xs
xsm
sm
md
lg

อวสาน ร.ล.ประแสกลางพายุหิมะ! เรือพิฆาตอเมริกันต้องช่วยยิงถล่มให้เป็นเศษเหล็ก!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ทหารเรือไทยในพิธีต้อนรับที่ฐานทัพซาเซโบ
ในปลายปี ๒๔๙๓ ขณะที่คนไทยกำลังตื่นเต้นภูมิใจที่ไทยเรา“โกอินเตอร์” ส่งทหารไปร่วมกับสหประชาชาติในสงครามเกาหลี โดยส่งไปทั้งทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ แต่ในต้นเดือนมกราคม ๒๔๙๔ ก็ได้รับข่าวร้ายด้วยความตกใจว่า ร.ล.ประแส หนึ่งในสองลำของเรือรบไทยที่ไปเข้าสมรภูมิ ได้ประสบอุบัติเหตุวิ่งเกยตื้นท่ามกลางพายุหิมะอันหนาวเหน็บอยู่ในแดนข้าศึก กองทัพอเมริกันส่งทั้งเฮลิคอปเตอร์และเรือลากจูงเข้าช่วย แต่ก็ไม่สามารถจะลาก ร.ล.ประแสออกมาได้ ทั้งยังได้รับความบอบช้ำจากเฮลิคอปเตอร์ที่มาช่วยตกใส่อีก เลยต้องกลายเป็นเศษเหล็กอยู่ในเขตแดนเกาหลีเหนือ

ร.ล.ประแสเดินทางไปเกาหลีพร้อมด้วย ร.ล.บางปะกง และ ร.ล.สีชัง ซึ่งเป็นเรือลำเลียง พร้อมกับมีเรือสินค้าเฮอร์ตาเมอร์สค์ ที่เช่ามาขนทหารร่วมขบวนไปด้วย และเข้าประจำการกับกองเรือสหประชาชาติอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ เป็นต้นมา

ภารกิจแรกที่ ร.ล.ประแสและร.ล.บางปะกงซึ่งเป็นเรื่องประเภทคอร์เวตมีกำลังพลลำละ ๑๑๐ คน ได้รับมอบหมายก็คือ ให้ป้องกันการลักลอบเข้าโจมตีอ่าวซาเซโบ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฐานทัพเรือของสหประชาชาติ

ร.ล.ประแสได้เริ่มปฏิบัติงานเป็นครั้งแรกในวันที่ ๔ ธันวาคม โดยออกตรวจการณ์และรักษาบริเวณช่องทางเข้าฐานทัพเรือซาเซโบตลอดเวลาเช้า ผลัดเปลี่ยนกับเรือบางปะกง และสิ้นสุดภารกิจนี้ในวันที่ ๓๑ ธันวาคมเป็นวันสุดท้าย

ภารกิจต่อมาของ ร.ล.ประแสและร.ล.บางปะกงก็คือ ในวันที่ ๓ มกราคม เวลา ๘.๓๐ น. ได้รับมอบหมายให้ไประดมยิงชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือที่บริเวณเส้นละติจูดที่ ๓๘-๓๙ องศาเหนือ ระหว่างชายฝั่งเมืองซังจอนกับเมืองยังยัง โดยมีเรือพิฆาตยูเอสเอส อิงลิช ของสหรัฐร่วมปฏิบัติการณ์ด้วย

วันที่ ๕ และวันที่ ๖ มกราคม เวลาบ่ายได้ไประดมยิงสถานีรถไฟ เส้นทางคมนาคม และสิ่งปลูกสร้างทางทหารบริเวณชายฝั่งเมืองโซโด ซึ่งจากรายงานของผู้บังคับหมวดเรือเฉพาะกิจที่ ๙๕.๒ถึงผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจ ๙๕ แจ้งว่า การยิงของเรือรบไทยได้ผลดียิ่ง

ตอนบ่าย ๑๕.๓๐ น.ของวันที่ ๘ เรือพิฆาตยูเอสเอส อิงลิช ซึ่งเป็นเรือคุมขบวน ได้แยกจากขบวนไปปฏิบัติภารกิจอื่น นัดหมายให้ ร.ล.ประแสและร.ล.บางปะกงตามไปพบในเช้าวันรุ่งขึ้นที่จุดนัดพบ ละติจูด ๓๘ องศา ๐๐ ลิบดาเหนือ ลองติจูด ๑๒๘ องศา ๕๐ ลิบดาตะวันออก ร.ล.ประแสและร.ล.บางปะกงจึงแล่นตามกันไปโดยทิ้งระยะห่างประมาณ ๔ ไมล์ ด้วยความเร็วและเข็มตามที่เรือพิฆาตยูเอสเอส อิงลิชกำหนด

ระหว่างที่ฝ่าคลื่นลมและพายุหิมะหนักไปตลอดคืน กำลังแรงของพายุทำให้ ร.ล.ประแสเซผิดทิศทาง ความเร็วของเรือก็ตกลงมากเนื่องจากต้านลม และเพราะสังขารที่ถูกใช้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ จนร่วงโรย ไทยได้ซื้อต่อมาจากราชนาวีอังกฤษ แม้จะได้รับการซ่อมแซมก็ไม่ได้ทำให้สมรรถภาพดีเหมือนใหม่ ที่สำคัญเรดาร์ก็ใช้ไม่ได้ ไม่สามารถกวาดหาชายฝั่งได้

ร.ล.ประแสจึงเหมือนคนตาบอดคลำทางอยู่ท่ามกลางพายุหิมะ!

เช้าวันที่ ๗ มกราคม เวลาล่วงเข้า ๗.๓๐ น.แล้ว พายุหิมะก็ยังไม่ลดกำลังลง ร.ล.ประแสซึ่งเป็นเรือนำ เซไปเซมาจนท้องเรือเกยครืดเข้ากับพื้นทรายหยุดนิ่ง เรือเอกดนัย เรวัต ต้นเรือจึงสั่งถอยหลังเต็มตัว แต่ก็ไม่อาจทำให้เรือเขยื้อนได้ สภาพเรือเกยตื้นทำมุม ๖๐ องศาจากฝั่งซึ่งอยู่ห่างเพียง ๕๐ เมตรเท่านั้น

บริเวณนั้นคือแหลมคิซามุน เหนือเส้นขนานที่ ๓๘ ขึ้นไปประมาณ ๑๖ กิโลเมตร อยู่ในเขตแดนของข้าศึก

เมื่อคลื่นตีกราบขวาจนเรือเอียง นาวาโทหม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย ผู้บังคับการเรือ จึงสั่งให้ทิ้งสมอหัวเรือด้านขวาเข้าช่วย แต่สมอก็เกาะพื้นทรายไม่อยู่ ครูดไปตามแรงคลื่น อากาศก็มืดมัว หิมะตกหนักลงหนาทึบ อุณหภูมิลดลงถึง – ๑๗ องศาเซลเซียส

๘.๓๐ น. ร.ล.บางปะกงตามมาถึง ร.ล.ประแสจึงส่งสัญญาณให้ทราบว่าเกยตื้นอยู่ ร.ล.บางปะกงพยายามจะเข้ามาใกล้ที่สุด แต่ก็เข้ามาได้เพียงห่าง ๓๕๐ เมตรเท่านั้น จนเมื่อเวลา ๑๓.๐๐ น. จึงส่งเรือบดนำเชือกนำไปให้ ร.ล.ประแส เพราะขณะนั้นปืนยิงส่งเชือกนำยังไม่มีใช้ในเรือรบไทย จึงต้องใช้ทหาร ๑๑ คนลงเรือบดโต้คลื่นลมไป แต่ก็ต้องพลัดตกน้ำไป ๖ คน คือ พันจากเอกพร้อม ฤทธิ์วาจา จ่าโทสำเริง มาไทย จ่าโทชั้น เมืองอ่ำ จ่าตรีชั้น สกุลเต็ม จ่าตรีเพิ่ง อุไรเรือง และพลทหาร ละมูล สิงโตทอง ส่วนอีก ๒ คน คือ จ่าโทสำเริง และ จ่าโทชั้น เมืองอ่ำ ลอยเข้าไปใกล้ ร.ลประแส ทหารบนเรือจึงโยนพวงชูชีพให้ ๒ พวง แต่จ่าโทสำเริงคว้าไว้ได้คนเดียว ส่วนจ่าโทชั้นถูกคลื่นม้วนตัวจมน้ำหายไป

ร.ล.บางปะกงจึงส่งเรือบดอีกลำไปช่วย แต่ก็ไม่สามารถหาจ่าโทชั้นพบ

กองทัพเรือสหรัฐได้รีบส่งเรือลากจูงมาด่วน โดยส่งเชือกนำมีทุ่นลอยไป แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงใช้เรือระบายพลขนาดเล็กเข้าไปใกล้ แล้วใช้ปืนยิงเชือกนำ ใช้ลวดสลิงขนาด ๓ นิ้วดึง และยังใช้โซ่ผูกทุ่นเข้าช่วย ฉุดอยู่ประมาณ ๕ นาทีทั้งลวดทั้งโซ่ก็ขาด ร.ล.ประแสไม่ขยับเขยื้อน ขณะนั้นเวลาล่วงเข้า ๒๑ น.เศษแล้ว จึงต้องหยุดพักไว้พยายามใหม่ตอนเช้า ระหว่างนั้น ร.ล.บางปะกงและเรือรบสหรัฐประมาณ ๑๐ ลำก็มาช่วยคุ้มกัน ยิงไปบนฝั่งตลอดเวลาไม่ให้ข้าศึกมารบกวน

รุ่งเช้าเริ่มตั้งแต่ ๗.๓๐ น. เรือลากจูงพยายามส่งเชือกให้ ร.ล.ประแสอีกครั้ง แม้จะใช้ทั้งแรงคนและเครื่องกว้านสมอก็ไม่สามารถดึงเชือกซึ่งเส้นใหญ่ขึ้นไปได้ ต้องหยุดพักรับประทานอาหารเช้าเมื่อ ๑๑.๐๐ น. ทหารบอบช้ำกันมาก เพราะต้องยืนแช่น้ำในขณะที่อากาศหนาวเย็น ทั้งพายุหิมะก็ไม่ได้เบาบางลง

ในเวลา ๑๒.๔๕ น. เจ้าหน้าที่สหรัฐจึงส่ง เรือโทฮาโรลด์ฮาร์ดิง เจ้าหน้าที่จากเรือลากจูงและพนักงานวิทยุอีก ๑ คนไปช่วยบน ร.ล.ประแส แต่ขณะที่เฮลิคอปเตอร์กำลังส่งเรือโทฮาร์ดิงหย่อนตัวลงบนสะพานเดินเรือ ใบพัดไปฟันเอากิ่งของเสากระโดงเรือที่สำหรับผูกสัญญาณขาด เฮลิคอปเตอร์ตกลงบนสะพานเดินเรือเกิดไฟลุกไหม้ กระสุนปืนกลขนาด ๒๐มม.ในหีบบนสะพานเรือที่เตรียมไว้ยิง ถูกความร้อนก็ระเบิด สร้างความเสียหายแก่เรือมาก แต่ก็สามารถดับเพลิงได้ภายใน ๓๐ นาที เจ้าหน้าที่สหรัฐบาดเจ็บไม่สาหัส แต่ จ่าโทผวน พรสยม จมน้ำเสียชีวิตไปอีกรายขณะไฟไหม้

ทหารสหรัฐส่งหน่วยกู้ภัยมาช่วยลำเลียงทหารที่อิดโรยออกจาก ร.ล.ประแส แต่สถานการณ์กลับเลวลงอีก ในตอนดึกที่น้ำขึ้น ร.ล.ประแสพยายามเดินเครื่องถอยหลังอีก แต่คลื่นแรงทำให้ท้ายเรือปัดขนานเข้ากับฝั่ง น้ำเค็มเข้าปนกับน้ำมันทำให้เครื่องจักรดับ ถังน้ำจืดก็รั่วน้ำเค็มเข้าไปปน เป็นอันว่าไม่มีทั้งน้ำดื่ม แสงสว่าง และเครื่องทำความอบอุ่น

ขณะเดียวกันก็เห็นทหารเกาหลีเหนือปรากฏตัวขึ้นที่ชายฝั่ง และพยายามลุยมาที่ ร.ล.ประแส ทหารที่ทำหน้าที่ยามรักษาการณ์จึงต้องยิงขับไล่และระวังอย่างหนักไม่ให้เข้ามาใกล้

ความพยายามที่จะกู้ ร.ล.ประแสดำเนินอยู่หลายวันท่ามกลางอากาศอันเลวร้าย จนถึงวันที่ ๑๒ มกราคม แพทย์ทหารสหรัฐยศนาวาโท ประจำเรือลาดตระเวนยูเอสเอส แมนเชสเตอร์ ไปตรวจสภาพลูกเรือ ร.ล.ประแสทางเฮลิคอปเตอร์ และลงความเห็นว่าทหารจะอยู่ในเรือสภาพนี้ต่อไปอีกไม่ได้เป็นอันขาด จึงรายงานผู้บังคับการเรือพิฆาตยูเอสเอส อิงลิช และสั่งเริ่มลำเลียงทหารจาก ร.ล.ประแสไปที่เรือลาดตระเวนยูเอสเอส แมนเชสเตอร์ การลำเลียงดำเนินไปจนถึง ๑๕ น.ของวันที่ ๑๓ มกราคม ผู้บังคับการ ร.ล.ประแสจึงได้รับคำสั่งจากกองทัพเรือให้สละเรือ พร้อมกันนั้นกองบัญชาการสหประชาชาติที่กรุงโตเกียวได้มีคำสั่งให้กองเรือเฉพาะกิจทำลาย ร.ล.ประแส นาวาโทหม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ ผู้บังคับการเรือ ได้อำนวยการให้ต้นหนและต้นปืนทำลายสิ่งที่อาจเป็นประโยชน์แก่ข้าศึก ราดน้ำมันและวางดินปืนในที่ต่างๆ แล้วออกจากเรือเป็นคนสุดท้าย

ต่อจากนั้น เรือพิฆาตยูเอสเอส อิงลิชได้ระดมยิง ร.ล.ประแสเป็นจำนวน ๕๐ นัดเศษ จนกระทั่งกลายเป็นเศษเหล็ก หมู่เรือคุ้มกันและช่วยเหลือจึงเดินทางกลับฐานทัพที่ซาเซโบ รวมเวลาที่พยายามกู้ ร.ล.ประแสถึง ๗ วัน มีทหารจาก ร.ล.ประแสและ ร.ล.บางปะกงป่วยและบาดเจ็บ ๒๗ คน ตาย ๒ คน คือ จ่าโทชั้น เมืองอ่ำ และจ่าโทผวน พรสยม ซึ่งภายหลังได้รับการปูนบำเหน็จเป็นพันจ่าตรี

เมื่อ ร.ล.ประแสกลายเป็นเศษเหล็กไปแล้ว ในวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๙๔ รัฐบาลไทยได้ให้กระทรวงการต่างประเทศเจรจากับรัฐบาลสหรัฐ ขอซื้อเรือฟรีเกต ๒ ลำ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐก็ยินดีให้กองทัพเรือภาคพื้นแปซิฟิค จัดเรือยูเอสเอส เกลนเดน (พีเอช ๓๖) กับเรือยูเอสเอสแกลลัพ (พีเอช ๔๗) ขายให้ไทยในราคาเพียง ๘๖๑,๙๔๖ เหรียญสหรัฐ โดยมีเงื่อนไขขอให้ใช้เรือทั้ง ๒ ลำนี้ร่วมปฏิบัติการกับสหประชาชาติในสงครามเกาหลีก่อน

เรือยูเอสเอสแกลลัพ จึงเข้าประจำการในกองทัพเรือไทย ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า ร.ล.ประแส ส่วนเรือยูเอสเอส เกลนเดน ได้รับพระราชทานชื่อว่า ร.ล.ท่าจีน แทน ร.ล.ท่าจีนลำเก่าที่ถูกเครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดจนเรือทะลุเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ และปลดประจำการไปแล้ว

เรือทั้ง ๒ ได้ขึ้นระวางประจำการกองทัพเรือไทยในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๙๔ และได้ปฏิบัติการในสงครามเกาหลีจนสงบศึกในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๗
ประแสลำที่ไปเกยตื้น
ประแสขณะที่เกยตื้นชายฝั่งเกาหลีเหนือ
ประแสในสภาพก่อนสละเรือ
เรือยูเอสเอสแกลลัฟ ที่มาเป็น ร.ล.ประแสใหม่
น.ท.ม.จ.อุทัยเฉลิมลาภวันกลับไทย
ร.ล.ประแสลำใหม่ขึ้นบกเป็นอนุสรณ์อยู่ที่หาดประแส ระยอง
กำลังโหลดความคิดเห็น