xs
xsm
sm
md
lg

ใครเชื่อข่าว BRN รับเป็นผู้ก่อการร้าย 7 จังหวัดใต้บนและที่ชายแดนใต้..ยกมือขึ้น?! / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้นภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก

-----------------------------------------------------------------------------------------
 
 
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้มีประเด็นที่สำคัญคือ การที่มีข่าวจากสำนักข่าว “เบนาร์นิวส์” ระบุว่า เหตุการณ์ก่อการร้ายทั้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน และเหตุการณ์ในภาคใต้ตอนล่างที่มีทั้งการวางระเบิดขบวนรถไฟที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และต่อเนื่องถึงการวางระเบิดหน้าโรงเรียนบ้านตาบา ต.เจะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
 
ปฏิบัติการก่อการร้ายเหล่านั้นเป็นฝีมือของ “บีอาร์เอ็น
 
โดยมีการยืนยันว่าผู้ให้ข่าวคือ แกนนำฝ่ายคอมมานโด หรืออาร์เคเคของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งระบุสาเหตุของการก่อวินาศกรรมทั้งในภาคใต้ตอนบน และในภาคใต้ตอนล่างว่า สาเหตุมิใช่การไม่พอใจในเรื่องการทำ “ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะในประเด็นของ “ศาสนา” แต่เป็นผลจากความไม่พอใจในเรื่อง “การพูดคุยสันติสุข” ซึ่งเพิ่งจะผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา
 
ที่ผ่านมาขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นองค์กรลับ แม้จะเป็นผู้ก่อเหตุร้ายในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 70% ตั้งแต่การเผาโรงเรียน 36 โรง เมื่อปี 2535 ต่อเนื่องจนถึงการปล้นปืนที่กองพลพัฒนาที่ 4 หรือค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคา 2547 แต่ไม่เคยออกมารับว่าเป็นฝีมือของขบวนการตนเอง ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เคยออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำเมื่อถูกกล่าวหา
 
แล้วทำไมครั้งนี้บีอาร์เอ็นจึงมีการให้ข่าวแก่ “สื่อ” ของประเทศมาเลเซีย ว่า เป็นการกระทำของขบวนการตนเอง ซึ่งเป็นการให้ข่าวในห้วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีหัวข้อราชการสำคัญในการหารือกับนายรัฐมนตรีของไทย
 
ความจริงแล้วมีเหตุผล 3 ประการที่บีอาร์เอ็นก่อเหตุในพื้นที่ภาคใต้ของไทย แล้วไม่รับว่าเป็นฝีมือของขบวนการตนเองคือ
 
ประการแรก บีอาร์เอ็นต้องการสร้างความคลุมเครือให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน เพราะหลังก่อเหตุ “แนวร่วม” ฝ่ายโฆษณาของขบวนการก็จะป่าวประกาศว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด เกิดความเกลียดชัง และเป็นปรปักษ์ต่อรัฐไทย
 
ประการที่ 2 ในการก่อเหตุด้วยระเบิดแสวงเครื่องในแต่ละครั้ง แม้ว่า “เป้าหมาย” คือเจ้าหน้าที่รัฐที่แนวร่วมต้องการให้ตกเป็นเหยื่อ แต่ปรากฏว่า บ่อยครั้งที่มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อล้มตาย และบาดเจ็บไปด้วย อย่างที่เกิดขึ้นที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว จ.ปัตตานี หรือที่หน้าโรงเรียนบ้านตาบา เหตุเพราะระเบิด “ไม่มีตา” ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าในรัศมีของพื้นที่สังหาร มีคนที่เป็น “ชาติพันธุ์” เดียวกับคนในขบวนการบีอาร์เอ็นหรือไม่
 
ประการที่ 3 สิ่งทำให้ไม่สามารถประกาศเป็นผู้สั่งการในการก่อการร้ายในพื้นที่ของประเทศไทย เนื่องจาก “ฐานที่มั่น” และ “แกนนำ” ของขบวนการบีอาร์เอ็น และรวมถึงขบวนการพูโล ซึ่งเป็นสองขบวนการที่มีกองกำลังติดอาวุธอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างหลบอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย ทั้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่เป็นเมืองหลวง และที่รัฐกลันตัน และรัฐตรังกานู ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลมาเลเซีย
 
ในฐานะที่มาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย เมื่อไหร่ที่บีอาร์เอ็นหรือพูโลออกมายอมรับว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของพวกเขาเป็นผู้ก่อเหตุในประเทศไทย อย่างแรกที่จะตามมาก็คือ เกิดผลกระทบต่อประเทศมาเลเซียในทันที เพราะประเทศไทยต้องประท้วง และต้องให้ประเทศมาเลเซียชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งส่งตัวผู้ทำผิดให้แก่ประเทศไทย ซึ่งย่อมต้องการทบถึงสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศอย่างแน่นอน
 
ดังนั้น ที่ผ่านมาบีอาร์เอ็นจึงไม่กล้าที่จะบอกแก่สังคมไทย และโลกว่า ขบวนการเขาเองคือผู้สั่งการให้แนวร่วมปฏิบัติการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือในประเทศไทย เนื่องจากยังต้องการใช้ประเทศมาเลเซียเป็นฐานที่มั่น รวมทั้งใช้เป็นที่พักพิงของแนวร่วมที่หนีไปจากฝั่งไทย
 
ด้วยสาเหตุนี้เองที่ทำให้ประเทศมาเลเซียปฏิเสธกับประเทศไทยมาโดยตลอดว่า ไม่มีขบวนการบีอาร์เอ็นเคลื่อนไหวในพื้นที่ และไม่มีผู้ต้องหาที่ก่อเหตุร้ายจากประเทศไทยหลบหนีไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย
 
สำหรับประเทศมาเลเซียก็เพิ่งจะยอมรับเฉพาะ “กลุ่มมาราปาตานี” เท่านั้นว่า มีที่พักพิงในมาเลเซียจริง เนื่องจากการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขระหว่างตัวแทนของขบวนการก่อการร้าย 4 กลุ่ม ซึ่งเป็น 4 กลุ่มที่รู้กันอยู่ว่าเป็นกลุ่มที่ “ไม่มีศักยภาพ” ในการก่อการร้ายแล้ว และทั้งหมดเป็น “ปีกทางการเมือง” ของขบวนการที่ไม่ใช่ “ปีกทางการทหาร” หรือไม่สามารถสั่งการกองกำลังติดอาวุธได้แล้วนั่นเอง
 
ดังนั้น การที่อยู่ๆ มีข่าวว่าตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็นออกมายอมรับว่า เป็นผู้ก่อวินาศกรรมใน 7 จังหวัดตอนบน และก่อการร้ายใน 4 จังหวัดของภาคใต้ตอนล่าง จึงเป็นเรื่องที่ “แปลกแปร่ง” อยู่ไม่น้อย
 
แต่ก็มีความเป็นไปไม่ได้ค่อนข้างสูงว่า ข่าวนี้เป็น “ข่าวจริง”
 
ทั้งที่ในความจริงการก่อวินาศกรรมใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน และการก่อการร้ายในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ล้วนเป็นฝีมือของบีอาร์เอ็นอย่างแน่นอน เพียงแต่ที่ผ่านๆ มาบีอาร์เอ็นไม่ยอมรับเท่านั้น
 
ดังนั้น ข่าวที่บีอาร์เอ็นประกาศยอมรับว่าเป็นปฏิบัติการของขบวนการตนเอง จึงเป็นเรื่องที่ต้องค้นหาเบื้องลึก และเบื้องหลังให้ได้ว่า เป็นการยอมรับของบีอาร์เอ็นตัวจริงเสียงจริงหรือไม่ หากใช่แล้วบีอาร์เอ็นมีความประสงค์อะไร แต่ถ้าหากไม่เป็นจริง ก็ต้องค้นหาให้พบว่าขบวนการไหนเป็นผู้ปล่อยข่าว และเพื่อหวังผลอะไร
 
แต่ที่แน่นอนคือ ข่าวนี้ถูกปล่อย และเป็นไปอย่าง “ถูกที่” และ “ถูกเวลา” โดยเป็นการหวังผลที่ต้องการล้มเวทีพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานี
 
เพราะเหตุผลที่ยกมาอ้างว่า การก่อเหตุครั้งนี้เพราะไม่พอใจในการพูดคุยสันติสุข ซึ่งฝ่ายไทยไม่มีความจริงใจนั้น แสดงให้เห็นว่าการปล่อยข่าวครั้งนี้มีสาระสำคัญอยู่ที่ต้องการบีบให้รัฐไทยยอมพูดคุยในเกมของกลุ่มมาราปาตารี หรือไม่ก็ล้มเวทีไปเสียเลย
 
เพราะถ้าสมมติว่าบีอาร์เอ็นไม่พอใจในการพูดคุยสันติสุข แล้วตอบโต้ด้วยการก่อการร้ายดังกล่าว รัฐบาลไทยก็ย่อมที่จะไม่สานต่อการพูดคุยอีกต่อไป และไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลไทยต้องดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย จัดการต่อขบวนการบีอาร์เอ็นที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งการโฆษณาให้ชาวโลกรู้ว่า ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นอย่างไร้มนุษยธรรมนั้น ผู้ก่อเหตุคือ ขบวนการบีอาร์เอ็น แล้วให้องค์กรต่างๆ ในโลกออกมาประณามการก่อเหตุของบีอาร์เอ็นในครั้งนี้
 
แต่ถ้าเป็นการปล่อยข่าวเพื่อหวังทำลายบีอาร์เอ็น นั่นแสดงว่ากลุ่มที่ปล่อยข่าวก็คือ กลุ่มที่ตกขบวนรถไฟพูดคุยสันติสุขนั่นเอง ซึ่งเป็นจะกลุ่มไหนได้บ้าง สังคมก็คงจะมองเห็นกันไม่ยาก ในเมื่อกลุ่มของตนเองไม่ได้รับผลประโยชน์ ก็ใช้วิธีสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง
 
โดยผู้ที่ควรจะได้ผลประโยชน์ตรงนี้ควรจะเป็นประเทศไทย เนื่องจากเป็นห้วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากมีการนำเรื่องที่เกิดขึ้นหารือร่วมกับเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องคน 2 สัญชาติ เรื่องรั้วชายแดนไทย-มาเลเซีย เรื่องการก่อการร้ายทั้งจากไอเอสในประเทศมาเลเซีย และบีอาร์เอ็นในภาคใต้ของไทย เรื่องขบวนการค้ามนุษย์ เรื่องยาเสพติด หรือแม้กระทั่งเรื่องการค้าอาวุธข้ามชาติ ประเทศไทยก็จะมีแต่ได้กับได้
 
ในวันที่มาเลเซียมีความกังวลเรื่อง “ไอเอส” และไทยเรามีปัญหาเรื่องการก่อการร้าย การเจรจาจึงน่าจะมีจุดเปลี่ยนมากกว่าการเจรจาที่ผ่านๆ มา ซึ่งมาเลเซียมักจะเล่นบทเลือกถือไพ่ที่มีแต้มต่อมากกว่าไทยตลอดเวลา
 
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก่อนที่จะ “ฟันธง” ว่าข่าวที่ปรากฏมาจากบีอาร์เอ็นจริง หรือเป็นบีอาร์เอ็นปลอม จึงควรที่ต้องประเมินอย่างน้อย 3 ขั้นตอนคือ 1.ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นว่า จะมีการส่งแกนนำออกมารับหรือปฏิเสธอย่างไร 2.รัฐบาลมาเลเซียจะว่าอย่างไรกับข่าวที่เกิดขึ้น และ 3.หลังจากนี้สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดำเนินต่อไปอย่างไร
 
วันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะให้คำตอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึง “พัฒนาการ” ของการก่อการร้ายในภาคใต้ว่า ได้ก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นหนึ่งแล้ว ซึ่งกองทัพ รัฐบาล และประชาชนต้องก้าวตามให้ทัน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น