xs
xsm
sm
md
lg

ความเหมาะสมที่ “สมัชชา กป.อพช.” เลือก “บรรจง นะแส” เป็นประธานระดับชาติคนใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เรื่อง/ภาพ  :  สมบูรณ์ คำแหง  เลขาธิการ กป.อพช.ใต้
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
ตามที่ได้มีการประชุมสมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGOs กันทั้ง 4 ภาค ระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2559 ที่โรงแรมพักพิงอิงทาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ที่จัดขึ้นทุกปี และทุกๆ 2 ปี แล้วก็จะมีการเลือกคณะกรรมการ และประธานคนใหม่ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานขบวนเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนในภาพรวม ซึ่งก่อนหน้านี้มี นายศรีสวรรณ ควรขจร ทำหน้าที่เป็นประธาน ซึ่งได้หมดวาระลงในโอกาสนี้ จึงต้องจัดให้มีการเลือกประธาน และคณะกรรมการชุดใหม่ในการประชุมครั้งนี้ด้วย
 
จากการประชุมทั้ง 2 วัน ได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคม และการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุคที่รัฐบาลชุดนี้ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้บริหารบ้านเมืองภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติ หลังการยึดอำนาจเมื่อปี พ.ศ.2557 พบว่า ได้มีนโยบาย และโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ทำไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วทุกภาค ตัวอย่างเช่น
 
- นโยบายทวงคืนผืนป่า และการตรวจยึดที่ดินที่ทำกินของประชาชนอย่างไม่แยกแยะ
 
- นโยบายการจัดการพลังงาน และการเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงไม่ปลอดภัย อย่างถ่านหิน โรงไฟฟ้าขยะ และชีวมวล และรวมถึงแนวโน้มที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
 
- การเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ตามแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ อย่างเช่นแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ท่าเรือน้ำลึกปากบารา และสวนกง นิคมอุตสาหกรรม และอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน
 
- กระประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายจังหวัดที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ
 
- การออกกฎหมายใหม่ตามอำเภอใจ
 
- การใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ได้มีการออกคำสั่งจนสร้างผลกระทบต่อชุมชนในหลายๆ คำสั่ง
 
- หรือแม้แต่นโยบาย “ประชารัฐ” ที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ทุนขนาดใหญ่มากกว่าที่จะทำให้ชาวบ้าน หรือชุมชนได้ประโยชน์จริง
 
- การบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ไม่สนใจต่อเสียงของประชาชน ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์ว่า เพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน
 
- รวมถึงการดำเนินนโยบายทางการเมืองที่ผิดพลาด และไม่ได้นำไปสู่การปรองดองที่แท้จริง
 
ทั้งนี้ ได้บทสรุปที่ว่า หลังจากนี้ไปรัฐบาลนี้ก็จะยังคงอยู่ในอำนาจไปอีกอย่างน้อย 2 ปี และการจัดวางกลไกผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็สรุปได้ว่า เพื่อเป็นการสืบทอดอำนาจของพวกพ้องต่อไปอีกอย่างน้อย 8-10 ปี ซึ่งคาดว่าจะยังมีเรื่องที่ต้องละเมิดสิทธิเสรีภาพของชุมชนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งถือเป็นบททดสอบหนึ่งของขบวนการเอ็นจีโอทั่วทุกภาค และจะเป็นโจทย์ร่วมกันในอนาคตที่จะต้องมีการเลือกสรรกลไกของคณะทำงานประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับชาติ ให้สามารถตอบสนอง หรือเท่าทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไป
 
ที่ประชุมสมัชชาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนประจำปีนี้ จึงได้มีการเลือกให้ นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และต่อสู้กับการประมงทำลายล้างมานานนับ 30 ปี และยังมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคม และการเมืองทั้งในระดับภาค และระดับชาติ ซึ่งเป็นที่รู้จักของสังคมทั่วไปเป็นอย่างดี
 
การเลือก นายบรรจง นะแส ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติในครั้งนี้ ถือเป็นประธานคนที่ 11 หลังจากการก่อตัวขององค์กรนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 เป็นต้นมา และถือเป็นประธานคนแรกที่มากจากภูมิภาค
 
ทั้งนี้ หลังจากการได้รับเลือกแล้ว นายบรรจง นะแส ได้แสดงวิสัยทัศน์ในฐานะที่จะต้องทำหน้าที่นี้ไปอีก 2 ปีว่า
 
“การเมืองหลังจากนี้ไปจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แม้ภาพลักษณ์ของตนเองอาจจะถูกมองว่าอย่างไรต่อการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ตนเองก็ได้ยืนหยัดการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมมาอย่างจริงจังในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ทั้งที่คิดว่าเวลาที่เหลืออยู่อยากจะทำสวนทำไร่ไปด้วย เพราะก่อนหน้านี้ได้เริ่มลงมือเตรียมพื้นปลูกผักปลูกหญ้าไว้จำนวนหนึ่งแล้ว...

แต่เมื่อได้รับหน้าที่นี้อีก 2 ปีข้างหน้า ก็ต้องยอมรับ และทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด สิ่งที่จะต้องทำหลังจากนี้คือ การสร้างความปึกแผ่นของขบวนเอ็นจีโอทั้ง 4 ภาค และสร้างรูปธรรมการหนุนเสริมระหว่างกัน รวมถึงการหาแนวทางสนับสนุน และส่งเสริมให้นักพัฒนาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในฐานะนักพัฒนาเอกชนอย่างภาคภูมิใจ ที่สำคัญคือ เราหนีไม่พ้นที่จะต้องยึดโยงกับปัญหาความทุกข์ร้อนต่างๆ ของพี่น้องประชาชน และชุมชนที่ถูกละเมินลิดรอนสิทธิเสรีภาพจากนโยบายและโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
 
อีกทั้ง นายบรรจง นะแส ยังเปิดใจถึงความขัดแย้งทางการเมืองของเพื่อนนักพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาว่า
 
“ความขัดแย้งของความคิดทางการเมืองระหว่างพี่น้องนักพัฒนาด้วยกันในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถือเป็นความหนักใจอย่างหนึ่งของการทำหน้าที่ตรงนี้ แต่ผมไม่อยากถกเถียง แต่อยากให้ก้าวข้าม ซึ่งพี่น้องพอทราบกันดีว่าผมก็มีท่วงทำนองต่อเรื่องนี้อย่างไร...

อย่างไรก็แล้วแต่ หากเราเอาเป้าหมายของพี่น้องเป็นที่ตั้งแล้วก็จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างแน่นอน และนี่คือจุดแข็งของเอ็นจีโอสายพวกเรา และเราไม่เลือกว่าจะรบหรือไม่รบกับรัฐบาลไหน เพราะไม่ว่าจะรัฐบาล คสช. หรือใครจะใหญ่มาจากไหน ถ้าทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราก็ไม่สน เราไม่กลัว และพร้อมที่จะทะเลาะกับทุกรัฐบาลที่ไม่เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน”
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น