xs
xsm
sm
md
lg

เอา-ไม่เอาท่า! “เรือน้ำลึกปากบารา” พิจารณาอย่างมีเหตุผล ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้?! / สมบูรณ์ คำแหง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากเฟซบุ๊ก Somboon Khamhang
 
โดย...สมบูรณ์  คำแหง  เลขาธิการ กป.อพช.ใต้
--------------------------------------------------------------------------------


สังคมเมืองสตูลกำลังเกิดการแบ่งแยก แตกต่างทางความคิดเป็นฝักฝ่าย และกำลังจะกลายเป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึกมากขึ้นจาก “โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา” จากฝ่ายที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่ยังชั่งใจอยู่ว่าโครงการดังกล่าวนี้จะสร้างผลประโยชน์อันใด? อย่างไร? แค่ไหน? และเพื่อใคร? ซึ่งนั่นอาจจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับคนทั่วไปอยู่ในขณะนี้
 
นี่จึงเป็นคำถามที่จะต้องใช้สติในการพิจารณาข้อมูล และข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ ก่อนที่การตัดสินใจนั้นจะสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเกิดเมืองนอนของเราเอง

และเพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องราวเหล่านี้ จึงขอตั้งข้อคิดเห็นให้ช่วยกันค้นหาคำตอบร่วมกันต่อไปดังนี้

 
ภาพจากเฟซบุ๊ก Somboon Khamhang
 
1.“โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “โครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจสองฝั่งทะเลอันดามัน-อ่าวไทย” หรือ “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล”
 
นั่นหมายถึงว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์การเชื่อมสองฝั่งทะเล ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้วาดวางเอาไว้นั้นจะต้องมีโครงการย่อยที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันคือ ท่าเรือน้ำลึกสองฝั่งทะเล, เส้นทางรถไฟเชื่อมท่าเรือทั้งสองท่า, ระบบสาธารณูปโภคทั้งแหล่งน้ำและพลังงาน และหนีไม่พ้นที่จะต้องมีเขตนิคมอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน
 
ตามที่อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เคยพูดไว้ว่า “หากจะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ก็จะต้องมีพื้นที่สำหรับก่อตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมด้วย ไม่งั้นจะสร้างท่าเรือไปทำไม เมื่อไม่มีสินค้าจะขนส่งออก“

2.“โครงการก่อสร้างรถไฟอุตสาหกรรมรางคู่” เพื่อเชื่อมท่าเรือน้ำลึกปากบารา สตูล และท่าเรือสวนกง สงขลา ซึ่งถือเป็นโครงการที่บ่งชัดได้ยิ่งขึ้นว่าคือ ทั้งหมดนี้คือ “แลนด์บริดจ์” อย่างแน่นอน
 
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ใช้งบประมาณในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไป 98 ล้านบาท และได้ทำการศึกษามานานหลายปี จนล่าสุด รายงานการศึกษาดังกล่าวเพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และได้เข้าสู่การพิจารณาในขั้นตอนสุดท้ายของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา
 
แต่กลับถูกตีเรื่องกลับให้หน่วยงานเจ้าของโครงการไปสร้างความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ใหม่ และให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อดำเนินการดังกล่าว

3.“ท่าเรือน้ำลึกปากบารา สร้างไปก็ไม่คุ้มทุน” คือความคิดเห็นส่วนหนึ่งของ นายภูมมินทร์ หะรินสุต หนึ่งในคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานสมาคมเจ้าของเรือไทย ได้กล่าวไว้ในวันประชุมคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559
 
ทั้งนี้ สอดคล้องต่อความคิดของ นายสุวัฒน์ อัศวทองกุล นายกสมาคมเจ้าของเรือกรุงเทพ ซึ่งได้กล่าวไว้ในเวทีเสวนาที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจจัดขึ้นเมื่อปี 2554 ว่า “ท่าเรือน้ำลึกปากบาราไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และไม่คุ้มที่จะสร้าง เนื่องจากสินค้าทางภาคใต้มีจำนวนน้อย คือ เพียงแค่ยางพารา และสัตว์น้ำแช่แข็งเท่านั้น”
 
ซึ่งความเป็นจริงต่อเรื่องนี้ก็ไม่เคยมีการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนไว้อย่างเป็นระบบ เป็นเพียงการคาดการของบริษัทที่รับทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น 

4.รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 50 ล้าน เมื่อเดือนตุลาคม 2558 เพื่อศึกษาเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจรทางบก (สนข.) เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา
 
โดยเฉพาะโครงการเชื่อมโครงข่ายการขนส่งสองฝั่งทะเลว่า ควรสร้างที่จุดใดถึงเหมาะสมที่สุด ตั้งแต่ภาคใต้ตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ซึ่งขณะนี้การศึกษาใกล้จะแล้วเสร็จ แต่ก็ยังไม่มีบทสรุปที่เป็นทางการ
 
จึงไม่ชัดเจนว่า ณ เวลานี้รัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือน้ำลึกสวนกง หรือจะเลือกเส้นทางไหนกันแน่

5.และรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณอีก 120 ล้านบาท เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ให้บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด ทำหน้าที่ทบทวน EIA หรือรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่เคยได้รับอนุมัติไปแล้วเมื่อปี 2552
 
พร้อมกันนี้ ให้ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA เพิ่มเติม ซึ่งให้แล้วเสร็จภายใน 20 เดือน ถึงขณะนี้ล่วงเลยไปแล้ว 5 เดือน กลับพบว่า การใช้งบของบริษัทดังกล่าวนี้ได้เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มที่สนับสนุนโครงการอย่างชัดเจน ทั้งที่การใช้งบประมาณดังกล่าวควรนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างแท้จริง
 
ทั้งที่ในการศึกษานี้บริษัทควรต้องวางตนให้เป็นกลางที่สุด และควรเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายให้ไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อให้มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมามากกว่า

จากสถานการณ์ที่กล่าวอ้างเบื้องต้น ทำให้เกิดข้อสังเกตใหญ่ได้ว่า การดำเนินงานของโครงการทั้งหมดไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความจริงทั้งหมด หากเป็นการดำเนินการที่มีเป้าหมายปลายทางที่หน่วยงานภาครัฐสวนบนได้กำหนดไว้แล้วทั้งสิ้น
 
แต่การใช้งบประมาณในช่วงปีที่ผ่านมาเกือบ 200 ล้าน ก็เพียงให้เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนที่ไม่สามารถละเลยได้เท่านั้น ภายใต้ข้อกฎหมายที่บีบบังคับไว้ แต่กลับพบว่า การใช้งบประมาณจำนวนทั้งหมดนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่คนบางกลุ่มบางพวก และไม่ได้เป็นไปเพื่อเป้าประสงค์ของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน และที่เป็นกลางจริงๆ 

ความเสียหายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไปนี้ ซึ่งมิใช่แค่ความขัดแย้งของพี่น้องชาวจังหวัดสตูลด้วยกันเองเท่านั้น แต่เรากำลังจะแลกกับทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม ที่เป็นต้นทุนสำคัญของเราเอง เพื่อสังเวยให้แก่วาทกรรมการพัฒนาที่อ้างว่า การเกิดขึ้นของท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะนำความมั่งคั่งมาสู่คนสตูล
 
ทั้งที่นักลงทุนด้านการขนส่งทางเรือต่างยืนกรานชัดเจนพร้อมกันว่า “สร้างไปก็ไม่คุ้มทุนอย่างแน่นอน” เวลาที่เหลือเพียงน้อยนิดนี้จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของคนสตูลอย่างแท้จริง?!
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น