xs
xsm
sm
md
lg

“แลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล” รัฐทุ่มงบเกือบ 200 ล้าน เตรียมเดินหน้าสร้างแน่! / สมบูรณ์ คำแหง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...สมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการ กป.อพช.ใต้
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
“แต่อย่าปล่อยให้ประชาชนทะเลาะกันเอง จึงต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดด้วยความจริงใจ ก่อนจะกลายเป็นอีกหนึ่งความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้”
 
จากการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่คนสตูลมักเรียกกันในชื่อ “โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา” นั้น แท้จริงแล้วคือ โครงการพัฒนาโครงข่ายลอจิสติกส์เชื่อมสองฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ภายใต้ชื่อ “โครงการแลนด์บริดจ์ สะพานเชื่อมเศรษฐกิจสองฝั่งทะเล สงขลา-สตูล” ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้จะนำไปสู่โครงการย่อยๆ อื่นๆ อีกหลายโครงการ
 
อย่างเช่นการสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่ง (ที่หนึ่งในนั้นคือ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา) โครงการก่อสร้างรถไฟเชื่อมท่าเรือหัวท้าย ระยะทาง 142 กิโลเมตร โครงการพัฒนาแหล่างอุตสาหกรรม (นิคมอุตสาหกรรม) พัฒนาแหล่งน้ำ (เขื่อน) และรวมถึงการพัฒนาแหล่งพลังงาน หรือโรงไฟฟ้า ซึ่งเหล่านี้จะสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของประชาชนตามรายทางของสงขลา และสตูล อย่างหลีกไม่พ้น
 
ในขณะที่ประชาชนทั้งสองพื้นที่ถกเถียงถึงเรื่องดังกล่าวอย่างจะเป็นจะตายในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายที่คัดค้านยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน บนฐานเหตุผล และข้อมูลที่เข้าใจกันไปคนละอย่าง ในขณะที่ขั้นตอนการดำเนินโครงดังกล่าวในรัฐบาลปัจจุบันนี้ก็รุกคืบไปอย่างไม่สนใจใคร่ดีสิ่งใด และกลับมีความก้าวหน้าที่ชัดเจนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
 
ในปีนี้เองได้มีการอนุมัติงบประมาณรวม 170 ล้านบาท เพื่อดำเนินการดังนี้ 1) อนุมัติงบประมาณ 50 ล้าน ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจรทางบก หรือ สนข. ทำหน้าที่ดำเนินการว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแล้วล้อม ได้ทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ต่อโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งรวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะเชื่อมสองฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทั้ง 3 เส้นทาง คือ ตอนบนที่ชุมพรกับระนอง ตอนกลางที่นครศรีธรรมราชกับกระบี่ และตอนล่างที่สงขลาและสตูล ซึ่งขณะที่ได้ทำกระบวนการศึกษาเสร็จไปแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน
 
และ 2) เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณอีก 120 ล้านบาท เพื่อขอศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ในโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และยังมีโครงการลักษณะเดียวกันนี้ที่ไม่ทราบจำนวนงบประมาณที่ชัดเจน เพื่อจัดการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเช่นเดียวกัน ที่ท่าเรือน้ำลึกสวนกง จังหวัดสงขลา
 
ซึ่งจากความคืบหน้าทั้งสองโครงการนี้ก็ยังความสับสนให้แก่คนในพื้นที่ว่า การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่จังหวัดสตูล ไม่เกี่ยวข้องกันกับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสวนกง จังหวัดสงขลา ทั้งที่มีหลักฐานยืนยันชัดว่านี่คือ โครงการขนาดใหญ่เชื่อมสองฝั่งทะเล
 
จนเมื่อมีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และออกแบบโครงการรถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือทั้งสองฝั่งแล้วเสร็จ และได้มีการผ่านการอ่านเอกสารโดยผู้ชำนาญการของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเตรียมที่จะนำให้ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ กกวล.พิจารณาในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา แต่ได้ถูกตัวแทนชาวบ้านจากทั้งจังหวัดสงขลาและสตูลร่วมกันยื่นหนังสือคัดค้าน จนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีความเห็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำความเข้าใจต่อประชาชนให้เข้าใจเสียก่อน
 
จึงทำให้เห็นได้ว่า ท่ามกลางความสับสน ไม่เข้าใจของคนในพื้นที่สองจังหวัดที่โครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นนี้ กลับมาการดำเนินโครงการอยู่อย่างต่อเนื่องตามขั้นตอนกระบวนการที่กฎหมายบังคับไว้
 
ดังนั้นแล้วเราจึงขอเรียกร้องทั้งผู้สนับสนุน ผู้คัดค้าน และรัฐบาลดังนี้
 
1.ฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายค้านจะต้องจับมือกันเพื่อสร้างเวทีการได้เรียนรู้ เพื่อทำให้มีการเข้าถึงข้อมูล และเข้าใจถึงที่มาที่ไปของโครงการอย่างถ่องแท้ ด้วยเหตุที่ว่าจะต้องทำให้รู้ว่า โครงการต่างๆ เหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อชุมชนต่างๆ แบบไหน อย่างไร
 
2.จากข้อมูลดังกล่าวจะได้นำไปสู่การกำหนดท่าทีของชุมชนต่างๆ ต่อสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และเพื่อประกอบการตัดสินใจให้กับคนในพื้นที่อย่างรู้เท่าทัน อันถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนชาวไทยจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา
 
3.ภาครัฐ หรือรัฐบาลต้องจริงใจที่จะเปิดเผยข้อมูลและข้อเท็จจริงของโครงการต่างๆ ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น เพื่อลดความสับสนของคนทั้งสองพื้นที่ และเพื่อลดแรงเสียดทานที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงได้ ในอนาคต
 
รัฐบาลจึงไม่ควรปล่อยให้ประชาชนสับสนกันเอง จนอาจจะนำไปสู่การวิวาทะ และกลายเป็นอีกชนวนของความรุนแรงในภาคใต้ 
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น