xs
xsm
sm
md
lg

“การพัฒนาจะต้องไม่ทำให้ประชาชนเป็นศัตรูกัน” ศิลปินแห่งชาติชาวสงขลาบอกกับคนเทพา / สมบูรณ์ คำแหง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ ชาวเทพา จ.สงขลา
 
โดย...สมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการ กป.อพช.ใต้
 --------------------------------------------------------------------------------
 
“การพัฒนาจะต้องไม่ทำให้ประชาชนเป็นศัตรูกัน”
เป็นคำกล่าวอันแสนกินใจของ มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ ชาวเทพา จังหวัดสงขลา
 
ผมไม่เคยรู้จักท่านในนามนี้มาก่อน แต่นามปากกาว่า “นิพพาน” ผู้รจนางานเขียนอมตะที่ชื่อว่า “ผีเสื้อและดอกไม้” คือความคุ้นเคยมากกว่า ด้วยงานเขียนที่ได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์อันโด่งดังในยุคหนึ่ง ซึ่งสะท้อนถึงวิถีของชุมชนมุสลิมรายทางรถไฟชายแดนใต้ในยุคนั้น โดยเฉพาะมุมสะท้อนกลุ่มเด็กผู้หญิง ผู้ชายวัยรุ่นขณะนั้น ที่สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยการขนสินค้าหนีภาษีระหว่างประเทศไทย และมาเลเซีย ผ่านระบบการขนส่งของรถไฟ ซึ่งยังเป็นรายได้ที่เด็กยุคนั้นสามารถใช้เลี้ยงดูคนในครอบครัวได้อีกด้วย และนั่นคือเหตุการณ์จากชีวิตจริงที่ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ได้สะท้อนออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
 
หากสิ่งที่ผมจะขยายความในวันนี้หาใช่รายละเอียดของเรื่องราวจากงานเขียนชิ้นนี้ไม่ แต่คือคมคำเพียงสั้นๆ ที่ศิลปินท่านนี้ได้กล่าวไว้ในเวทีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เชิญท่านไปพูด เพื่อสร้างความชอบธรรมอะไรบางอย่างให้แก่องค์กรที่กำลังรุกรานถิ่นฐานบ้านเกิดของพี่น้องชาวเทพา อันเป็นเพื่อนร่วมบ้านเกิดเมืองนอนเดียวกันกับท่าน มกุฎ อรฤดี นั่นเอง
 
การตักเตือนผ่านคำพูดของท่านที่ทิ้งไว้อย่างชวนคิด ในโอกาสนั้น เสมือนว่าจะส่งผ่านไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ของ กฟผ. หรืออาจจะรวมถึงรัฐบาลด้วยคำว่า “การพัฒนาจะต้องไม่ทำให้ประชาชนเป็นศัตรูกัน” มันช่างเป็นคำที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้เสียจริง เพราะไม่ใช่แค่เหตุการณ์ของพี่น้องเทพา ที่กำลังจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่แบบที่คนในพื้นที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างสองขั้วความคิดเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงโครงการพัฒนาอื่นๆ ที่กำลังรุกคืบแผ่นดินภาคใต้อยู่ในเวลานี้อีกหลายพื้นที่
 
ฝ่ายสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีการกล่าวถึงกลุ่มที่ออกมาคัดค้านนี้ว่า มีเอ็นจีโอชักใยเบื้องหลัง หวังต่อต้านการพัฒนา มีผลประโยชน์แอบแฝง และอยากใช้ความรุนแรงโดยการเชื่อมโยงเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้ากับสถานการณ์ชายแดนใต้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ฝ่ายค้านเหล่านั้นก็คือ คนในหมู่บ้านที่จะถูกยึดคืนพื้นที่เพื่อเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้า ครูบาอาจารย์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชายแดนภาคใต้ ผู้ซึ่งมีข้อมูล และมีเหตุผลของความเลวร้ายของการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า อันเป็นที่ประจักษ์ของคนทั้งโลก จึงร่วมกันแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยที่จะนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงสร้างโรงไฟฟ้า
 
ส่วนฝ่ายค้าน หรือคนไม่เอาถ่านหิน หรือในสายตาของคนทั่วไปก็รู้สึกได้ว่า “กลุ่มสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” มีผู้ชักใยสำคัญคือ กฟผ. หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อย่างหนีไม่พ้น เพราะเห็นได้ถึงกระบวนการสนับสนุนที่ถูกจัดสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการลงทุนในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การตุกติกในกระบวนการของการจัดทำ EHIA หรือการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า การจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.1, ค.2, ค.3) ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจนักหนาของ กฟผ. จนถึงขั้นเรียกผลงานชิ้นนี้ว่า “เทพาโมเดล” ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งนั้นก็คือ กระบวนการปล้นจี้อันเลือดเย็นที่สุด โดยการใช้เงินเพียงน้อยนิด เหยียบย่ำศักดิ์ศรีพี่น้องชาวเทพาอย่างไม่สนใจไยดี
 
และสิ่งที่หน่วยงานอย่าง กฟผ. กำลังกระทำผ่านบุคลากรขององค์กรที่ไร้ซึ่งความคิดอ่าน และความเข้าใจต่อคำว่า “ถิ่นฐานบ้านเกิด” ด้วยการเสี้ยมสอนให้พี่น้องเทพาด้วยกันเองแบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่ายทางความคิด ความเชื่อ และพร้อมที่จะส่งเสริมให้คนทั้งสองฝ่ายเกิดวิวาทะต่อกัน เพียงเพื่อให้องค์กรของตนได้บรรลุประโยชน์ และกลับโยนความผิด ความชั่วร้ายของตนเองให้แก่องค์กรพัฒนาเอกชน ที่เรียกว่า NGO จนถึงขั้นให้ร้ายป้ายสีอย่างหน้าไม่อาย อย่างเช่น ngo บางคนซึ่งไม่เคยย่างกรายเข้าพื้นที่เทพามาก่อน ก็กลับถูกกล่าวหาอย่างเสียๆ หายๆ โดยคนของ กฟผ.ไปแล้ว ร้ายไปกว่านั้นคือ การปลูกฝังความเกลียดชังให้ชาวบ้านอีกฝ่ายเข้าใจไปว่า ngo คือ กลุ่มคนที่ดูแล้วร้าย เป็นพวกก่อความรุนแรง และทำให้ดูเกลียดชังจนสิ้นไร้เหตุผล ไร้การแยกแยะ
 
คนกลุ่มนี้กลับไม่รู้สึกรู้สาถึงความรัก ความหวงแหนบ้านเกิดเมืองนอนของคนเทพา ที่เขาพยายามกู่ตะโกนให้เห็นถึงความเลวร้าย จากสิ่งที่เรียกว่า “ถ่านหิน” อันเป็นความชัดเจนว่า เขาเหล่านี้ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาแต่อย่างใด และไม่ได้ปฏิเสธการใช้ไฟฟ้า หรือแม้แต่จะเป็นศัตรูกับพี่น้องด้วยกันเอง หากแต่ข้อเรียกร้องของชาวเทพากลุ่มนี้กลับถูกเบียดบังจากคนของ กฟผ. และยักษ์ผู้อยู่เบื้องหลังที่เรียกว่านายทุนค้า “ถ่านหิน” นั่นเอง
 
ต่อคำกล่าวของ มกุฏ อรฤดี ที่ว่า “.......อย่าทำให้ประชาชนเป็นศัตรูกัน จึงเป็นเพียงเสียงที่เล็ดลอดผ่านสายลมบนเวทีในวันนั้น ซึ่งคนกลุ่มที่ได้เชิญท่านไปไม่ได้สนใจไยดีต่อคำกล่าวนั้นแต่อย่างใด แต่กลับสวนทางความคิดนั้นด้วยการมุ่งหวังที่จะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นด้วยซ้ำไป หรือนี่คือแนวทางที่รัฐและทุนกำลังจับมือกันเพื่อจะรุกคืบชุมชนท้องถิ่นทั่วไปในภาคใต้ขณะนี้ ซึ่งหมายรวมถึงเหตุการณ์ที่ใกล้จะเกิดขึ้นที่อ่าวปากบารา จังหวัดสตูล นั้นด้วยใช่หรือไม่
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น