คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...เมือง ไม้ขม
คาร์บอมบ์ล่าสุดในย่านเศรษฐกิจกลางเมืองเบตง จ.ยะลา และคาร์บอมบ์ก่อนหน้าบริเวณบ่อนไก่ชนที่ ต.นาประดู อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ย่านชุมชนชาวไทยพุทธ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 8 ราย รวมทั้งคาร์บอมบ์ที่หน้า สภ.ปะราเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ทั้งหมดคือคำตอบที่ชัดเจนว่า
แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังได้รับ “สัญญาณ” จากแกนนำของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ให้ก่อเหตุด้วยความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นในห้วงของเดือนรอมฎอน หรือในห้วงเวลาไหนก็ได้ ขอเพียงให้พื้นที่เปิด หรือเจ้าหน้าที่เปิดช่องว่างด้วยความอ่อนล้าหรือประมาทเมื่อไหร่ ความสูญเสียจะเกิดขึ้นทันที
แม้ว่าคาร์บอมบ์ที่หน้าโรงพักปะนาเระจะไม่ระเบิด ก็ไม่ได้หมายความว่า เกิดจากความสามารถของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเหตุที่ระเบิดไม่ทำงานเกิดจากวงจรไม่สมบูรณ์ เพราะหลังจากที่แนวร่วมนำคาร์บอมบ์มาจอดทิ้งที่หน้าโรงพัก มีการกดโทรศัพท์มือถือที่ต่อกับวงจรระบิดถึง 6 ครั้ง และแน่นอนว่า ถ้าระเบิดลูกนี้ทำงาน ความเสียหายที่เกิดขึ้นคงจะดูไม่จืด
เนื่องเพราะในคาร์บอมบ์คันนั้น นอกจากดินระเบิดกว่า 120 กิโลกรัมแล้ว ยังมีน้ำมันเบนซินบรรจุในรถยนต์ที่ใช้ประกอบเป็นคาร์บอมบ์จำนวนหลายสิบขวดด้วยกัน ถ้าระเบิดขึ้นนั่นหมายถึง “ทะเลเพลิง” ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
หากจะย้อนดูการเกิดเหตุที่ผ่านมาจะพบว่า เป้าหมายของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ พระ ครู รถไฟ ไทยพุทธ และเจ้าหน้าที่รัฐ อันหมายถึงตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร และอื่นๆ ตามแต่โอกาสอำนวยให้
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเชื่อได้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 4 จังหวัดที่กล่าวมาข้างต้น ยังจะคงรุนแรงต่อไปไม่ว่าจะในอีกไม่กี่วันวันก่อนที่จะถึงวันละศีลอด หรือหลังวันละศีลอดไปแล้วก็ตาม เพราะ “ธง” ของบีอาร์เอ็นฯ คือ การใช้ความรุนแรงต่อเป้าหมายจนกว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์
แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ในห้วงเวลาของเดือนรอมฎอนปีนี้ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นน้อยกว่าที่เกิดในปี 2556 นั่นยอมหมายความว่า “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่มี พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ปรับแผนปรับยุทธการในการแย่งชิงพื้นที่ จึงทำการควบคุมพื้นที่ในเขตเมือง และการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดได้ทำให้แนวร่วมไม่สามารถนำคาร์บอมบ์ และระเบิดต่างๆ เข้าไปก่อวินาศกรรมในเขตเศรษฐกิจ จึงได้ทำการก่อวินาศกรรมในพื้นที่รอบนอกแทนเสียเป็นส่วนมาก
หากสังเกตให้ดีจะพบว่า การก่อการร้ายในขณะนี้เป็นแนวร่วม “กลุ่มใหม่” ที่เข้ามาแทนที่แนวร่วม “กลุ่มเก่า” ที่เจ้าหน้าที่มีบัญชีรายชื่อ และติดตามความเคลื่อนไหว แนวร่วมกลุ่มเก่าจึงต้องกบดาน และเปลี่ยนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการก่อการร้าย
รวมทั้งวิธีการของแนวร่วมกลุ่มใหม่ไม่ได้สนใจว่า การก่อการร้ายแต่ละครั้งจะสร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพียงแต่ต้องการให้เกิดเหตุร้ายขึ้น เพื่อให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นฯ ยังมีความเคลื่อนไหว และมีความสามารถในการก่อการร้าย และจัดการกับเป้าหมายอ่อนแอ รวมทั้งกลุ่มคนที่เป็นสายข่าวเป็นกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน และใช้ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือในการ “ควบคุม” มวลชน
และหากสัมผัสให้ลึกๆ โดยการอยู่ในพื้นที่ หรือถามถึงความรู้สึก และสัมผัสพิเศษของคนในพื้นที่ ก็จะพบว่า ณ วันนี้แนวร่วมกลุ่มใหม่ที่เป็น “เซลล์” ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จะถูกบ่มเพาะอย่างเป็นพิเศษให้เกลียดชังบุคคลที่ไม่ใช่ “ชาติพันธุ์” และ “ศาสนา” เดียวกัน โดยให้มีลักษณะในการมองว่า คนที่มีศาสนา และชาติพันธุ์ที่ไม่เหมือนกับตนเองคือ “ศัตรู” ที่จะต้อง “ถูกกำจัด” รวมทั้งมีการปลูกฝังให้รู้สึกว่าแม้แต่ “ภาษา” ที่เป็นของชาติพันธุ์ของตนเองก็ไม่ต้องการให้นำไปใช้
นอกจากนั้น จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของแนวร่วมในการประกอบคาร์บอมบ์ ซึ่งในอดีตเมื่อมีการปล้น หรือจี้ชิงรถยนต์ หรือนำรถยนต์ของผู้ตกเป็นเหยื่อสถานการณ์ไป แล้วจะต้องนำไปซุกซ่อนเพื่อใช้ประกอบเป็นคาร์บอมบ์เป็นเวลานานเป็นนับสัปดาห์ หรือเป็นเดือนๆ ก่อนที่จะนำมาก่อวินาศกรรม
แต่คาร์บอมบ์ล่าสุดทั้งที่ย่านเศรษฐกิจกลางเมืองเบตง และที่หน้าโรงพักปะนาเระ กลุ่มแนวร่วมทำการปล้นรถยนต์ในพื้นที่ในตอนเช้าของวันนั้น และนำไปประกอบเป็นคาร์บอมบ์ หรือนำไปใช้ก่อเหตุในทันที โดยได้ขับรถยนต์ที่ประกอบเป็นคาร์บอมบ์มาจอดที่หน้าโรงพักปะนาเระในตอนบ่ายของวันเดียวกัน หรือปล้นรถตู้ตอนเช้า แล้วเอาไปใช้ร่วมก่อการกลางเมืองเบตงในวันเดียวกัน อันแสดงให้เห็นเป็น “นัย” ของประเด็นดังนี้
ประเด็นแรก การปิดล้อม และตรวจค้นแหล่งซุกซ่อนรถยนต์ที่โจรกรรมไปได้ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ผล ทำให้แน่วร่วมไม่สามารถนำรถยนต์ไปหลบซ่อนเพื่อประกอบเป็นคาร์บอมบ์ได้อย่างที่ผ่านมา
ประเด็นที่ 2 การปล้นชิงรถ และนำไปประกอบเป็นคาร์บอมบ์ในทันทีอย่างรวดเร็วเป็น “ยุทธวิธีใหม่” ของแนวร่วม เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการก่อการร้าย เพื่อสร้างความเสียหายให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งติดตามจับกุมรถที่ถูกแจ้งหายเพราะจะไม่ทันระวังตัว โดยไม่คิดว่าในระยะเวลาสั้นๆ รถที่เพิ่งจะแจ้งหายจะกลายเป็นคาร์บอมบ์อย่างรวดเร็ว
ท่ามกลางสถานการณ์ของความรุนแรงที่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช.ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาขึ้นใหม่อีก 1 ชุด ซึ่งมี พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รอง ผบ.ทบ.เป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยบรรดาปลัดกระทรวงต่างๆ และ เลขาธิการ สมช. เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อเห็นตำแหน่งของคณะกรรมการก็เชื่อว่า การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นก็เพื่อต้องการ “ขับเคลื่อน” การแก้ปัญหาต่างๆ ให้เกิดความรวดเร็ว และบูรณาการกระทรวงต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
อันจะสังเกตได้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงานในลักษณะเดียวกันในชื่อต่างๆ กันไป อันมีลักษณะเหมือนกันกับที่ คสช. แต่งตั้ง โดยมีความคิดที่จะแก้ปัญหาในเชิงบูรณาการเช่นเดียวกัน แต่น่าเสียดายที่คณะกรรมการ และคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะแม้แต่เวลาในการที่จะเรียกประชุมอย่างรวดเร็วก็ยังทำไม่ได้ ดังนั้น เรื่องการบูรณาการจึงล้มเหลวมาโดยตลอด
แต่วันนี้อาจจะต่างจากวันวาน เนื่องจากวันนี้มี คสช.เป็นผู้มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ สามารถที่ตบโต๊ะเพื่อสั่งการกับกระทรวงอื่นๆ ได้ ไม่เหมือนกับรัฐบาลพลเรือนที่มีหน้าที่ แต่ไม่มีอำนาจ ดังนั้นคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงได้แต่หวังแบบเงียบๆ ว่า คณะกรรมการแต่ละชุดที่ คสช.ตั้งขึ้นมาจะสามารถดับไฟใต้ได้ตามที่หัวหน้า คสช.ต้องการ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่เรื้อรัง ซึ่งถูกผู้บริหารประเทศทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลทหาร ต่างก็ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่คิดมาจากส่วนกลาง และลองผิดลองถูกมาโดยตลอด จนคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือน “หนูลองยา” มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
และครั้งนี้ก็เช่นกัน หลายคนกำลังคิดว่าการดับไฟใต้ต้องมีความเป็น “เอกภาพ” ในการ “สั่งการ” แต่ไม่มีใครคิดว่าการมีอำนาจมากขึ้น หรือการใช้อำนาจแบบ “เบ็ดเสร็จ” ก็ไม่ได้หมายความว่า จะแก้ปัญหาได้อย่างที่ต้องการ เพราะการที่จะดับไฟใต้ให้ได้ผลนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ “ความร่วมมือของประชาชน” ต่างหาก