ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ย้ำ 10 เหตุผลที่คนไทยต้องคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน วอนคน กทม.เข้าใจ พร้อมเขียนจดหมายเปิดผนึก และแถลงการณ์ต่อกรณีการไม่ปกป้องสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญฉบับร่าง และบทเรียนจากความฉ้อฉลและการไม่เคารพสิทธิชุมชนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พร้อมเดินหน้าคว่ำ รธน.หากยังไม่เคารพสิทธิชุมชน
วันนี้ (15 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก และแถลงการณ์ต่อกรณีการไม่ปกป้องสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญฉบับร่าง และบทเรียนจากความฉ้อฉลและการไม่เคารพสิทธิชุมชนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เนื้อหาระบุว่า
เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่อง ขอให้คืนสิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญ และยุติความฉ้อฉลไม่เคารพสิทธิชุมชนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เรียน ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธุ์
รัฐธรรมนูญที่ประชาชนคาดหวังต้องมีหลักการสำคัญประการหนึ่ง คือ การปกป้องสิทธิชุมชนเพราะชุมชนคือ ฐานชีวิตฐานวัฒนธรรม และฐานทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย แต่ปรากฏว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย กลับละเลย และไม่ได้มีการระบุถึงสิทธิชุมชนอย่างเพียงพอสำหรับการส่งเสริมให้ชุมชนมีภูมิต้านทานต่ออำนาจรัฐ และอำนาจทุนที่จะเข้ามาฉกชิงวิ่งราวทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีวัฒนธรรมอันดีงามไปจากชุมชน
บทเรียนจากการผลักดัน “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนั้น สะท้อนชัดเจนว่า ชุมชนต้องการการระบุสิทธิชุมชนที่ชัดเจน และต้องได้รับการปกป้องในรัฐธรรมนูญ หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า “ขอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เห็นหัวของชาวบ้าน และชุมชนบ้าง อย่าเห็นแต่หัวรัฐราชการ และนายทุน”
โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เป็นต้นกำเนิดมลพิษขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ แต่การผลักดันโครงการของ กฟผ.ไม่มีการเคารพสิทธิชุมชนแม้แต่น้อย ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า240 ครัวเรือน กระทบต่อมัสยิด และกุโบร์ (สุสาน) 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนปอเนาะอีก 1 แห่ง ซึ่งต้องย้ายออกไป กระทบต่อหลักศรัทธาของประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่งทะเลจะถูกทำลาย ประมงพื้นบ้านอาจสาบสูญ มลพิษทางอากาศจะแพร่กระจายไปไกล โครงการดังกล่าวยังได้สร้างความแตกแยกในชุมชน กฟผ.ใช้เงินซื้อทุกอย่าง ใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่ อีกทั้งพื้นที่เทพา และชายแดนใต้ที่มีปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะเป็นภัยแทรกซ้อนที่สำคัญ เป็นเงื่อนไขใหม่ต่อการปะทุของสถานการณ์ความไม่สงบได้
ในขณะที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่ามาทั้งการทำ ค.1 ค.2 และ ค.3 มีความฉ้อฉลอย่างยิ่ง มีการซื้อเสียงด้วยการแจกสิ่งของในเวที ค.1 ไม่มีการรับฟังกลุ่มเห็นต่างในการทำเวที ค.2 และมีการใช้กำลังปิดกั้นการมีส่วนร่วมในเวที ค.3 รวมทั้งไม่มีการจัดเวทีสร้างการรับรู้หรือการรับฟังความคิดเห็นใดๆ ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แม้แต่ครั้งเดียว ทั้งๆ ที่ผลกระทบไปไกลถึง 100 กิโลเมตร
นี่คือบทเรียนแห่งความฉ้อฉลของการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาโดยไม่เคารพต่อสิทธิชุมชนเลยแม้แต่น้อย คำถามคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะสามารถแก้ปัญหาความฉ้อฉลในลักษณะดังกล่าวได้หรือ จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ชาวบ้านกินได้ได้อย่างไร ในเมื่อประเด็นสิทธิชุมชนไม่ได้มีความชัดเจนแต่อย่างใด
หากประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนไม่มีความชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ภาคประชาชนก็ย่อมไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) กล่าวว่า เครือข่ายฯ ต้องการสื่อสารกับคนทั้งประเทศให้เห็น และเข้าใจในเหตุผลว่าเหตุใดมีประชาชนจำนวนมากต้องลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งขาดความชอบธรรมในกระบวนการดำเนินโครงการ และเมื่อศึกษาถึงรายละเอียดพบว่า สิ่งที่จะตามมาจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินคือ ความล่มสลายของทรัพยากรชุมชน ทั้งคน พืช และสัตว์ต้องเผชิญต่อความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต คน และระบบนิเวศน ซึ่งจะปนเปื้อนสารพิษที่โรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยออกมาในแต่ละวินาที
“เราได้ทำข้อมูล 10 เหตุผลที่คนใต้ต้องคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อสื่อสารให้คนทั่วประเทศเข้าใจในฐานะประชาชนด้วยกันครับ เราไม่มีสิ่งแอบแฝงใดใดนอกจากต้องการความสงบร่วมเย็นอยากเห็นชุมชนพัฒนาไปในทิศทางที่ยั่งยืนเพื่อลูกหลานของพวกเราทุกๆ คน ถ้าภาคใต้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ แหล่งอาหารไม่ปนเปื้อนมลพิษ ภาคใต้ก็จะเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศได้ ส่วนเรื่องพลังงานไฟฟ้ายังมีทางออกอีกมากหากเราจะหันหน้ามาคุยกันเพื่อความยั่งยืนของประเทศเรา”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เครือข่ายฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเข้าร่วมเวทีวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เวทีหน้ารัฐสภาด้วย
(อ่านข้อมูล 10 เหตุผลที่คนไทยต้องค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากรูปภาพ)