xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ลงตรวจข้อเท็จจริงชาวบ้านร้องเรียน กฟผ.ผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ละเมิดสิทธิชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะอนุกรรมการสิทธิ ด้านพลเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่รับทราบข้อเท็จจริง หลังชาวบ้านร้องเรียนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยการผลักดันของ กฟผ.มีการละเมิดสิทธิชุมชนหลายด้าน

วันนี้ (3 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมการสิทธิ ด้านพลเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงกรณีการละเมิดสิทธิชุมชนจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2559 ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ศูนย์ประสานงานหน่วยพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น ได้จดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชนจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยระบุว่า
 

 
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัตต์ ตั้งบนพื้นที่ 3,000 ไร่ ใช้ถ่านหินมาเผาวันละ 23 ล้านกิโลกรัม ใช้น้ำทะเลในกระบวนผลิตวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างท่าเรือขนถ่ายถ่านหินยื่นไปในทะเลถึง 3 กิโลเมตร อันกระทบต่อวิถีประมงพื้นบ้าน โครงการดังกล่าวส่งผลเสียรุนแรงต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีวัฒนธรรมชุมชน และตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ที่ กฟผ. และกระทรวงพลังงาน ได้ผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชนอย่างชัดเจน กล่าวคือ
 

 
1.โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า 240 ครัวเรือนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้มีข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจ ทั้งหมดไม่ได้อยากย้าย แต่จำใจด้วยความเกรงกลัวต่ออำนาจ และอิทธิพล 2.นอกจากการบังคับย้ายครัวเรือนแล้ว ยังมีมัสยิด 2 แห่ง กุโบร์ (สุสาน) 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนปอเนาะอีก 1 แห่ง อยู่ในใจกลางพื้นที่ก่อสร้างซึ่งต้องย้ายออกไป ด้วยกระแสการคัดค้านที่รุนแรงของประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ ทาง กฟผ.ได้มีหนังสือยืนยันที่จะไม่ย้ายมัสยิด และสุสาน แต่จะอนุรักษ์ไว้ อย่างไรก็ตาม โครงการต้องถมดินสูง 5-8 เมตร ชุมชนต้องย้ายออกหมด การอนุรักษ์ไว้จึงเหลือเพียงซากอาคารที่ขาดจิตวิญญาณของความศรัทธา ซึ่งกระทบต่อหลักศรัทธาของประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่ง
 

 
3.โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไม่ได้ใส่ใจในสิทธิชุมชนของคนอำเภอหนองจิก หรือคนปัตตานีแม้แต่น้อย ทั้งในกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ก็ไม่ได้มีการศึกษาให้ครอบคลุมพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ทั้งๆ ที่มลพิษนั้นสามารถแพร่กระจายไปถึงได้ จึงควรที่จะมีการศึกษา EHIA ใหม่ทั้งหมด 4.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา ทั้งการทำ ค.1 ค.2 และ ค.3 มีความฉ้อฉล มีการซื้อเสียงด้วยการแจกสิ่งของในเวที ค.1 ไม่มีการรับฟังกลุ่มเห็นต่างในการทำเวที ค.2 และมีการใช้กำลังปิดกั้นการมีส่วนร่วมในเวที ค.3 รวมทั้งไม่มีการจัดเวทีสร้างการรับรู้ หรือการรับฟังความคิดเห็นใดๆ ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แม้แต่ครั้งเดียว ถือเป็นการละเลยสิทธิชุมชนในการกำหนดอนาคตตนเอง ซึ่งเป็นวาระที่สำคัญที่สุดของคนชายแดนใต้ที่ต่อสู้ในสิทธินี้ในท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบ จึงควรที่จะให้ กฟผ.เริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ทั้งหมด
 

 
5.มีการใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่แกนนำของฝ่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่น กรณีที่ นายเกษม รามัญเศษ นายก อบต.ปากบางเทพา ซึ่งเป็นแกนสำคัญในการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้เดินทางพร้อมพวกโดยรถกระบะ 1 คัน รถเก๋ง 1 คัน ไปยังบ้าน นายมิด ชายเต็ม ลูกบ้านของนายก อบต.ปากบางเทพา เมื่อเวลา 01.15 น.ของวันที่ 17 ธันวาคม 2558 โดยมีการข่มขู่ กระทืบประตูบ้าน และยิงปืนขึ้นฟ้า ปัจจุบัน คดีดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดี 6.พื้นที่เทพา และชายแดนใต้มีปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะเป็นภัยแทรกซ้อนที่สำคัญ และเป็นเงื่อนไขใหม่ต่อการปะทุของสถานการณ์ความไม่สงบได้ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญยิ่งที่ยังไม่มีหน่วยงาน หรือองค์กรอิสระใดๆ เข้ามาประเมิน หรือตรวจสอบความเหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์แต่อย่างใด
 

 
เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS) และศูนย์ประสานงานหน่วยพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน และนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล จึงขอร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้รับเรื่องราวร้องทุกข์ของเครือข่ายฯ บันทึกเสนอในข้อร้องเรียนของสำนักงานฯ และแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อลงพื้นที่ฟังเสียงที่แท้จริงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดข้างต้น เพื่อปกป้องสิทธิชุมชน ปกป้องสิทธิมนุษยชน มิให้ถูกละเมิดจากกลุ่มทุน และอำนาจรัฐที่สมคบคิดกัน และอย่าให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากลายเป็นภัยแทรกซ้อนใหม่ที่จะทำให้สถานการณ์การสร้างสันติสุขในพื้นที่ต้องถอยหลัง
 

 
นอกจากนี้ ในวันที่ 4 มี.ค.2559 ทางเครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยังได้ยื่นจดหมายอีกฉบับขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจสอบการละเมิดสิทธิในการใช้ที่ดินหมู่ที่ 4 บ้านคลองประดู่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยระบุว่า
 

 
จากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เข้าดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในหมู่ที่ 4 บ้านคลองประดู่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา โดยจะใช้ที่ดินเกือบ 3,000 ไร่นั้น ทางเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินและศูนย์ประสานงานหมู่ที่ 4 บ้านคลองประดู่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ได้รับข่าวเรื่อง กฟผ.จะขอใช้ที่ดินในพื้นที่หมู่ 4 บ้านคลองประดู่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 

 
ทางศูนย์ประสานงานหมู่ที่ 4 จึงขอคัดค้านการใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับการใช้ประโยชน์ของชุมชนแห่งนี้ หมู่บ้านนี้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นระยะเวลานานกว่า 100 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถโอนเป็นกรรมสิทธิ์ที่ถูกต้องได้ด้วยเหตุผลไม่ชัดเจนของเจ้าหน้าที่รัฐ เดิมพื้นที่แหล่งนี้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า มีทุ่งหญ้าเป็นส่วนใหญ่ หลังจากชาวบ้านได้ใช้พื้นที่แหล่งนี้ในการดำรงชีวิตทำมาหากิน และสร้างบ้านเรือน เข้าอยู่อาศัย ทำการเกษตรชีวภาพแบบเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกไม้ยืนต้น ทำให้ที่ดินบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์จนเป็นแหล่งทำมาหากินเลี้ยงชีวิต และครอบครัว จนเป็นชุมชนใหญ่ที่มีครัวเรือน มากกว่า 200 ครัวเรือนถึงปัจจุบัน
 

 
นอกจากการใช้ประโยชน์ที่ดินในการดำรงชีวิตแล้ว ชุมชนที่นี่ได้สืบสานวัฒนธรรมประเพณีเพื่อเป็นจุดศูนย์กลางในการใช้ประโยชน์ร่วมกันคือ การสร้างกุโบร์ (สุสาน) และมัสยิด ซึ่งสุสาน หรือกุโบร์เป็นสถานที่ฝังศพของมุสลิม เป็นสถานที่สาธารณะที่สำคัญของชุมชนเช่นกัน อิสลามได้กำหนดกรอบแนวปฏิบัติต้องให้ความเคารพ และให้เกียรติสุสาน หรือกุโบร์ในฐานะที่เป็นสาธารณะสมบัติของชุมชน

หลักศาสนาอิสลามส่งเสริมให้มีการเยี่ยมสุสาน ด้วยวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ ประการที่ 1. เพื่อเยี่ยมญาติ หรือบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการให้สลาม ขอพร หรืออ่านกุรอานเพื่อเป็นความดีแก่สมาชิกในกุโบร์ เป็นการช่วยเหลือทางอ้อมแก่สมาชิกในกุโบร์ 2.เพื่อให้ผู้ไปเยี่ยมกุโบร์ได้สำรวมตนเอง พินิจพิจารณาการดำรงชีวิตของตนที่ผ่านมา ตระหนักว่า ชีวิตของตน และของทุกคนจะต้องไปสู่โลกของกุโบร์ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ต้องเตรียมตัวด้วยการสารภาพผิด และการประกอบศาสนกิจที่กำหนดให้มุสลิมทุกคนต้องประกอบก่อนจากโลกนี้ไป
 

 
ในส่วนมัสยิด หรืออาจจะเรียกชื่ออย่างอื่น เช่น สุเหร่า บาลัยเซาะฮฺ มูซอลลา เป็นต้น ล้วนเป็นสถานที่ใช้ประกอบศาสนกิจ ท่านศาสดามุหัมมัด ได้กล่าวว่า มัสยิดเสมือนบ้านของอัลลอฮฺ ผู้ที่เข้ามัสยิดจะเสมือนเข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺ เป็นสถานที่ทำกิจกรรมของพี่น้องมุสลิมเพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น ละหมาด สอนหลักการศาสนาแก่สมาชิกในชุมชน และเน้นกิจกรรมทางศาสนาเป็นสำคัญ
 

 
ดังนั้น เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินและศูนย์ประสานงานหมู่ที่ 4 จึงใคร่ขอให้ทางประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ช่วยตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมนในการที่ กฟผ.จะมาใช้ที่ดินในพื้นที่ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และขอคัดค้านการใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามาทับซ้อนในพื้นที่ทำกิน พื้นที่กุโบร์ และมัสยิดของหมู่ที่ 4 บ้านคลองประดู่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา

นอกจากนี้ ชาวบ้านในชุมชนได้บริจาคที่ หรือการวากัฟที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนสอนศาสนา ชื่อโรงเรียนมูลนิธิอิตีซอมวิทยา ทราบข่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้ต้องการขายให้ กฟผ.ซึ่งผิดหลักการ และเจตนารมณ์ของชาวบ้านที่ร่วมกันบริจาคเพื่อให้ลูกหลานได้มาเรียนที่นี่ อีกทั้งทางโรงเรียนไม่เคยให้ชุมชนมามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นว่าต้องให้ย้าย และขายหรือไม่ ซึ่งเป็นการเข้าข่ายแสดงเจตนารมณ์ที่ไม่บริสุทธิ์ในที่ดินวากัฟนี้
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น