คอลัมน์ : ด้ามขวานผ่าซาก
โดย...ปิยะโชติ อินทรนิวาส
------------------------------------------------------------
29-30 มิ.ย.นี้มีงาน “30 ปี กป.อพช.ใต้ : บทเรียนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนภาคใต้ (ชุมคน ชุมชน คนใต้)” ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา บนเกาะยอกลางทะเลสาบสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา โดยจะมีนักพัฒนาเอกชน (NGOs) แกนนำชุมชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักศึกษา ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศิลปินเพื่อสังคม สื่อมวลชนในภาคใต้ และส่วนหนึ่งจากทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 300 ชีวิต
เล็งแลรายชื่อผู้เข้าร่วมบางส่วน ได้แก่ อ.พิภพ ธงไชย เลขาธิการมูลนิธิเด็ก อ.ประสาท มีแต้ม อดีตอาจารย์ ม.อ.หาดใหญ่ ดร.เลิศชาย ศิริชัย คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ อ.จรูญ หยูทอง สถาบันทักษิณคดีศึกษา นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และ แสง ธรรมดา พี่ใหญ่ศิลปินเพื่อชีวิตสายใต้ แค่นี้ก็ต้องนับว่างานนี้ไม่ธรรมดาทีเดียว
อีกความไม่ธรรมดาคือ กป.อพช.ใต้ หรือ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ภายใต้การนำของ สมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการฯ มีความคิดอยากเห็น “ทุกเครือข่ายภาคประชาชน” ที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาคใต้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เติมเต็มแนวคิดและมุมมองให้กันและกัน ทั้งเรื่องการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ทะเลและชายฝั่ง ผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ การคุ้มครองผู้บริโภค ธุรกิจและกองทุนชุมชน เยาชนคนรุ่นใหม่ การเกษตร การศึกษาและสื่อทางเลือก รวมถึงวิกฤตไฟใต้ที่กำลังโชนเปลว
ความที่เป็นสื่อมวลคนตัวเล็กๆ ผมรู้สึกเป็นเกียรติเป็นศรีที่ได้รับเชิญเข้าร่วม มากกว่าที่ได้เคยรับเทียบจากหน่วยงานยิ่งใหญ่อย่าง กฟผ. ให้ไปร่วมโต๊ะอาหารกับผู้บริหาร พล คงเสือ ถึง 2 หน แถมด้วยเคยเชิญให้ไปดูงานโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ จ.ลำปาง เตรียมตัวเตรียมใจไว้คึกคักดิบดี แต่สุดท้ายถูกปฏิเสธบอกเลิกแบบฉุกละหุกทุกครั้ง
ผมคิดมาตลอดว่าน่าจะมีอะไรติดไม้ติดมือไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย เมื่อผสมเข้ากับแผนงานที่ร่วมกับน้องๆ ทีมข่าววางวาดไว้ในการขับเคลื่อน “MGR Online ภาคใต้” และการผลิตข้อมูลข่าวสารป้อนสื่อ “เครือผู้จัดการ” แม้ตามแผนดูมีอะไรค่อนข้างเยอะ แต่สุดท้ายก็เลยมาลงตัวแค่การฟื้น “คอลัมน์ด้านขวานผ่าซาก” ที่ท่านกำลังเปิดอ่านอยู่นี้
ในฐานะคนเฝ้ามองปรากฏการณ์ข่าวสารที่เกี่ยวเนื่องประเทศไทย และโดยเฉพาะกับผืนแผ่นดินด้ามขวานทองต่อเนื่องมานับสิบปี ผมคิดว่าเรื่อง “ผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ” แม้เราจะวิเคราะห์เจาะลงในรายละเอียดแบบมองด้วย “ตาหนอน” ที่เห็นใบไม้แต่ละใบ เห็นพิษภัยที่จะตามมากับการพัฒนาแบบไม่สมดุลกันไปแล้วมากต่อมาก
แต่น่าจะยังมีบางประเด็นทีถูกละเลย หรือถูกหยิบไปพูดยังไม่ค่อยรอบด้านเท่าที่ควร นั่นคือ การมองให้เห็นฐานคิด ที่มา ที่ไป ภาพรวมความเคลื่อนไหวแบบ “สายตานก” ที่เห็นและเข้าใจได้ตลอดป่าทั้งป่า โดยเฉพาะโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยจอมปลอมและทุนนิยมสามานย์ที่ครอบงำโลก จากชาติมหาอำนาจ จากทุนโลกบาล เมื่อมาสังวาสกับก๊วนการเมือง กลุ่มเผด็จอำนาจและบรรดาทุนสามานย์ไทยแล้ว ผลลัพธ์ถูกแปรเป็นแผนพัฒนาต่างๆ ได้เอย่างไร แล้วทำไมนำมาซึ่งผลกระทบที่มีต่อประชาชนและชุมชน
ในความเห็นส่วนตัวผมเชื่อว่า มุมมองที่ทำให้เราเห็นและเข้าใจป่าทั้งป่า เรื่องราวเหล่านี้มีล้วนความสำคัญไม่น้อย ยิ่งถ้าได้ทำความเข้าใจกันให้ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะช่วยให้ทุกคนมองเรื่องราวต่างๆ อย่างสามารถเชื่อมร้อยภาพระดับโลก ต่อเนื่องมายังประเทศไทย สู่ภูมิภาคของภาคใต้ แล้วลงไปถึงฐานรากในระดับชุมชน ซึ่งแปรเป็นผลกระทบกระเทือนต่อเราทุกคนโดยตรง
ที่สำคัญเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ยังสามารถใช้เป็นเครื่องถักทอร้อยรัดเครือข่ายต่างๆ ให้หันหน้ามามองกัน เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกันและกัน แล้วผนึกรวมเป็นพลังลุกขึ้นสู้ได้อย่างเป็นระบบแบบแผน อันจะสามารถสร้างผลสะเทือนอย่างมีนัยสำคัญให้เกิดขึ้นได้จริงจัง
ก่อนลงในรายละเอียด ผมลองยกเอา “ปรากฏการณ์ข่าว” เหล่านี้มาให้พิจารณากันก่อนนะครับ
ระบอบประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีที่ตะวันตกกำหนด ถึงวันนี้บรรดา “ท่านผู้นำ” ไทยจะกี่ยุคสมัยก็ยังยอมถูกสนตะพาย พร้อมกอดเอาไว้แนบอกและยึดเอาเป็นสรณะอย่างไม่มีจุดจบ ขณะที่ทั่วโลกกำลังกระหนำตั้งคำถามและแสดงออกอย่างมากมายไปด้วยข้อสงสัย ดังปรากฏผู้ได้รับรางวัลโนเบลหรือรางวัลระดับโลกต่างๆ หลายสิบปีมาแล้วที่มักยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม
ขณะที่ท่านผู้นำไทยทุกยุคสมัยไฟเขียวให้บรรดา “อำมาตย์” หรือ “เทคโนแครต” ที่ล้วนถูกฝั่งชิปมาจากตะวันตก ให้ร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ แล้วทุกรัฐบาลก็ไม่ลืมที่จะเด็ดหัวคนในกลุ่มนี้ไปสลับสับเปลี่ยนให้นั่งเป็น “เสนาบดี” ขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน
อย่างใน “รัฐบาลทอปบู๊ต” ปัจจุบันก็ต้องเอาสปอตไลท์ฉายไปที่หัวขบวนคือ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ในวันนี้ทุกย่างก้าวเดินตามก้นทุนนิยมเสรีสุดลิ่มทิ่มประตู ทั้งยกทีมไปโรดโชว์ขายฝันดึงนักลงทุนจากทั่วโลก แล้วดันมาตรการส่งเสริมการลงทุนแบบกางขาอ้าซ่ารอรับ อีกทั้งพร้อมยกที่ดินและทรัพยากรชาติไปประเคนให้ทุนในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วบ้านเมือง โดยไม่เกรงใจประชาชนผู้เป็นเจ้าของ หรือชุมชนที่ได้อยู่อาศัยและคอยดูแลทรัพยากรเหล่านั้น
จึงอย่าแปลกใจที่ห้วงเวลานี้จะมีก๊วน “นายทหารใหญ่” สายล็อบบี้ยิสต์ ทั้งระดับ “นายพล” และ “นายพัน”ลงมาลุยภาคใต้กันขวักไขว่ ขนเงินจากนายทุนจีนไปเดินสายจัดตั้งแกนนำไว้ทุกหมู่บ้านตลอดเส้นทางสาย A9 ที่ถูกเลือกเป็นแนวขุด “คลองไทย” ตั้งแต่แถบริมทะเลสาบสงขลาเขตรอยต่อสงขลา-พัทลุง ต่อเนื่องไปตรังและกระบี่ หลังจากมีข่าว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไปเซ็นสัญญาไว้กับฝ่ายจีน ตามด้วยการลงพื้นที่ทำสกู๊ปพิเศษเผยแพร่ไปทั่วโลกของทีมข่าว CCTV สถานีโทรทัศน์ของทางการจีน
จึงอย่าแปลกใจที่สองสามวันมานี้จะมีป้ายขนาดใหญ่หนุนสร้าง “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ถูกนำไปติดตามสะพานลอยเส้นทางสายหลักเข้าตัวเมืองสตูล อันเป็นความต่อเนื่องจากข่าวเล็กๆ เกี่ยวกับสำนักนโยบายและแผ่นสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไฟเขียวการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการ “เส้นทางรถไปขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม” เชื่อมระหว่างท่าเรือข้างต้นฝั่งอันดามันไปยัง “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งเมื่อรวม“ถนนมอเตอร์เวย์” และ “ระบบท่อน้ำมัน-ท่อก๊าซ” ก็จะครบองค์ประกอบของ “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล”ที่กำลังตั้งหน้าผลักดันให้สร้างขึ้น
สำหรับแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูลนั้น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี 1 ในแกนนำ คสช.ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ เคยกล่าวไว้ชัดเจนว่าเป็น “เอนเนอยีแลนด์บริดจ์” หรือ “สะพานเศรษฐกิจด้านพลังงาน” นั่นเอง
ทั้งหมดทั้งปวงเมื่อรวมกับเมกะโปรเจกต์ด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วอย่าง “โรงแยกก๊าซ” และ“โรงไฟฟ้า 2 โรง” ที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช กับ “โรงแยก๊าซไทย-มาเลเซีย” และ “โรงไฟฟ้า 2 โรง” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา หรือที่อยากให้สร้างขึ้นตามมาติดๆ ไม่ว่าจะเป็น “โรงฟ้านิวเคลียร์-ถ่านหิน-ชีวิมวล” ที่กำหนดไว้หลายแห่งกระจายอยู่ทั่วภาคใต้ และ “โรงถลุงเหล็ก” ที่ อ.ระโนด จ.สงขลา เป็นต้น
นั่นหมายว่า เมกะโปรเจกต์เหล่านี้จะถูกใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเกิดขึ้นของ “ศูนย์กลางพลังงานโลก” ที่จะนำน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมากลั่นและส่งไปขายฝั่งเอกเชีย เพื่อจะได้แจ้งเกิด “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ต่อเนื่องตามมา แล้วจากนั้นตามด้วย “อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค” ที่สามารถทำให้กระจัดกระจายไปได้ทั่วภาคใต้
อันเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีแผนใช้ภาคใต้เป็นฐานตั้ง “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” หรือ “เซาเทิร์นซีบอร์ด” ซึ่งเป็นภาคขยายมาจาก “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก” หรือ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” ที่ทำหน้าที่เป็น “ศูนย์กลางพลังงานชาติ” มาอย่างต่อเนื่องเกือบครึ่งศตวรรษ
มีอีกข่าวที่เราอาจจะมองผ่านเลย หรือไม่ค่อยสนใจกับปรากฏการณ์นี้ เมื่อ 3-4 สัปดาห์มาแล้ว “รองฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” นำทัพโรดโชว์เชื้อเชิญกลุ่มทุนญี่ปุ่นถึงที่กรุงโตเกียว โดยหยิบเอา “อีสเทิร์นซีบอร์ด” ซึ่งอนาคตก็จะขยายลงมาสู่ “เซาเทิร์นซีบอร์ด” อีกทั้งเชื่อมโยงไปยัง “เขตเศรษฐกิจทวาย” ของเมียนมาร์ และโยงใยกับ“ท่าเรือน้ำลึก” และ “เขตเศรษฐกิจ” ตลอดชายฝั่งของเวียดนาม โดยวาดฝันเป็นพื้นที่อรุณรุ่งการพัฒนาในนาม “ระเบียงเศรษฐกิจ” แห่งใหม่ของโลกตะวันออก
เมื่อมองปรากฏการณ์ข่าวสารที่ผ่านมา แล้วเอามาเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราก็จะสามารถคาดการณ์ไปถึงอนาคตได้โดยไม่ยาก ซึ่งก็ไม่น่ามีอะไรซับซ้อน เพราะโดยบุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แม้จะมีภาพกระโชกโฮกฮาก และแม้จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่เต็มมือ แต่การบริหารบ้านเมืองก็ยังเป็นไปแบบมากด้วยสไตล์ “ระบบราชการ” ที่แทบไม่มีอะไรหวือหวา หรือผิดแผกแตกต่างไปจากรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา
มิพักต้องกล่าวถึงการขับเคลื่อนงาน “ปฏิรูป” ประเทศชาติในด้านต่างๆ ตามความคาดหวังของสังคม หรือแม้กระทั่งตามที่เคยประกาศไว้
ยิ่งเมื่อหันไปมอง “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” แม้จะคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจครึ่งหลังปีนี้จะหัวปักหัวปำลงอีก และน่าจะต่อเนื่องไปอีกหลายปี แต่เราก็ยังได้เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ยังเดินดุ่มๆ ไปในทิศทางที่เชื่อถือแบบไม่เคยแปรเปลี่ยนคือ เศรษฐกิจจะโงหัวได้ก็มีแต่ต้องหนุนให้เกิดการลงทุนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ๆ เท่านั้น พร้อมกับหาช่องเกื้อหนุนทุนใหญ่ไม่ให้แม้เพียงซวนเซ
อันเป็นเรื่องที่แสนจะปกติธรรมดาที่รัฐบาลไหนๆ ก็ไม่เคยที่จะหันไปให้ความสำคัญกับ “รากหญ้า” เป็นอันดับต้นๆ
ดังนั้นแนวรบใน “สนามศึกภาคใต้” สถานการณ์ที่ทอดรออยู่เบื้องหน้าของเหล่า “นักต่อสู้ภาคประชาชน” ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
ดังนี้แล้วผมจึงเชื่อมั่นว่า การทำให้ภาคประชาชนเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบด้าน สามารถเชื่อมโยง “อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต” ได้เป็นภาพต่อเนื่อง ทำนองเดียวกันมองปรากฏการณ์ได้ด้วย “สายตานก” ที่เห็นและเข้าใจ “ป่าทั้งป่า” แล้วเชื่อมโยงสู่ “สายตาหนอน” ที่เห็นและเข้าใจ “ใบไม้แต่ละใบ” สิ่งนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจองคาพยพของโครงการพัฒนาและผลกระทบที่จะตามมาได้กระจ่างชัด
แม้ชุมชนต่างๆ จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่ไม่เหมือนกัน ต่างพื้นที่ ต่างรูปแบบ และต่างความเดือนเนื้อร้อนใจ แต่ทุกชุมชุนก็จะเข้าใจได้ว่าล้วนเกิดจาก “ยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้กรอบคิดเดียวกัน” หากให้โครงการใดโครงการหนึ่งเดินหน้าสร้างได้ ย่อมต้องเป็นเงื่อนไขให้โครงการที่เหลือมีโอกาสสร้างได้เช่นเดียวกัน
หากปล่อยให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ที่ อ.เทพา จ.สงขลา โครงการแบบเดียวกันในที่อื่นๆ อย่างที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา, อ.ปานาเราะ จ.ปัตตานี, อ.กันตรัง จ.ตรัง, จ.สตูล, จ.กระบี่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร หรือกระทั่ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ก็ไม่ยากที่จะแจ้งเกิด แล้วโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงถลุงเหล็ก กระทั่งอภิมหาโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูลก็จะติดตามา ต่อด้วยโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ อันเป็นเงื่อนไขให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แล้วในที่สุดก็ส่งต่อวัตถุดิบให้เกิดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคและบริโภคได้กลาดเกลื่อนเต็มแผ่นดินภาคใต้
มีแต่ทุกชุนชมที่ได้รับผลกระทบที่ต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมพลังให้เข็มแข็งแล้วลุกขึ้นต่อกรกับการพัฒนาที่ไม่ธรรมาภิบาล และไม่ใช่แค่เฉพาะนักต่อสู้ภาคประชาชนคนใต้เท่านั้นที่จะช่วยเหลือกัน กรณีปัญหาแบบเดียวกันในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในเมืองหลวงเวลานี้ ต่างก็อยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเดียวกันไม่ใช่หรือ..?!