xs
xsm
sm
md
lg

แลกหมัด! “เลขาฯ กป.อพช.ใต้” สวนหมัดต่อหมัด “วัส ติงสมัตร” ย้ำ 5 ข้อที่ 58 องค์กรใต้ให้ปลดจากประธาน กสม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมบูรณ์ คำแหง (ซ้าย) วัส ติงสมิตร (ขวา)
 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “สมบูรณ์ คำแหง” เลขาธิการกป.อพช.ใต้ ออกจดหมายเปิดผนึกสวนคลิปแก้ตัว “วัส ติงสมิตร” ประธาน กสม. แบบหมัดต่อหมัด ยก 5 ข้อยันกลับว่าทำไมภาคประชาชน 58 องค์กรจึงออกแถลงการณ์ตำหนิและให้ปลดจากตำแหน่ง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 ส.ค.) นายสมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งนอกจากจะส่งให้สื่อมวลชนต่างๆ แล้ว ยังได้มีการนำไปโพสต์ไว้บนหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า Somboon Khamhang โดยมีเนื่องหาดังนี้
 
จาก “ผู้ดำเนินรายการกลุ่มย่อยที่ 5” เวที กสม.พบประชาชนภาคใต้ ถึง “วัส ติงสมิตร” ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ
 
จากคำแถลงผ่านคลิปวีดีโอของท่านเมื่อวาน (26 ส.ค.2559) ที่พยายามอธิบายถึงเหตุผลของตน ต่อกรณีเครือข่ายประชาชนภาคใต้ 58 องค์กรได้ออกแถลงการณ์ร่วม เพื่อตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ และเสนอให้เปลี่ยนตัวท่านออกจากตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยเหตุจากท่าทีอันไม่เหมาะสมของท่านในฐานะประธาน กสม.ที่ปิดกั้นการแสดงออกของภาคประชาชน ที่ตั้งใจออกแถลงการณ์ผ่านสื่อมวลชนไปยังรัฐบาล ต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิทั่วไปในภาคใต้นั้น
 
ท่านได้พยายามแก้ต่างต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ต่อหน้าประชาชนนับร้อยๆ คนในห้องประชุมขนาดใหญ่
 
ณ โอกาสนี้ ผมไม่ได้ต้องการจะโต้เถียงกับท่านในข้อกล่าวอ้างต่างๆ ที่ท่านยกขึ้นมา เพราะผู้คนจำนวนมากที่อยู่ในห้องประชุม รวมถึงสื่อมวลชนอีกหลายสำนัก ต่างล้วนเป็นประจักษ์พยานได้ว่าเหตุการณ์แท้จริงเป็นเช่นไร
 
แต่ผมจะพยายามชี้แจงให้ท่านได้เข้าใจว่า ทำไมภาคประชาชน 58 องค์กร (หรืออาจจะมากกว่านั้น หากได้ร่วมรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น) จึงออกแถลงการณ์ตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของท่าน ในฐานะประธาน กสม. และให้ปลดจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
 
1. ผู้ทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องพูดความจริง มีเหตุมีผล และไม่ให้ร้ายผู้อื่น หากแต่ในคำแถลงตอบโต้ของท่านผ่านคลิปวีดิโอ กลับเห็นถึงเป็นสิ่งตรงข้าม เพราะท่านอ้างว่าการจัดเวที “กสม.พบประชาชน” ในภาคอื่นๆ ที่ได้จัดไปก่อนหน้านี้นั้น ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ไม่เหมือนเวทีทางภาคใต้
 
ผมจึงขอให้ท่านย้อนคิดอย่างมีสติว่า เหตุการณ์ที่ภาคอีสานเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา หลังจบเวทีแล้วทางภาคประชาชนได้ขออ่านแถลงการณ์ต่อการถูกละเมิดสิทธิในภาคอีสานโดยรวม ด้วยต้องการให้กรรมการสิทธิฯ ทุกท่านรับฟังเพื่อทราบด้วย แต่ท่านกลับไม่สนใจอยู่รับฟัง โดยอ้างว่าติดภารกิจต้องรีบเดินทาง และท่านยังสั่งให้เจ้าหน้าที่ปิดไมโครโฟน เพื่อไม่ให้มีการใช้เสียงในเวทีนั้น จนสร้างความมึนงงสงสัยแก่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน แต่ชาวบ้านภาคอีสานก็ยังพยายามอ่านแถลงการณ์ไปจนจบ
 
อีกกรณีหนึ่งคือ ในคลิปวิดีโอนั้น คำกล่าวช่วงท้ายของท่านยังทิ้งประเด็นแบบมีเงื่อนงำว่า เวทีภาคใต้มีเบื้องลึกเบื้องหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่จะไม่ขอเปิดเผย ซึ่งวิธีการกล่าวลักษณะนี้ มิน่าจะเป็นวิสัยของผู้นำองค์กร ซึ่งทำหน้าที่อยู่ เสมือนเป็นการให้ร้ายกับฝั่งของภาคประชาชนทั้งหมดว่า กระทำไปเพราะมีเบื้องหลัง
 
2. บทบาทของประธานกรรมการสิทธิฯ ต้องพร้อมรับฟังข้อมูลทุกด้าน จากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ ต่อเรื่องการละเมิดสิทธิของประชาชน และต้องพร้อมเปิดพื้นที่การสื่อสารในเรื่องนี้ต่อสาธารณะ แต่ท่านประธาน กสม.คนปัจจุบันนี้ กลับปฏิเสธการรับฟัง มิหนำซ้ำยังแสดงท่าทีรำคาญ และใช้อำนาจปิดกั้นการให้ข้อมูลและการแสดงออกของประชาชนต่อสาธารณะ โดยอ้างว่าได้มีการพูดเรื่องนี้กันมากแล้วในกลุ่มย่อย
 
โดยเฉพาะกลุ่มย่อยที่ 5 ของเวทีภาคใต้ที่ผ่านมา ที่คนๆ นั้นผู้ดำเนินการกลุ่มย่อยที่ 5 ก็รู้เรื่องทั้งหมดดีอยู่แล้ว เพราะเป็นคนดำเนินการประชุมเอง แล้วทำไมต้องมาแถลงการณ์อะไรอีก ซึ่งคนๆ นั้น ผู้ดำเนินรายการกลุ่มย่อยที่ 5 ของเวทีภาคใต้คือ “กระผม” เอง เป็นใครอื่นไปไม่ได้
 
ผมจึงคิดว่าท่านคงไม่เข้าใจคำว่า “แถลงการณ์” ครับ เพราะเนื้อหาสาระในการดำเนินการกลุ่มย่อยนั้น เป็นการระดมข้อเสนอว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรจะทำ หรือไม่ควรจะทำอะไร ต่อการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยแยกประเด็นปัญหาออกไปเป็นกลุ่มย่อย
 
ส่วนการแถลงการณ์นั้นคือ การรวมรวมประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิในพื้นที่ภาคใต้ ที่เกิดขึ้นมากมาย หลายเรื่องมาประมวลไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อสื่อสารไปยังรัฐบาลว่า รัฐบาลควรทำ หรือไม่ควรทำอะไร เพื่อลดหรือยุติปัญหาการละเมิดสิทธิในพื้นที่ภาคใต้ ที่กำลังดำเนินอยู่ หรือที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
 
ซึ่งชัดเจนว่าเนื้อหาสาระใน “กลุ่มย่อย” กับ “แถลงการณ์” นั้นมีบริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งดูเหมือนท่านประธาน กสม.จะไม่เข้าใจ
 
สมบูรณ์ คำแหง บนเวที กสม.พบประชาชนภาคใต้
 
3. ผมคิดว่า ท่านวัส ติงสมิตร นั้นเหมาะสมต่อการเป็นผู้พิพากษา ซึ่งเป็นหน้าที่การงานเดิมของท่าน มากกว่าการเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยบทบาทของท่านในหน้าที่เดิม ได้ทำให้ท่านเจริญรุ่งเรืองในฐานะผู้พิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีปกครอง คดีทรัพย์สินทางปัญญา คดีเลือกตั้ง และอีกหลายคดี
 
จากที่ผมได้คลุกคลีอยู่กับกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ชุดแรก จนถึงปัจจุบันนี้ ผมได้พบเห็นรูปแบบที่ดีงามของคณะกรรมการสิทธิฯ ในอดีต หลายท่านที่แสดงให้เห็นถึงหัวใจนักสิทธิมนุษยชนมืออาชีพ ที่มีหัวใจเปิดกว้างพร้อมที่จะรับฟังข้อมูลปัญหาในทุกรูปแบบอย่างสนใจและเอาใจใส่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิอย่างเข้าใจอกเข้าใจประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิ มิใช่กลายเป็นผู้ปิดกั้นการแสดงออกและละเมิดสิทธิของประชาชนเสียเอง 
 
4. ท่านกำลังจะเปลี่ยนบทบาทขององค์กร ผู้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ และส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ไปสู่องค์กรแบบผู้พิพากษา โดยการนำหลักคิดวิธีการ “ไกล่เกลี่ย” เข้ามาใช้ในการจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชนและชุมชน ที่ถูกกระทำซ้ำมาหลายครั้งหลายครา เป็นปัญหาที่หมักหมมคาราคาซังต่อเนื่องยาวนานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
 
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วหลักการไกล่เกลี่ยนั้น เป็นเครื่องมือสำหรับความข้อขัดแย้งที่ได้มีการฟ้องร้องกันทางคดีความ หรือคดีแพ่ง แต่การร้องเรียนกรณีการถูกละเมิดสิทธิของคนผู้หนึ่ง โดยคนอีกผู้หนึ่งนั้น จะแปรเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบไปตามข้อร้องเรียนนั้นๆ ว่า การละเมิดสิทธินั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่
 
ไม่ใช่จะมาเป็น “กาวใจ” ให้คนปรองดองกัน เพราะนั่นไม่ใช่หน้าที่คณะกรรมการสิทธิฯ
 
5. ภาวะผู้นำของผู้ที่จะมาเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันเป็นองค์กรอิสระที่มีเกียรติภูมิระดับประเทศ โดยการโปรดเกล้าแต่งตั้งจากพระปรมาภิไธยนั้น สมควรต้องเป็นบุคคลที่มีความสง่างาม ทั้งภูมิความรู้และภูมิปัญญาที่ลุ่มลึก มีการแสดงออกทางความคิดความเห็น และบุคลิกลักษณะที่มีวุฒิภาวะ มีความสุภาพ สุขุมรอบคอบ มีหัวใจที่เปิดกว้างต่อการรับฟัง และต้องเป็นนักบริหารที่สามารถนำพาองค์กรให้สัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์แห่งหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง
 
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และจากพฤติกรรมที่ ท่านวัส ติงสมิตร ได้แสดงบทบาทในการประชุมเวที กสม.พบประชาชนในภาคต่างๆ และโดยเฉพาะเวทีภาคใต้ ได้เป็นที่ประจักษ์กับเครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ทั้ง 58 องค์กรมาแล้วนั้น
 
ผมซึ่งก็คือ “คนๆนั้น” ผู้ดำเนินรายการกลุ่มย่อยที่ 5 เวที กสม.พบประชาชนภาคใต้ เห็นว่าเป็นเหตุผลที่มากเพียงพอแล้วที่ยืนยันว่า ท่านวัส ติงสมิตร ไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น