xs
xsm
sm
md
lg

“โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาในสายตา “มาราปาตานี” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อาวัง ยาบะ หัวหน้ากลุ่มมาราปาตานี (แฟ้มภาพ)
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
การเคลื่อนไหวของ “มาราปาตานี ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกาะกุมโอกาสในวันสำคัญทางศาสนา “ฮารีรายออีดิ้ลฟิตรีโดยการส่งสารจาก “อาวัง ยาบะ” หัวหน้ากลุ่มมาราปาตานี ถึงชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
โดยได้แสดงความห่วงใยในเรื่อง 3 ประเด็นหลักคือ 1.เรื่องของ “โรงเรียนปอเนาะญีฮาด” ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี 2.เรื่อง “ชู้สาว” ระหว่างทหารพรานกับหญิงสาวชาวมุสลิมในพื้นที่ อ.ธารโต จ.ยะลา และเรื่องที่ 3.เรื่องความเห็นต่างระหว่างรัฐกับประชาชนจำนวนหนึ่งใน “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” จ.สงขลา
 
เรื่องแรกเป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงรับรู้กันมากว่า 3 เดือนแล้วว่า “บีอาร์เอ็น” มีความพยายามที่จะนำเอาปัญหาของ “ปอเนาะญีฮาด” เข้าสู่กระบวนการ “โออีซีและหาพันธมิตรที่เป็นประเทศมุสลิม เพื่อชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยรังแกคนมุสลิม โดยพยายามที่จะนำเรื่องที่เกิดขึ้นให้เข้าประเด็นของการเป็น “ญีฮัด” ให้ได้
 
ส่วนเรื่องที่ 2 นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ก็เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในพื้นที่ ซึ่งสาเหตุมาจากเรื่อง “ชู้สาว ระหว่างทหารพรานหนุ่มกับหญิงสาวมุสลิม โดยประเด็นสำคัญคือ ได้ใช้สถานที่ที่ไม่เหมาะสมในการนัดหมายมา “พลอดรัก กัน จนกลายเป็นการสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นแก่คนในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ทำการรับผิดชอบไปแล้ว รวมทั้งทำการทำความเข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้นต่อคนในพื้นที่
 
การหยิบเอาประเด็นที่ “อ่อนไหวในความรู้สึกของคนในพื้นที่มา “ส่งสารของมาราปาตานี จึงเป็นเรื่อง “ปกติ ของการเคลื่อนไหวใน “ทางการเมืองที่จะต้องหยิบยกเอา “จุดอ่อน ของฝ่ายตรงข้ามมาโจมตี หรือตอกย้ำ เพื่อความได้เปรียบในเรื่องของ “มวลชน ซึ่งเป็นความถนัดของบีอาร์เอ็น ซึ่งในครั้งนี้ผู้ที่ออกมาขับเคลื่อนคือ กลุ่มมาราปาตานี ซึ่งเป็น “แขนงทางการเมือง” ของบีอาร์เอ็น
 
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ การหยิบเอาประเด็นของ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” จ.สงขลา มาพูดถึงเสมือนการ “ส่งสัญญาณ” ให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ต่อสู้” กับหน่วยงานของรัฐในด้านการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีคนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย และทำการคัดค้าน
 
แฟ้มภาพ
 
ในอดีตที่ผ่านมา ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ว่าเป็นพูโล บีไอพีพี หรือกลุ่มอื่นๆ จะให้ความสนใจในเรื่องความ“ไม่เป็นธรรม” ที่มาจากกรณีจับกุม คุมขัง ซ้อม ทรมาน อุ้มหาย หรือที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ และในเรื่องของศาสนาเป็นด้านหลัก แต่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับ “แผนการพัฒนาประเทศ” เช่น การสร้างเขื่อน ปัญหาประมงพื้นบ้าน และอื่นๆ เป็นต้น
 
การออกมาส่งสารว่าด้วยความห่วงใยในเรื่อง “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ของ “อาวัง ยาบะ” ในครั้งนี้ยังมีนัยที่สอดคล้องต่อความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มเปอมูดอ” หรือ “ปีกเยาวชน” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำเอาประเด็นของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นประเด็นในการขับเคลื่อนผ่านองค์กรต่างๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว
 
เมื่อประมวลความเคลื่อนไหวของทั้ง 2 ด้าน จึง “ชัดเจน ว่า บีอาร์เอ็นปรับแผนในการขับเคลื่อน “งานมวลชน” โดยหยิบเอาปัญหาความเห็นต่าง ความขัดแย้งของคนในพื้นที่ต่อโครงการพัฒนาของรัฐบาลมาเป็นประเด็นสำคัญในการยืนเคียงข้างประชาชนผู้เห็นต่างจากหน่วยงานของรัฐ
 
หากบีอาร์เอ็นที่กำลัง “เพลี้ยงพล้ำ ด้านงานมวลชนจากการใช้ความรุนแรง และการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ เพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐด้วยการปรับขบวนการใหม่ ด้วยการสนับสนุนกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลในโครงการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่ใช่มีแต่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่
 
หากเป็นเช่นนี้จริง แน่นอนว่าการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นงานหนักของรัฐบาล เพราะทุกโครงการย่อมไม่มีผู้เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะต้องมีผู้เห็นต่างอยู่บ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง ตามธรรมชาติ และตามเงื่อนไขของพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการ 
 
เช่นเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ทั้งรัฐบาล และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) จะต้องไม่นิ่งเฉยต่อ “การขยับตัว” ของกลุ่มมาราปาตานีในครั้งนี้ เพราะมาราปาตานีเปิดหน้าอย่างชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ โดยที่ไม่ต้องอรรถาธิบายให้ซ้ำซาก
 
แฟ้มภาพ
 
แม้ว่าโดยสภาพที่เป็นข้อเท็จจริงว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น สุดท้ายแล้วต้องเกิดขึ้นตามความต้องการของรัฐบาล เพราะมองในด้านความมั่นคงของพลังงานโดยรวมของประเทศ โดยมีความพยายามชี้ให้เห็นถึงเสียงสนับสนุนจากคนในพื้นที่ ซึ่งมีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
 
และการรับเอาข้อสังเกต ข้อเสนอแนะของกลุ่มที่เห็นต่าง เพื่อแก้ไขในสิ่งที่คนในพื้นที่เกรงว่าจะเกิด “มลภาวะ”ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพ และต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าสิ่งที่ผู้เห็นต่างไม่ว่าเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และประชาชน ต่างห่วงใยสามารถที่จะควบคุมได้ หากคนในพื้นที่มีความเข้มแข็งในการตรวจสอบโครงการอย่างจริงๆ จังๆ
 
โดยข้อเท็จจริง ความเห็นต่าง หรือการมองต่างมุมต่อโครงการใหญ่ๆ ที่เป็นการพัฒนาประเทศ ถ้าเกิดขึ้นโดยสุจริต มีความพอดีที่ ไม่สุดโต่ง ใช้เหตุผลมาทำการหักล้าง การเห็นต่างเป็นสิ่งที่มีคุณูประการต่อการพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชน 
 
เช่นข้อเสนอแนะ หรือข้อคิดเห็นที่ผู้เห็นต่างนำเสนอ และเจ้าของโครงการนำไปปฏิบัติ มีกระบวนการตรวจสอบ และติดตามชัดเจน นั่นคือ ชัยชนะของผู้ที่เห็นต่างที่สามารถทำให้โครงการที่ก่อสร้างเป็นไปตามที่ผู้เห็นต่างต้องการ เป็นชัยชนะของผู้เห็นต่าง ไม่ใช่จบลงที่การล้มเลิกโครงการเพียงอย่างเดียว
 
แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยงานความมั่นคงต้องติดตามความเคลื่อนไหว และล้วงลึกถึงการออกมา “ส่งสาร เรื่อง“โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ของ “อาวัง ยาบะ” หัวหน้ากลุ่มมาราปาตานีว่า มีอะไรที่ “แอบแฝง มากกว่าเรื่องการหาคะแนนจากมวลชนในพื้นที่หรือไม่
 
เพราะการเข้ามาเป็น “หัวหน้ากลุ่มมาราปาตานี” ของ “อาวัง ยาบะ” นั้น มาเพราะความเห็นชอบของ “รัฐบาลมาเลเซีย” ซึ่งในวงการความมั่นคงต่างรู้ว่าเขาเป็นเพียง “หุ่นเชิด” ที่ต้องทำตามคำสั่ง
 
ดังนั้น การออกมา “ส่งสาร” ถึงชาวมุสลิมในเรื่องของ “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” อาจจะเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ที่ไม่ “ธรรมดา” และกลายเป็นอีกหนึ่ง “เงื่อนไขใหม่” ของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้
 
และที่แน่นอนที่สุด นี่คือ “งานหนัก” ที่เพิ่มขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่งของ “แม่ทัพภาคที่ 4” และ “หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข” ที่จะต้องจับเข่าเพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มมาราปาตานี ภายใต้เสื้อคลุมของบีอาร์เอ็น และมาเลเซีย
 
แฟ้มภาพ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น