xs
xsm
sm
md
lg

“ข่าวเต้า-ข่าวจริง” ในสถานการณ์การข่าวไฟใต้ / เมือง ไม้ขม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...เมือง  ไม้ขม
 
การก่อวินาศกรรมด้วยคาร์บอมบ์กลางเมืองใต้สุดสุดยาม หรือ “เมืองงามเบตง” จ.ยะลา นอกจากจะสร้างความบอบซ้ำให้แก่เมืองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่เป็นเมืองชายแดนแล้ว ยังเป็นการสร้างความบอบซ้ำให้แก่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” อย่างยิ่งยวด
 
เหตุผลคือ เมืองเบตงเป็น “เมืองหน้าด่าน” ที่อยู่ในแผนป้องกันการก่อการร้าย เช่นเดียวกับเมืองหาดใหญ่ สุไหงโก-ลก ยะลา ปัตตานี และเมืองอื่นๆ และโดยศักภาพของกำลังทหาร ตชด. ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมทั้งความร่วมมือจากภาคประชาชนที่เคยเข้มแข็งน่าจะป้องกันการก่อการร้ายได้
 
โดยทางกายภาพของเบตงที่เป็น “เมืองปิด” การดูแล และรักษาความปลอดภัยจึงน่าจะง่ายกว่าเมืองอื่นๆ อย่างเทศบาลนครยะลา ที่มีทางเข้า-ออกจากพื้นที่รอบนอกถึง 30 กว่าจุด เป็นต้น และเมืองเบตงเองก็ถูกยกย่องว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพียงแห่งเดียวของพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะ 7 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดเหตุร้ายใหญ่ๆ ขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว
 
ดังนั้น คาร์บอมบ์ที่เบตงจึงเหมือนกับการ “ตีหน้าแง” ของหน่วยงานความมั่นคงอย่างจัง จนล้มทั้งยืน โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุจนถึงวันนี้ “งานการข่าว” และ “งานการสืบสวนสอบสวน” ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่า ผู้ลงมือเป็นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มไหน และมีเครือข่ายในเบตงยึดโยงกันอย่างไร
 
แต่กลับมีความพยายามแก้ตัวต่อนักการข่าวว่า แนวร่วมที่ถล่มเบตงด้วยคาร์บอมบ์เป็น “กลุ่มใหม่” ที่เพิ่งจะถูกฝึกฝนให้เป็นแนวร่วมระดับปฏิบัติการ ซึ่งก็ไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นถึงความน่าจะเป็น และน่าเชื่อถือได้
 
นั่นแสดงให้เห็นว่า หน่วยงานหลายหน่วยที่เรียกกันว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า “ขาดช่วง” งานการข่าวในพื้นที่มาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งอาจจะเห็นว่าเบตงมีความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เบตง ไม่อยู่ในเป้าหมายของการก่อการร้าย ดังนั้น แม้แต่การแจ้งเตือนจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ที่แจ้งเดือนเกี่ยวกับรถยนต์ที่ใช้ประกอบคาร์บอมบ์ จำนวน 8 คัน ก็ไม่ได้สนใจที่จะตรวจสอบ
 
และหลังจากที่เกิดคาร์บอมบ์ขึ้นที่เบตง รวมทั้งยังมีเหตุการณ์ก่อการร้ายหลายๆ เหตุการณ์ติดตามมาในพื้นที่ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส งานด้านการข่าวจึงมีการรายงาน “ข่าวลับ” แต่กลับถูกเผยแพร่ทางสื่อทุกแขนงเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง
 
โดยล่าสุด มีการรายงานข่าวว่า จะมีการเตรียมก่อการร้ายครั้งใหญ่ใน 3 จังหวัด ยกเว้น จ.สงขลา โดยไม่ระบุสาเหตุว่าทำไมจึงยกเว้นในเดือนสิงหาคม 2557 ซึ่งมีการอ้างว่าเป็นห้วงเวลาที่เป็นเดือนที่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น วันสถาปนาขบวนการเบอร์ซาตู เป็นต้น
 
แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ มีการนำเอา “ตัวละคร” ตัวเก่าๆ หน้าเดิมๆ อย่าง นายสะแปอิง บาซอ นายมะแซ อุเซ็ง ซึ่งเป็นแกนนำระดับสูงของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ รวมทั้ง “พลพรรค” อีกหลายคนได้ประชุมกันที่มัสยิดแห่งหนึ่งในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อวางแผนสั่งการก่อการร้ายในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มาเปิดเผย
 
หรือแม้แต่ชื่อของ นายมาโซ ตาเยะ อดีตดาวดังในด้านการเรียกค่าคุ้มครอง และมือก่อการร้ายใน อ.เบตง ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่ายังอยู่หรือตายไปแล้ว ซึ่งก็ได้กลายเป็นตัวละครเก่าอีกตัวหนึ่งที่มีการนำมากล่าวถึงในเวลานี้ เพียงเพราะได้ยึดโยงกับสถานการณ์การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นใน อ.เบตง
 
หากสถานการณ์ยังมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ “ข่าวลับ” ที่มีการนำมาเผยแพร่ในสื่อต่างๆ อาจจะมีชื่อของ นาซอรี เซะเซ็ง ดาวร้ายแห่ง จ.นราธิวาส และใครต่อใครอีกมากมายโผล่ขึ้นมาเป็นตัวละครสำคัญอีกก็ได้ โดยระบุว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการก่อการร้าย เพื่อให้ได้รับรู้ และสร้างความตื่นตระหนกให้แก่คนในพื้นที่
 
เพราะแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ โดยที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นฝีมือของใคร หรือเป็นกเรฬวรากพวกไหน ก็ยังรดน้ำศพแทบไม่ทันอยู่แล้ว ถ้าจะมีบรรดาดาวดังที่ปรากฏชื่อออกโรงมาอีก อะไรจะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่
 
ดังนั้น ท่ามกลางปรากฏการณ์ของ “ข่าวลับ” แต่ “ไม่ลับ” จึงมีนัย 2 ทางด้วยกัน ทางที่หนึ่งเป็นข่าวที่ถูก “จินตนาการ” เพื่อหาทางออก และทางลงให้แก่สถานการณ์คาร์บอมบ์ที่เบตง และเหตุร้ายที่เกิดขึ้นที่อื่นๆ รวมทั้งเหตุร้ายที่อาจจะติดตามมา เพราะอย่างน้อยที่สุดตัวละครเหล่านี้คือ “จำเลย” ที่เกิดจากข่าวสารไม่ว่าเป็นเรื่อง “เท็จ” หรือ “จริง” ก็ตาม
 
และทางที่สอง เป็นงานการข่าวที่ผ่านการ “กรอง” มาแล้ว ซึ่งหากเป็นจริง สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงต้องทำคือ การรับมือต่อการก่อการร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงหน่วยข่าวในพื้นที่ก็จะได้ชื่อว่า ได้ทำหน้าที่แล้ว เพราะมีการแจ้งเตือนไปแล้ว ถ้าป้องกันไม่ได้ย่อมเป็นหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติการ ที่ผิดพลาด หรือบกพร่อง
 
แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ให้น้ำหนักในความเคลื่อนไหวของตัวละครเหล่านี้ เนื่องจากทั้ง นายสะแปอิง บาซอ และ นายมะแซ อุเซ็ง คือตัวละครที่ทางการไทยเชื่อว่า เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
 
และอาจจะมีน้ำหนักมากขึ้น ถ้าจะบอกว่าในการ “พูดคุยสันติภาพ” กับกลุ่มผู้ที่เห็นต่างที่ประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ นั้น
 
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อแนวทางของรัฐบาลมาเลเซียในการพูดคุยสันติภาพ และไม่ได้ปรากฏตัวในเวทีของการพูดคุย ซึ่ง “ข่าววงใน” แจ้งว่า ในห้วงเวลานั้นทั้ง นายสะแปอิง บาซอ และ นายมะแซ อุเซ็ง ถูกนำตัวออกไปยังประเทศที่สาม เพื่อให้เวทีการพูดคุยเป็นไปได้ตามที่ประเทศมาเลเซียในฐานะผู้ประสานงานต้องการ
 
สิ่งนี้จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช.ประกาศชัดเจนว่า จะมีการดำเนินการพูดคุยกับผู้ที่เห็นต่างต่อไป โดยเปลี่ยนจากการ “พูดคุยสันติภาพ” ไปเป็นการ” “พูดคุยสันติสุข” กับทุกกลุ่มทุกขบวนการผู้เห็นต่าง แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่มีอยู่อาจจะชะลอกลยุทธ์ทั้งทางการทหาร และทางการเมือง เพื่อต่อรองกับ คสช. ซึ่งในเรื่องของความช่ำชองของการพูดคุยเป็นสิ่งที่บีอาร์เอ็นฯ ใช้เป็นข้อได้เปรียบรัฐไทยมาโดยตลอด
 
ดังนี้แล้ว ถ้าข่าวที่ถูกเผยแพร่ออกมาเป็นการ “เต้าข่าว” เพื่อหาทางออกให้แก่หน่วยงานบางหน่วยงาน สิ่งนี้ก็อาจจะเป็นเพียงเกิดความเสียหายที่สร้างความตื่นตระหนกให้แก่คนในพื้นที่เท่านั้น แต่ถ้าข่าวที่ออกมาเป็นจริง ถือเป็นหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่จะต้องเตรียมแผนรับมือเพื่อปกป้องชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะทุกชีวิตที่บาดเจ็บ หรือล้มตาย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน หรือคนในเครื่องแบบ ย่อมมีค่าเท่าเทียมกัน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น