xs
xsm
sm
md
lg

“รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์” กับข้อเสนอดีๆ ต่อมวลมิตร “กป.อพช.ใต้” ในย่างก้าวผ่าน 30 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
จากคำประกาศอันห้าวหาญของ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ภายใต้ “ปฏิญญา 30 ปี กป.อพช.ใต้...จับปลาต้องลงน้ำ” ที่ประกาศเดินหน้าปฏิบัติการและขับเคลื่อนภาคใต้สู่ “ภูมิภาคสีเขียว” โดยขอจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม ยั่งยืน คืนสันติสุขสู่แผนดินปลายด้ามขวาน ใช้พลังงานทดแทนด้วยการขยายโซลาร์เซลล์เต็มพื้นที่ แล้วยังเสนอให้รัฐและทุนทบทวนและยกเลิกโครงการขนาดใหญ่ภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้แบบสร้างมหันตภัย สร้างหรือวางกติกาโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะให้ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ฯลฯ ซึ่งประกาศขึ้น ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษาบนเกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวนที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์” คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ นักวิชาการที่เกาะติดการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้ให้ข้อสังเกต และมีข้อเสนอต่อการปฏิบัติการที่จะขับเคลื่อนต่อไปไว้น่าใจหลายประการ โดยพูดคุยบอกเล่าผ่าน MGR Online ภาคใต้” ซึ่งสามารถประมวลสาระสำคัญไว้ได้ดังต่อไปนี้
 

 
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ห็นว่า สังคม หรือชุมชนภาคใต้ รวมถึงสังคมไทย ต่างกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ สามารถเป็นไปได้ทั้งการเปลี่ยนผ่านสู่การจัดระบบระเบียบสังคมใหม่ หรือความขัดแย้งที่เข้าสู่วิกฤต ซึ่งอาจนำไปสู่การการพังทลายเชิงโครงสร้างที่รุนแรง และเรื้อรังมากขึ้น ด้วยเหตุผล ประกอบด้วย
 
ประการแรก สภาวะที่มีอยู่เกิดขึ้นจริง และสังคมก็รับรู้ได้ถึงปัญหาความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในด้านต่างๆ เช่น กระบวนการยุติธรรม ปัญหาการจัดสรรทรัพยากร ระบบราชการ พลังงาน เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ฯลฯ แต่สภาวะเหล่านี้กลับถูกเพิกเฉยในการจัดการต่อปัญหาในเชิงโครงสร้าง หรือปิดทับไว้ด้วยการ “สร้างมายาภาพของความขัดแย้งเชิงปรากฏการณ์” ทั้งที่ในความเป็นจริงความขัดแย้งนี้อาจเป็นเพียงแค่ไม่เกิน 20% ของปัญหาที่อยู่ใต้ผืนพรมที่ซุกไว้
 
ประการที่สอง สภาวะของการ “สั่งสมความขัดแย้ง” หากยังไม่ได้รับการจัดการให้คลี่คลาย ในท้ายที่สุดจะนำไปสู่การลุกฮือของชุมชนและท้องถิ่นอย่างขนานใหญ่ ขณะที่โครงสร้าง และกลไกเดิมยังปักหลักในความคิดและความเชื่อเดิมๆ อย่างมั่นคง
 
ประการที่สาม กลไกเชิงโครงสร้างที่กำลังออกแบบใหม่ ยังตั้งอยู่บนฐานคติของความขัดแย้งแบบคู่ตรงข้าม และมุ่งขจัดคู่ขัดแย้งทางการเมืองจากปรากฏการณ์ทางการเมืองเฉพาะหน้า มากว่าการวางกฎกติกาที่นำไปสู่การวางรากฐานทางการเมือง การพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว ซึ่งรูปธรรมที่ชัดเจนสุดคือ การพยายามเพิ่มอำนาจรัฐ ลดทอนอำนาจประชาชน และไม่ยึดโยงต่อประชาชน หรือพลเมือง และ
 
ประการที่สี่ สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ซึ่งรัฐ และกลไกรัฐสามารถกระชับอำนาจได้เกือบเบ็ดเสร็จ ผ่านกฎหมายพิเศษ ประกาศ คำสั่ง ฯลฯ มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน รวมถึงการชุมนุมสาธารณะ และสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในชุมชนของตน 
 

 
ดังนั้น แม้ กป.อพช.ใต้จะระบุว่า 30 ปีที่ผ่านมาบนเส้นทางการสร้างสรรค์ ปฏิบัติการงานพัฒนาบนความยากลำบากแล้ว แต่เส้นทางข้างหน้าจะเป็นยิ่งกว่า “การเดินทางปีนป่ายหุบผาอุดมคติอันสูงชัน” เพราะปัญหาสังคมเดิมๆ
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำยังไม่ได้รับการแก้ไข “ยังมีผู้คนที่ตกหล่นจากการพัฒนา และมีผู้คนได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการต่างๆ ของรัฐมากมาย ขณะที่มีปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง” 
 
โดยเฉพาะโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ภายใต้แผนพัฒนาภาคใต้ ซึ่งยังตกอยู่ภายใต้วังวันของการพัฒนากระแสหลัก “ที่มุ่งตอบสนองการพัฒนาอุตสาหกรรม ทุนนิยมข้ามชาติ และระบบเสรีนิยมใหม่ ที่มุ่งกอบโกย แย่งชิงทรัพยากรในชุมชน และท้องถิ่น”
 
และหากโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ จะส่งผลให้เกิดการ “เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ภาคใต้อย่างถอนรากถอนโคน ที่ทำให้เกิดผลกระทบลูกโซ่ที่ซับซ้อนทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และวิถีชุมชน” 
 

 
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ จึงมองว่า ปฏิบัติการ “จับปลาต้องลงน้ำ” ตามแนวทางของ กป.อพช. มีโจทย์ที่ต้องขบคิดอย่างน้อย 4 เรื่อง ได้แก่
 
(1) สร้างข้อเสนอการพัฒนาเชิงอุดมคติ และการปฏิบัติการทวนกระแส เพื่อฉายชี้ให้เห็นถึง “ทางเลือก” ของการพัฒนา ต่อสังคม และต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ
 
(2) ในแง่ยุทธวิธี จะไม่ใช่ “การสร้างพื้นที่เคลื่อนไหว และการระดมมวลชน”  อันเกิดจาก “ขลุก คลุก เกาะติด จัดตั้งชุมชน” แบบเดิม หากคือ “การปฏิบัติการทางสังคม” อันเกิดจากการผสมผสานข้อมูลเชิงวิชาการ การจัดเวที การทำระบบฐานข้อมูล การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ สื่อสารสาธารณะ และการเชื่อมต่อข้อมูลจากสนามชุมชนให้เข้าสู่ช่องทางต่างๆ ของการแก้ไขปัญหามากขึ้น ซึ่งการปฏิบัติการแบบนี้มีจุดแข็งช่วยให้เคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นทางเลือกใหญ่ๆ ที่ “ก่อกระแส” แนวทางการพัฒนาใหม่ๆ หรือสามารถเคลื่อนเปลี่ยนโยบายสาธารณะได้ แต่ก็อาจมีจุดอ่อนอยู่ที่ทำให้เกิดทางเลือกในการปฏิบัติการระดับชุมชน หรือพื้นที่น้อยลง และขาดรูปธรรมพื้นที่
 
(3) ดังนั้น ทิศทางการทำงานพัฒนาและการปฏิบัติการเคลื่อนไหว ควร “สร้างแรงเกาะเกี่ยวกับโครงสร้างส่วนบน” การผลักดันนโยบาย การพัฒนาระบบข้อมูลวิชาการ การประสานวิชาการ โดยมีรูปธรรมการเรียนรู้จากชุมชน และพื้นที่รองรับและสนับสนุน อันจะทำให้เกิดการ “สร้าง ค้น เส้นทางสังคม-ชุมชนใหม่” ที่มีประสิทธิภาพ และสั่งสมความชอบธรรมในการปฏิบัติการ ชุมชนที่ปฏิบัติการจากส่วนผสมของคนอาวุโส และคนรุ่นใหม่ในชุมชน หรือในพื้นที่ เมื่อมีเครือข่ายกว้างเชื่อมต่อภายนอกได้จะประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนมากกว่าชุมชนโดดเดี่ยว หรือไม่คบค้าสมาคมกับใคร
 
(4) ยังจำเป็นต้องมีที่ปรึกษาชุมชน แต่ที่ปรึกษาอาจไม่ใช่ “นักพัฒนา นักจัดตั้ง” ในความหมายเดิม แต่คือ“นักปฏิบัติการสังคมที่ครบเครื่อง”
 
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ยังบอกเล่าไว้ในท้ายที่สุดด้วยว่า ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเพียงการ “ชวนคิด ชวนคุย” ประดุจการนำหินล่อให้หยกโผล่ ในโอกาส “30 ปี กป.อพช.” เพื่อหยัดสู้กับกระแสการพัฒนากระแสหลักอันเชี่ยวกราก ที่ถาโถมเข้ามาอย่างเกรี้ยวกราดกว่าครั้งไหนๆ
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น