ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดเวทีห้องเรียนคนใต้ ตอน วิเคราะห์ผลกระทบการละเมิดสิทธิชุมชน โดยมีการเสวนาในเรื่อง “สถานการณ์การละเมิดสิทธิชุมชนภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน”
วันนี้ (8 เม.ย.) ที่ห้องอบรม 1 อาคาร LRC 1 หรือตึก สจรส. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่) ได้มีการจัดเวทีห้องเรียนคนใต้ ตอน วิเคราะห์ผลกระทบการละเมิดสิทธิชุมชน ภายใต้คำสั่ง คสช.ที่ 3, 4 และ 9/2559 จัดโดย โครงการพลเมืองร่วมสร้างสุขภาคใต้ โครงการสิทธิมนุษยชนรวมพลปกป้องสองฝั่งเล กอ.อพช.ใต้ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ โดยมีตัวแทนภาคประชาชนจาก 14 จังหวัดภาคใต้เข้าร่วมประชุมประมาณ 60 คน
สำหรับไฮไลต์ของเวทีห้องเรียนคนใต้ครั้งนี้อยู่ที่ช่วงเช้า มีการล้อมวงเสวนาเรื่อง “สถานการณ์การละเมิดสิทธิชุมชนภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิฯ อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นักวิชาการอิสระ นายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ ที่ปรึกษา กป.อพช.ใต้ นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และ อ.อาภา หวังเกียรติ มหาวิทยาลัยรังสิต ดำเนินการโดย นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี จากนั้นช่วงบ่ายเป็นการล้อมวงหารือเพื่อกำหนดแผนการปกป้องสิทธิชุมชนระดับพื้นที่ และระดับภาค
อ.วิชัย กาญจนสวววณ ผอ.สถาบันสันติศึกษา กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทรัพยากรธรรมชาติในภาคใต้ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในชุมชนท้องถิ่น ผู้มีอำนาจมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายกว่าการละเมิดสิทธิชุมชนโครงการใหญ่ๆ เราค้นพบการละเมิดหลายครั้ง สถานการณ์การละเมิดสิทธิชุมชนภายใต้รัฐบาลปัจจุบันมีความสำคัญไม่แพ้กับเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การตื่นตัวของนักศึกษา และประชาชนยังมีน้อย และในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาสิทธิชุมชน และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
นพ.นิรันทร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิทำร้าย ปชช.ถูกยกระดับด้วยการอ้างกฎหมาย ม.44 หากใครไม่เชื่อฟังจะถูกจับไปปรับทัศนคติ มีการทวงคืนผืนป่าเป็นพื้นที่ของชาวบ้าน คำสั่ง คสช.ยึดหลักกฎหมาย คือ อำนาจกฎหมาย ม.44 มีการใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม คำสั่ง คสช.นั้นร้ายกว่ากฎอัยการศึก ทำลายคนยากคนจน ผังเมืองเป็นธรรมนูญที่ต้องผ่าน ปชช.เป็นการทำลายหลักยุติธรรม คสช.พยายามใช้คำสวยหรูแต่ไม่ได้ปฏิรูป เราอยู่ภายใต้อำนาจนิยมทำให้กระทบทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม
ปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนไม่มีการตรวจสอบให้ชัดเจน พวกนายทุนจดทะเบียนในต่างชาติ ทำให้มีกำไรมาก ระบบทุนได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในเศรษฐกิจพิเศษ ยางพารา ข้าว พืชผลตกต่ำ มีการครอบงำจากทุนนิยม เงินไม่เคยตกให้คนจน เป็นปัญหาที่มีความเหลื่อมล้ำ
อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ทุกคนกำลังพูดถึงนั้นไม่ใช่โครงการใหม่ทั้งหมด บางโครงการเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งบางแลนด์บริดจ์ก็ต่อเนื่องมายังสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ ยังเป็นนายกฯ ด้วยซ้ำ แต่มีความแตกต่างอยู่ที่ว่าในอดีตเขาก็อยากจะทำโครงการต่างๆ แต่เพราะประชาธิปไตยมีราคาแพง ต้องใช้เงินในการดำเนินการต่างๆ จึงไม่กล้าดำเนินโครงการ เพราะกลัวเสียคะแนน การเล่นการเมืองนั้นจะต้องเข้าถึง และใกล้ชิด ปชช.เราถึงจะทราบปัญหา ไม่ใช่ว่าจะเล่นการเมืองเพื่อหวังแค่จะหาเงินเพียงอย่างเดียว ภายใต้รัฐบาล คสช.เข้ามาทำหน้าที่มีความมุ่งหวังว่าจะปฏิรูปประเทศ แต่กลับไม่รู้ว่าจะต้องปฏิรูปอย่างไร ในส่วนของสิทธิพื้นฐานของการเป็นพลเมืองนั้น ถึงแม้จะไม่ได้มีระบบไว้ในรัฐธรรมนูญของ คสช. แต่มันก็ยังมีอยู่ในรัฐธรรมนูญของไทย