xs
xsm
sm
md
lg

มวยถูกคู่! เวทีสมัชชา NGOs ดัน “บรรจง นะแส” นั่ง “ประธาน กป.อพช.” คนใหม่ชนอำนาจรัฐ-ทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบรรจง นะแส บนเวทีสมัชชา กป.อพช.ระดับชาติ
 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เผยที่ประชุมนักพัฒนาเอกชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีมติเลือก “บรรจง นะแส” นักต่อสู้จากแผ่นดินด้ามขวานนั่งแท่น “ประธาน กป.อพช.” คนที่ 11 ด้านนักเคลื่อนไหวอาวุโสภาคใต้ชี้ ถือเป็นเป็น “มวยถูกคู่” ที่จะไปต่อกรกับอำนาจรัฐ และทุนในสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติเวลานี้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 ส.ค.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดเวทีประชุมสมัชชาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ปี 2559 ในหัวข้อ “เหลียวหลัง แลหน้า ขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชน” โดยดำเนินมาตั้งแต่วานนี้ (19 ส.ค.) ซึ่งมีนักพัฒนาเอกชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อนำปัญหา และผลกระทบจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงประเมินสถานการณ์ และกำหนดทิศทางการก้าวเดินต่อไปของบรรดานักพัฒนาเอกชน โดยจัดขึ้น ณ โรงแรมพิงพักอิงทางบูติกโฮเทล จ.นนทบุรี
 

 
ในช่วงบ่ายของวันนี้ มีการดำเนินการในวาระสุดท้ายก่อนปิดประชุม คือ การจัดให้มีการสรรหากรรมการ กอ.อพช.ระดับชาติชุดใหม่ด้วย ปรากฏว่า ที่ประชุมได้มีการเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับเลือกให้เป็นประธาน กป.อพช.ระดับชาติ จำนวน 3 คน ประกอบด้วย 1.สุภาวดี เพชรรัตน์ จากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม 2.สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง จากมูลนิธิพัฒนาแรงงานและอาชีพ และ 3.บรรจง นะแส จากสมาคมรักษ์ทะเลไทย จากนั้นเปิดให้มีการลงคะแนนเสียงลับ ผลปรากฏว่า ผู้ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ประธาน กป.อพช.ระดับชาติคนใหม่คือ บรรจง นะแส 
 
สำหรับ นายบรรจง นะแส ที่เพิ่งฉลองแซยิดไปหมาดๆ ปัจจุบันนั่งเป็นนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย จบการศึกษารัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาการปกครองท้องถิ่น จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่) ในปี 2524 จากนั้นปี 2541 จบการศึกษาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม จากคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.อ.หาดใหญ่ ทำงานในหน้าที่นักพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวกับปัญหาประมงขนาดเล็กมาโดยตลอดตั้งแต่จบปริญญาตรี เช่น โครงการพัฒนาชุมชนประมงบ้านปากบางนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา, โครงการพัฒนาชุมชนประมงขนาดเล็ก จ.สงขลา มูลนิธิส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาชุมชน, ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง และนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
 
เคยเป็นผู้รวบรวมพี่น้องที่ทำงานพัฒนาในภาคใต้จัดตั้งเป็น ชมรมเพื่อนร่วมพัฒนาภาคใต้ และได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกให้เป็นประธานชมรมคนแรก เคยประธาน กป.อพช.ใต้ เคยเป็นกรรมาธิการในการยกร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องต่อการประมง และเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ เคยไปศึกษาดูงานในหลายประเทศแทบทุกมุมโลก อาทิ อิตาลี บังกลาเทศ อินเดีย ตูนิเซีย แคนาดา ญี่ปุ่น เดนมาร์ก อังกฤษ เยอรมนี เคยผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมในโครงการASIAN NGO LEADERSHIP IDR.BOSTON, U.S.A. และ THE INTERNATIONAL PROGRAMMES ON THE MANAGEMENT OF SUSTAINABILITY.2543 ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์
 

 
อีกทั้งยังเป็นศิษย์เก่าดีเด่นด้านการพัฒนาสังคมในรอบ 10 ปี และในรอบ 20 ปี ของคณะวิทยาการจัดการ เป็นคณะกรรมการส่งเสริมกิจการ ม.อ.หาดใหญ่ เป็นองค์ปาฐกประจำปี 2546 ของมูลนิธิโกมลคีมทอง ในหัวข้อเรื่อง “งานพัฒนาคือการปลดปล่อย” เป็นบุคคลดีเด่นที่มีผลงานด้านพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสภาทนายความแห่งประเทศไทยปี 2548 เป็นบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติปี 2549 เป็นคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำชายฝั่งและแร่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนสงขลา เป็นกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำ จ.สงขลา และเป็นศิษย์เก่าดีเด่นด้านสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมและสถาบัน ม.อ.ประจำปี 2557
 
นอกจากนี้แล้ว เขาถือเป็นผู้ที่ยืนหยัดในการทำงานอย่างต่อเนื่องชนิดกัดไม่ปล่อย เป็นคนไม่ยอมจำนนต่อปัญหา และอุปสรรค แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ก้าวผ่านปัญหานั้นๆ ไป มีความกล้าหาญต่อภัยคุกคามอันเป็นผลจากการการทำงาน หรือในยามที่พี่น้องที่เขาทำงานด้วยต้องได้รับผลกระทบ และไม่ได้รับความเป็นธรรม เคยถูกทำร้าย ปองร้าย รวมไปถึงต้องถูกดำเนินคดีจากอำนาจรัฐ แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ ไม่ทอดทิ้งพี่น้องจนกาลเวลาได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า การต่อสู้ของพี่น้องนั้นอยู่ในแนวทางของสันติวิธี แต่ก็ไม่ยอมจำนนแม้จะถูกทำร้ายจับกุมคุมขัง ทั้งในกรณีเรือปั่นไฟจับปลากะตักในปี 2542 หรือโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ ซึ่งมีการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมมากว่า 10 ปี
 
“ผมตระหนักดีว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันปัญหาของเกษตรกรทุกสาขาอาชีพในสังคมเรายังไม่มีที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรีในสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รู้ๆ กันว่ามาจากปัจจัยอะไรบ้าง วันนี้ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการคลี่คลายปัญหาจากกลไกรัฐ ไม่ว่าระบบภาษีก้าวหน้า ภาษีมรดก หรือภาษีการจำกัดการถือครองที่ดิน ทรัพยากรทั้งบนบก และในทะเลยังถูกยึดกุมจากระบบทุนภายใต้การหนุนเนื่องจากรัฐของประเทศนี้ การที่รัฐกับระบบทุนผนึกกำลังอย่างแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันในวันนี้ การทำงานตามบทบาทหน้าที่ กป.อพช.ระดับชาติจึงหนักหน่วงพอสมควร แต่ผมคิดว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุด ชุมชนต้องได้รับการดูแล ผู้อ่อนแอจะต้องได้รับการโอบอุ้ม” นายบรรจง กล่าวอย่างให้คำมั่นสัญญาต่อที่ประชุมไว้ตอนหลัง หลังจากรู้ผลการเลือกตั้งประธาน กอ.อพช.ระดับชาติคนใหม่ 
 

 
เกี่ยวกับเครื่องนี้ “MGR Online ภาคใต้” ได้สอบถามความคิดเห็นไปยังนักเคลื่อนไหวอาวุโสของภาคใต้ ซึ่งเคยได้ร่วมกิจกรรมกับนายบรรจง มามานาน ซึ่งได้รับการบอกเล่าว่า การที่ กป.อพช.ระดับชาติได้กรรมการชุดใหม่ ถือเป็นความเหมาะสมต่อสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้อย่างมาก เนื่องจากประธาน กป.อพช.ระดับชาติคนใหม่มีบุคลิกของมือประสาน และนักต่อสู้ โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองมากมายไปด้วยความไม่ปกติ มีรัฐบาลพิเศษ และมีความที่กลุ่มทุนประสานมือกับอำนาจรัฐอย่างเหนียวแน่น
 
“การที่ภาคประชาชนจะลุกขึ้นต่อกรกับกลุ่มทุนและอำนาจรัฐ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นอีกองค์กรที่สังคมต้องจับตาใกล้ชิด ผมบอกได้คำเดียวว่า การที่ กอ.อพช.ระดับชาติได้กรรมชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกได้เลยว่า น่าจะเป็นการปรับตัวที่สอดรับต่อสถานการณ์บ้านเมือง ที่สำคัญยิ่งคือ ถือเป็นมวยถูกคู่กับอำนาจรัฐ และทุนแน่นอน” นักเคลื่อนไหวอาวุโสแห่งภาคใต้ให้ความเห็นตบท้าย
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น