xs
xsm
sm
md
lg

ไฟใต้กับไฟในใจของบรรดา “บิ๊ก คสช.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 
คาร์บอมบ์ที่หน้าโรงแรมฮอลิเดย์ ฮิลล์ กลางใจเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา เกิดขึ้นก่อนจะถึงวันฮารีรายอ เพียง 2 วัน จะโดยฝีมือของขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเน็ต ภายใต้การนำของนายยาซะ ยานยา หรือกลุ่มไหนก็แล้วแต่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เพียงทำลายเมืองเศรษฐกิจการค้า และการท่องเที่ยวใต้สุดสยามปลายด้ามขวานไทยให้ย่อยยับเท่านั้น แต่ยังได้ทำลายความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ ที่มีต่อ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ให้เสื่อมคลายไปด้วยเช่นกัน
 
เพราะก่อนหน้าจะมีคาร์บอมบ์เมืองเบตง ได้มีคาร์บอมบ์เกิดขึ้นที่หน้าบ่อนไก่ชน ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และคาร์บอมบ์ที่หน้าโรงพักปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เกิดขึ้นมาแล้ว อีกทั้งก่อนหน้านั้น ก็จะมีคาร์บอมบ์เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีเหตุฆ่ารายวันต่อประชาชน รวมถึงการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐด้วยระเบิดแสวงเครื่อง และอาวุธปืนตลอดทั้งเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา
 
ที่สำคัญคือ สื่อทุกแขนงต่างรายงานข่าวที่มาจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช.และหัวหน้าคณะทำงานแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการให้ข่าวของ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นตัวแทนของ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
 
โดยสาระของการให้สัมภาษณ์ของระดับบิ๊กต่างๆ นั่นคือ กองทัพ ซึ่งก็คือ คสช.และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต่างรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นฯ ว่าจะมีการก่อการร้ายในห้วงเดือนรอมฎอนมาตลอด โดยเฉพาะในช่วง 10 วันสุดท้ายก่อนที่จะละศีลอด หรือก่อนจะถึงวันออกบวชนั้น บีอาร์เอ็นฯ มีความพยายามจะก่อเหตุร้ายครั้งใหญ่ เพราะแนวร่วมขบวนการถูกบ่มเพาะจากอุสตาซมาว่า ปฏิบัติการฆ่าคนใน 10 วันสุดท้ายของเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์จะได้รับบุญเพิ่มถึง 10 เท่า
 
ในการให้ข่าวของบิ๊กๆ ทหารมีการชี้เป้า 7 หัวเมืองใหญ่ที่ฝ่ายตรงข้ามจ้องจะโจมตีไว้ด้วย ซึ่งล้วนเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของแผ่นดินชายแดนใต้ แถมยังได้สั่งการให้ป้องกันเมืองใน จ.สงขลา เป็นกรณีพิเศษด้วย ไม่ว่าจะเป็นเมืองสะเดา เมืองหาดใหญ่ และเมืองสงขลา รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ อีก 20 ชุมชน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการระบุหมายเลขรถยนต์ที่คาดว่าจะนำไปประกอบเป็นคาร์บอมบ์เพื่อให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวัง และป้องกันไว้ด้วย
 
ทุกครั้งที่มีการให้สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวต่อสื่อของบรรดาบิ๊กๆ ก็จะตบท้ายว่า เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายมีความพร้อมอย่างยิ่งในการดูแลความสงบ และความปลอดภัยของประชาชน
 
แต่แล้วคาร์บอมบ์ก็เกิดขึ้นกับกลางใจเขตเทศบาลเมืองเบตงจนได้ ทั้งที่เบตงคือ 1 ใน 7 หัวเมืองหลักชายแดนใต้ที่ต้องดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นกรณีพิเศษ เช่นเดียวกับเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เทศบาลนครยะลา จ.ยะลา เทศบาลเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี และเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นต้น
 
คำถามสำคัญก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับ อ.เบตง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่เรียกกันว่าเป็น “เมืองปิด” เพราะมีทางเข้า-ออกเพียงทางเดียวคือ ผ่าน อ.ธารโต จ.ยะลา หรือไม่ก็ต้องไปใช้เส้นทางขอผ่านเข้า-ออกจากประเทศมาเลเซีย อีกทั้งใน อ.เบตง ก็เป็นที่ตั้งของ ฉก.33 ซึ่งเป็นกองกำลังของทหาร มีกองร้อย ตชด.ตั้งอยู่ในตัวเมือง มีสถานีตำรวจภูธร และมีฝ่ายปกครอง หรือกองร้อยอาสาสมัครประจำ อ.เบตง รวมทั้ง ชรบ.ครบครัน ทั้งหมดทั้งปวงมีไว้สำหรับดูแลรักษาเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนเชิงเขา อันเป็นเมืองที่มีถนนสายหลักเพียงไม่กี่สายในเขตเทศบาลเมืองเบตงแห่งนี้
 
หลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันว่า การที่เมืองเบตงปลอดภัยจากการก่อการร้ายช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งนี้ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชนเชื่อมั่นว่าเมืองเบตงยังจะปลอดภัยไปอีกนาน การเฝ้าระวังทั้งจากภาครัฐ และประชาชนจึงหย่อนยาน ไม่ได้มีการตรวจตรา หรือระมัดระวังกันอย่างเข้มข้นจริงจัง
 
โดยเฉพาะภาคประชาชนที่เคยเป็นกำลังที่เข้มแข็งอย่างมากในอดีต จากที่ พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ได้วางโครงข่ายวิทยุเครื่องแดงเอาไว้ให้ แต่ภายหลังมีอันต้องลุกจากเก้าอี้นี้ไป โครงการวิทยุเครื่องแดงที่เป็นการรวมตัวของภาคประชาชนในการป้องกันเมืองเบตงก็ไม่ได้รับการสานต่อเท่าที่ควร จนทุกวันนี้ภาคประชาชนในตัวเมืองเบตงขาดความเข้มแข็ง ส่งผลให้ความร่วมมือต่อภาครัฐที่มีอยู่เป็นไปแบบหลวมๆ
 
และความที่สัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับประชาชนที่เป็นไปแบบหลวมๆ นี่เอง สิ่งนี้ได้อยู่ในสายตาของแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นฯ มาโดยตลอด เพราะโดยข้อเท็จจริงในทุกพื้นที่ ทุกชมชน โดยเฉพาะชุมชนเมืองมีแนวร่วมแฝงตัวอยู่แทบจะทุกหย่อมหญ้า เพื่อทำหน้าที่ “สายข่าว” รายงานความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ให้แกนนำฝ่ายปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นฯ รวมทั้งทำแผนเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติการก่อการร้ายได้ตลอดเวลาหากเจ้าหน้าที่เผลอ ประมาท หรืออ่อนล้า
 
อีกทั้งแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ในเขตเมืองต่างๆ ยังมีเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับแนวร่วมที่กระจ่ายอยู่นอกพื้นที่ด้วย จึงมีความพร้อมในการ “สนธิกำลัง” เพื่อปฏิบัติการในทันทีที่พวกเขามีโอกาส
 
อย่าลืมว่ากำลังของเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทหารจาก ฉก.33 กองร้อย ตชด. ตำรวจ และฝ่ายปกครองนั้น ต่างเน้นภารกิจในการควบคุมพื้นที่ หรือเน้นในเรื่องการแสดงบทบาทในงานด้าน “การทหาร” มากกว่าด้าน “การเมือง” ซึ่งกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถควบคุมพื้นที่ได้ แต่ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกนึกคิด ความต้องการ รวมทั้งการเปลี่ยนความคิดของคนกลุ่มที่เห็นต่างได้
 
ที่สำคัญปฏิบัติการที่ผ่านมาของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐถือว่า “ล้มเหลว” โดยสิ้นเชิง ในการที่จะหยุดการบ่มเพาะเพื่อสร้าง “เซลล์ใหม่” ในพื้นที่ของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ
 
จึงไม่แปลกทุกครั้งที่เกิดคาร์บอมบ์ หรือเกิดการก่อการร้ายขึ้น หน่วยงานของรัฐจะรีบออกมาฟันธงทันทีว่า เป็นการกระทำของกลุ่ม “แนวร่วมรุ่นใหม่” เพื่อที่จะได้ปัดสวะให้พ้นตัว
 
เพราะอย่างน้อยคำว่า “รุ่นใหม่” นั่นหมายว่า เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังไม่รู้ประวัติ เนื่องจากยังไม่เคยลงมือปฏิบัติการ แต่ถ้าเป็นแนวร่วมรุ่นเก่าจะมีคำถามต่อว่า ทำไม่เจ้าหน้าที่จึงไม่รู้เห็น หรือฝ่ายการข่าวจึงไม่ได้เบาะแสมาก่อน ทั้งที่กลุ่มแนวร่วมรุ่นเก่ามีประวัติที่มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน และเจ้าหน้าที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้
 
แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ลืมคิดไปก็คือ ยิ่งมีการโบ้ยความผิดไปให้แก่แนวร่วมรุ่นใหม่มากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการฟ้องให้เห็นถึง “ความล้มเหลว” ของหน่วยงานในพื้นที่มากยิ่งขึ้นเท่านั้น
 
เนื่องจากสิ่งนี้ได้แสดงให้สังคมเห็นกระจ่างชัดว่า เจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงานที่เรียกรวมๆ กันได้ในนาม “กอ.รมน.” ไม่เคยสามารถหยุดการบ่มเพาะเพื่อนำคนเข้าสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างได้ผล แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นฯ จึงยังสามารถสร้างเซลล์ใหม่ๆ หรือแนวร่วมรุนใหม่ให้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แล้วใช้ให้ไปก่อการร้ายในพื้นที่ต่างๆ
 
ในขณะที่ “แนวร่วมรุ่นเก่า” ก็ยังคงเป็นแนวร่วมอยู่เช่นเดิม แต่อาจจะเปลี่ยนหน้าที่ไปเป็น “พี่เลี้ยง” ให้แก่แนวร่วมรุ่นใหม่แทน ซึ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดับไฟใต้ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่า แล้ววันนี้จำนวนแนวร่วมที่มีมากขึ้นนั้น มีจำนวนเท่าไหร่กันแน่
 
นอกจากนี้ มีคำถามหนาหูอีกว่า คาร์บอมบ์กลางใจเมืองเบตงมี “นัย” อะไรหรือไม่ คำตอบไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ต้องการส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานความมั่นคง และประชาชนในพื้นที่ว่า สำหรับในพื้นที่ปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นฯ ที่ประกอบด้วย 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ล้วนไม่มีที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนหรอก
 
เพราะแนวร่วมของบีอาร์เอ็นฯ มีอยู่ทุกพื้นที่ และมีความพร้อมในการก่อการร้ายตลอดเวลา โดยรอเพียงโอกาส และจังหวะที่หน่วยงานของรัฐประมาท หรือเปิดช่องว่าง หรือกำลังพลอ่อนล้า เมื่อนั้นแนวร่วมของบีอาร์เอ็นฯ ก็พร้อมที่จะปฏิบัติการทันที
 
วันนี้สำหรับเมืองเบตง มีจุดอ่อนที่ไม่มีเหตุร้ายมานาน เจ้าหน้าที่ และประชาชนจึงเกิดความชะล่าใจ การก่อวินาศกรรมโดยกลุ่มโจรใต้จึงเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย และในวันข้างหน้าหัวเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองยะลา ปัตตานี สุไหงโก-ลก หาดใหญ่ สะเดา และสงขลา เมืองเหล่านี้ก็อาจที่จะเกิดคาร์บอมบ์ขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้เช่นกัน ถ้าเจ้าหน้าที่ประมาท อ่อนล้า หรือแผนการรักษาความสงบมีช่องว่างเกิดขึ้น
 
สิ่งที่น่าจะเป็นกังวลสำหรับ คสช.คือ ในวันที่ยังมีรัฐบาลพลเรือนเป็นผู้บริหารประเทศ โดยที่ คสช.หรือ กองทัพยังไม่มีอำนาจล้นฟ้าอย่างเวลานี้ ความล้มเหลวในการดับไฟใต้อาจจะไม่ส่งผลกระทบถึง คสช. และกองทัพโดยตรง เนื่องจากยังสามารถที่จะหา “จำเลยร่วม” อย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และฝ่ายปกครองต่างๆ โดยอ้างถึงความไม่มีเอกภาพ
 
ทว่าวันนี้เป็นวันที่ คสช.และกองทัพมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การไม่สามารถที่จะทำให้ไฟใต้ลดความร้อนแรงลงได้ ตรงนี้ต่างหากที่ คสช.และกองทัพจะมองหน้า หรือสบตาประชาชนได้อย่างไร โดยเฉพาะจะตอบคำถามถึงปฏิบัติการที่ล้มเหลวมาอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร
 
สถานการณ์ความสงบที่ยังไม่ดีขึ้นของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้ ประชาชนบนแผ่นดินปลายด้ามขวานไม่ว่าจะชนชั้นใดก็ตาม ทุกคนหนีไม่พ้นความทุกข์อกทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง
 
อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้กลุ่มคนที่น่าจะอมทุกข์ไม่น้อยไปกว่าประชาชนบนแผ่นดินปลายด้ามขวานคงต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช. พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รอง ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีกคนที่น่าจะทั้งทุกข์ใจ และต้องทำงานหนักกว่าใครด้วยคือ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นั่นเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น