คอลัมน์ : จุดคบไปใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังเป็นดั่งเหมือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ สมาชิกของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เราเรียกว่า “แนวร่วม” ยังคงพยายามปฏิบัติการด้วยอาวุธ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความรุนแรง วิธีการที่ใช้คือ ระเบิดแสวงเครื่อง การซุ่มยิง และ ซุ่มโจมตี โดยมีเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่รัฐ ชาวไทยพุทธ และมุสลิมที่ให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
การก่อการร้ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเมื่อไม่สามารถหา “เป้าใหญ่” ในพื้นที่เศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า “หัวเมืองเศรษฐกิจ” ทั้ง 7 หัวเมือง เช่น เขตเทศบาลนครยะลา เขตเทศบาลเมืองเบตง เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และอื่นๆ ได้ แนวร่วมก็ต้องหันไปก่อเหตุในพื้นที่รอบนอก เพื่อให้มี “เหตุการณ์รายวัน” เป็นการรักษาสถิติเพื่อมิให้ “กระแสตก” เพื่อ “หล่อเลี้ยง” ความรุนแรงเอาไว้ให้ได้
เพราะหากไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น นั่นหมายถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเข้าสู่ “โหมด” ของ “ความสงบสุข” และความสำคัญของขบวนการแบ่งแยกแดนแดน ทั้งในเวทีของพื้นที่ชายแดนใต้ และเวทีโลกก็จะค่อยๆ “หมดความสำคัญ”
การหมดความสำคัญย่อมหมายถึงหมดผู้ที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องของ “เงินทุน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือขบวนการก่อการร้ายในโลกนี้ยอมให้เกิดขึ้นต่อองค์กรไม่ได้ เพราะปัจจุบันการก่อการร้ายเป็น “ธุรกิจ” ชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับธุรกิจการขายอาวุธของประเทศตะวันตกให้แก่ประเทศที่มีการ “ค้าสงคราม” เกิดขึ้น
ปัญหาการก่อการร้าย หรือการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากเรื่อง มาลายู อิสลาม ปัตตานี หรือ ศาสนา ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ แล้วก็มีเรื่องของผลประโยชน์ที่แฝงฝังอยู่ ทั้งกับ “แกนนำ” ในประเทศ และผู้นำขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่นอกประเทศ
และแม้แต่การเปิด “โต๊ะพูดคุยสันติสุข” ที่มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกก็ “แฝงฝัง” ไปด้วยเรื่องของ “ผลประโยชน์” เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ เพียงแต่เป็น “ธุรกิจการก่อการร้าย” เท่านั้น
มีหลายคนถามว่า การที่ “บีอาร์เอ็นฯ” สูญเสีย “มะแซ อุเซ็ง” แกนนำในองค์กรนำที่รับผิดชอบในส่วนของ “เยาวชน” จะมีผลอะไรต่อการ “ขับเคลื่อน”การก่อการร้าย หรือการแบ่งแยกดินแดนของจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ อย่างไร
ตอบตามประสาของคนรู้น้อย เพราะไม่ใช่นักการทหาร และนักทฤษฎีอะไรว่า การที่บีอาร์เอ็นฯ สูญเสีย มะแซ อุเซ็ง อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ “ศรัทธาในตัวของบุคคล” ผู้นี้บ้าง แต่ก็ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้นต่อขบวนการ
แม้ว่า มะแซ อุเซ็ง จะเป็นหนึ่งในหลายคนที่เติบโตมาจาก “สำนักคิด” ของ “สะแปอิง บาซอ” เลขาธิการคนปัจจุบันของบีอาร์เอ็นฯ ที่เป็นสาย “ฮาร์ดคอร์” ซึ่งไม่เห็นด้วยต่อกลุ่ม “มาราปาตานี” ในการ “พูดคุยสันติสุข” กับรัฐบาลไทย เพื่อหาทางยุติการใช้ความรุนแรงในปัญหาความคิดต่างในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะโดยข้อเท็จจริง มะแซ อุเซ็ง ป่วยกระเสาะกระแสะด้วยอาการของวัณโรคมากว่า 3 ปี แล้ว และผู้ที่ทำหน้าที่ในเรื่องเยาวชนแทน คือ “อับดุลอาซิส สาและ” ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ผู้ต้องหาคดีแบ่งแยกดินแดนที่หลบหนีหลังจากได้รับการประกันตัวเมื่อปี 2547 และเป็นศิษย์จากสำนักคิดของ สะแปอิง บาซอ เช่นกัน
ความเป็น มาแซ อุเซ็ง จะอยู่ หรือเสียชีวิตไม่มีความสำคัญ เพราะที่ความสำคัญอยู่ที่สิ่งที่ทิ้งไว้ คือ “ทฤษฎีบันได 7 ขั้น” หรือ “แผนปฏิบัติ 7 ขั้น” ที่เขียนโดยเขา และบีอาร์เอ็นฯ นำไปใช้ในการ “หลอมรวม” นำพาผู้คน และเยาวชนเข้าสู่ขบวนการ แล้วให้ลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐไทย เพื่อสร้าง “รัฐปัตตานี” ขึ้นมาใหม่ภายใน 1,000 วัน หรือ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2547
ถึงแม้ว่าทฤษฎีที่ว่าด้วยหลักการของ “บันได 7 ขั้น” ของ “นักทฤษฎี ป,4” ผู้นี้จะไม่เป็นไปตามแผนการที่เพียรพยายามให้สำเร็จใน 1,000 วัน แต่ด้วยแผนที่เขาเขียนขึ้นก็ถูกบีอาร์เอ็นฯ ไปใช้ในการต่อสู้กับรัฐไทยจนยึดเยื้อยาวนานมาจนถึง 12 ปี และยังจะดำเนินต่อไปอีกนานเท่าไหร่ก็ยังไม่มีคำตอบ
ดังนั้น วันนี้แม้ว่าจะไม่มี มะแซ อุเซ็ง ให้ฝ่ายความมั่นคงได้ “กล่าวอ้าง” อีกต่อไป แต่ทฤษฎีบันได 7 ขั้นของเขาก็ยังคง “มีชีวิต” และยังเป็น “อาวุธ” ที่ถูกใช้ในการต่อสู้ของแนวร่วมที่ยังคงสร้างความสูญเสียให้แก่ภูมิภาคในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
แผนบันได 7 ขั้นของ มะแซ อุเซ็ง ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 การสร้างจิตสำนึกมวลชน (ปลุกความเกลียดชังรัฐไทย และคนไทย ) ขั้นที่ 2 การจัดตั้งมวลชน ขั้นที่ 3 การจัดตั้งองค์กร (องค์กรการต่อสู้กับรัฐไทย) ขั้นที่ 4 การจัดตั้งกองกำลัง ขั้นที่ 5 สร้างและขยายอุดมการณ์ชาตินิยมปัตตานี ขั้นที่ 6 เตรียมพร้อมจุดดอกไม้ไฟแห่งการปฏิวัติ และขั้นที่ 7 การก่อการปฏิวัติด้วยการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ
ตรวจสอบสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็นฯ ในวันที่ไม่มี มะแซ อุเซ็ง จะพบว่า สภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็นฯ ยังคงเป็นคนกลุ่มเดิ มคือ 1. สะอิง บาซอ ทำหน้าที่เลขาธิการใหญ่ 2. อับดุลเลาเลาะ แวมะนอ รับผิดชอบฝ่ายทหาร 3. อับดุลอาซิส สาและ รับผิดชอบฝ่ายเยาวชน และตาดีกา (แทน มะแซ อุเซ็ง) 4. อับดุลวอเฮะ รับผิดชอบฝ่ายการศึกษา 5. อดุลย์ มุณี รับผิดชอบการเมือง-การปกครอง 6. อับดุลรอเซะ หรือ มะซูดิง รับผิดชอบฝ่ายเศรษฐกิจ-การคลัง และ 7. มุสตอฟา มูฮัมหมัด รับผิดชอบฝ่ายประสานงาน
บุคคลสำคัญของบีอาร์เอ็นฯ ที่ประกอบเป็น “สภาองค์กรนำ” ที่เป็น “คีย์แมน” คือคนเหล่านี้ และหาก “ผนวก” เข้ามากับ “กลุ่มมาราปาตานี” ที่อ้างตัวเป็น “ตัวแทน” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนอีก 3 กลุ่ม อีก 6-7 คนก็ไม่ได้นับว่าจะมากมายจนการที่จะ “เจรจา” หรือ “พูดคุย” จนไม่รู้เรื่อง โดยเฉพาะพูดคุยเพื่อที่จะ “ยุติความรุนแรง” ที่เกิดขึ้นไม่ได้
เพราะคนเหล่านี้ที่กล่าวมาทั้งหมดต่างอาศัย “ใบบุญ” ของประเทศมาเลเซีย ทั้งในการประกอบอาชีพ และการ “เคลื่อนไหว” เพื่อขับเคลื่อนขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น ถ้า “ประเทศเพื่อนบ้าน” ที่คนเหล่านี้อาศัยอยู่มี “ความจริงใจ” และมี “ความตั้งใจ” ที่จะร่วมมือกับไทยในการยุติปัญหา การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ยังเชื่อว่าทางออกของการ “ดับไฟใต้” ด้วยการ “เจรจา” หรือการ “พูดคุย” คือ “เครื่องมือ” ที่ดีกว่าวิธีการอื่นๆ
เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ เทพา นาทวี จะนะ และสะบ้าย้อย ซึ่งเป็น “พื้นที่ต่อสู้” ระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นฯ วันนี้รัฐไทยมีความพร้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ อาวุธยุทโธปกรณ์ กำลังพล แผนปฏิบัติการ และอีกมากมาย
แต่ที่ทุกแผนปฏิบัติการยังไม่ประสบความสำเร็จเป็นเพราะ เรา “ขาดความจริงใจ” จากหลายองค์กร หลายกลุ่มก้อนในพื้นที่ เพราะมีการ “หน้าไหวหลังหลอก” จากหลายผู้นำหลายๆ องค์กรที่คิดเพียงจะ “หาเงิน” จากหน่วยงานของรัฐ แต่ “ไม่เคยมีความจริงใจ” ต่อการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
เช่นเดียวกับ “เวทีการพูดคุยสันติภาพ” ที่จริงๆ แล้วปัญหา และอุปสรรคที่ทำให้เกิดการ “สะดุดหกล้ม” ก็มาจาก “ความไม่จริงใจ” ที่เกิดขึ้น
วันนี้ปัญหาไฟใต้คือปัญหาของ “ความไม่จริงใจ” ในการที่จะร่วมมือกันเพื่อทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข หลายหน่วยงาน หลายองค์กร มองเรื่องของไฟใต้เป็น “ธุรกิจ” ที่สามารถ “กอบโกย” เพื่อตนเอง และหาก ทั้ง “กอ.รมน.” และ “ศอ.บต.” ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ เราก็จะยังติดอยู่กับ “กับดัก” ของความไม่จริงใจต่อไป จนสุดท้ายปัญหาของไฟใต้อาจจะจบลงที่ต้องใช้วิธีการ “ปราบปราม” อย่างเด็ดขาดก็อาจจะเป็นได้เช่นกัน