปัจจุบันพื้นที่จังหวัดล้านช้างเป็นส่วนหนึ่งของ สปป.ลาว
กำลังโหลดความคิดเห็น