xs
xsm
sm
md
lg

30 องค์กรใต้ตีตรา “ประชาธิปไตยใต้บงการ” จี้ คสช.หยุดสืบทอดอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

   


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กร ตีตรา “ประชาธิปไตยใต้บงการ” พร้อมจี้ คสช.ยุติบทบาททางการเมืองหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

วันนี้ (8 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ได้มีการรวมตัวของเครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กร แถลงการณ์ร่วมในข้อเสนอ “ประชาธิปไตยใต้บงการ”

จากผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา เครือองค์กรประชาชนและองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กร ขอประกาศยอมรับ แต่อย่างไรก็ดี การลงประชามติที่สังคมยัง “ไม่ตกผลึกทางความคิดมากพอ” อันเนื่องมาจากการจำกัดพื้นที่การถกเถียง การผลิตซ้ำ ตอกย้ำความขัดแย้ง การทุจริตคอร์รัปชันในอดีต ทำให้เกิดการตัดสินใจบนฐาน “ความหวาดกลัวอดีตที่หลอกหลอน” มากกว่าการคำนึงถึงการสร้าง/กำหนดกติกาที่เสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตยสากล

เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กร จึงขอเรียกร้อง ดังนี้ (1) ต้องไม่นำเหตุผลร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการรับรองมาสร้างความชอบธรรมฝ่ายเดียวในการดำเนินนโยบายทางการเมือง โครงการพัฒนาที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน ปิดกั้น และ/หรือคุกคามผู้เห็นต่าง และเรียกร้องให้เปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้โดยปราศจากความหวาดกลัว และ/หรือวิตกกังวลต่อการคุกคาม และยอมรับว่า “ผู้เห็นต่างก็ปรารถนาร่วมสร้างอนาคตการเมืองและประชาธิปไตย” เช่นกัน

(2) กติกาใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาธิปไตยไทยตกอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยใต้บงการ” ทำให้เกิดแรงเสียดทาน และสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ารอบใหม่ เครือข่ายฯ ขอยืนยันว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เคารพสิทธิ และเสรีภาพ

(3) ผลสืบเนื่องจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่ส่งผลต่อการแย่งชิงทรัพยากรอย่างขนานใหญ่ และรุนแรง ผ่านนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และแรงขับเคลื่อนของรัฐและทุน ดังนั้น การดำเนินการใด ๆ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด

(4) เครือข่ายฯ ยืนยันข้อเสนอที่ขอให้ คสช.ประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ หลังการเลือกตั้ง

เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กร ขอยืนยัน และสานต่อข้อเรียกร้องด้วยการเร่งขยายเครือข่ายประชาชน ชุมชน เพื่อร่วมกันติดตาม รณรงค์ และจะจับตา ติดตามร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวเนื่องต่อรัฐธรรมนูญ การปฏิรูป และ พ.ร.บ.ที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช. เช่น พ.ร.บ.แร่, พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม อย่างใกล้ชิด

รายชื่อเครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กรที่ร่วมกันแถลงการณ์ในวันที่ 8 สิงหาคม 2559 ได้แก่ 1.เครือข่ายพลเมืองสงขลา 2.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) 3.มูลนิธิอันดามัน 4.สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 5.สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ 6.สงขลาฟอรั่ม 7.กลุ่ม Save Krabi, 8.กลุ่มคนรุ่นใหม่ ใจอาสา 9.กลุ่มทนายไร้ตั๋ว 10.กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำท่าสะท้อนและสิ่งแวดล้อม สุราษฎร์ธานี

11.เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ 12.เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สงขลา สตูล 13.เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน 14.เครือข่ายรักษ์ชุมพร 15.เครือข่ายพลเมืองพัทลุง 16.เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน 17.เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา รัตภูมิ 18.เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (permatamas ) 19.เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล 20.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคใต้

21.เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มทะเลสาบสงขลา 22.ชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้ 23.ศูนย์พลเมืองเด็ก 24.ศูนย์ข้อมูลชุมชน 25.ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) 26.ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน จะนะ 27.สถาบันศานติธรรม 28.สภาทรัพยากรพันธุกรรมพื้นบ้านภาคใต้ 29.สภาประชาชนอำเภอรัตภูมิ และ 30.หน่วยวิจัยประชาธิปไตยชุมชนเพื่อการพัฒนา
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น