ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ เดินหน้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือนายกฯ ค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และ ม.44 กับคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3-4
วันนี้ (16 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ได้เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้เพื่อยื่นหนังสื่อต่อนายกรัฐมนตรี หลังจากวานนนี้ได้เข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานนโยบายและแผน (สผ.) เรื่องประเด็นความไม่ชอบธรรมของกระบวนการจัดทำเวที ค.1 ค.2 และ ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา และการไม่มีส่วนร่วมของคนปัตตานี ข้อเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบในรัศมี 100 กิโลเมตร
ส่วนช่วงเช้าวันนี้เครือข่ายฯ ได้เข้ายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ประเด็นการใช้มาตรา 44 และคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3-4 และคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ส่วนในช่วงบ่ายเครือข่ายฯ จะเข้าร่วมเวทีนักศึกษาธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนักศึกษาและอาจารย์ และออกรายการสภาท่าพระอาทิตย์ ทางช่อง News 1
นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยเนื้อหาในหนังสือ ระบุว่า
สืบเนื่องจากการผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา โดย กฟผ.และรัฐบาล เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัตต์ ตั้งบนพื้นที่ 3,000 ไร่ ใช้ถ่านหินมาเผาวันละ 23 ล้านกิโลกรัม ใช้น้ำทะเลในกระบวนผลิตวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการดังกล่าวส่งผลเสียอย่างมากต่อประชาชนในพื้นที่ กล่าวคือ ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งตัวท่าเรือ และการใช้น้ำทะเล และปล่อยน้ำทิ้งลงทะเล ส่งผลต่อทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง การดำรงชีวิตของปูปลากุ้งหอย ทำลายการประมงพื้นบ้าน ทำให้ป่าชายเลนผืนสำคัญเสื่อมโทรมลงไป รวมทั้งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก อันจะทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น
ด้านสุขภาพ จากมลพิษทางอากาศจากฝุ่น โลหะหนัก สารไฮโดรคาร์บอน ที่ปล่อยออกมาตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะไม่เกินมาตรฐาน แต่ด้วยขนาดกำลังการผลิตที่ใหญ่มากทำให้จำนวนมลพิษสะสมในพื้นที่อย่างมาก ด้านสังคม ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า240 ครัวเรือน กระทบต่อมัสยิดและกุโบร์ (สุสาน) 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนปอเนาะอีก 1 แห่ง ซึ่งต้องย้ายออกไป กระทบต่อหลักศรัทธาของประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่ง
ด้านความมั่นคง โครงการดังกล่าวได้สร้างความแตกแยกในชุมชน จากการที่ กฟผ.ใช้เงินซื้อทุกอย่าง ใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่ อีกทั้งพื้นที่เทพา และชายแดนใต้มีปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะเป็นภัยแทรกซ้อนที่สำคัญ และเป็นเงื่อนไขใหม่ต่อการปะทุของสถานการณ์ความไม่สงบได้ ในปัจจุบัน กฟผ.ได้ส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้แก่ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว การศึกษาผลกระทบฯ ในรายงานของ กฟผ.นั้น ได้ใช้วิชามารในการจัดทำรายงานและไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย และวิชาการ กล่าวคือ
1.ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตร โดยมีเจตนาที่จะไม่ทำการศึกษาเข้าไปในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ทั้งๆ ที่หมู่บ้านแรกของปัตตานีห่างจากโครงการเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น อันแสดงถึงความไร้หลักวิชาการ ทั้งๆ ที่ผลกระทบนั้นไกลถึง 100 กิโลเมตร จึงควรที่จะตีกลับทั้งหมด เพื่อให้ไปทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพใหม่ให้ครอบคลุมรัศมี 100 กิโลเมตร 2.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งการทำ ค.1 ค.2 และ ค.3 มีความฉ้อฉล มีการซื้อเสียงด้วยการแจกสิ่งของในเวที ค.1 ไม่มีการรับฟังกลุ่มเห็นต่างในการทำเวที ค.2 และมีการใช้กำลังปิดกั้นการมีส่วนร่วมในเวที ค.3 รวมทั้งไม่มีการจัดเวทีสร้างการรับรู้ หรือการรับฟังความคิดเห็นใดๆ ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แม้แต่ครั้งเดียว จึงควรที่จะให้ กฟผ.เริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ทั้งหมด
ทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน และนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล จึงขอให้ทางท่านนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาสั่งการให้หยุดกระบวนการการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ฉ้อฉล ไม่มีหลักวิชาการ ไม่เป็นธรรมในทันที อย่าให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากลายเป็นภัยแทรกซ้อนใหม่ที่จะทำให้สถานการณ์การสร้างสันติสุขในพื้นที่ต้องถอยหลัง ลำพังภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้สร้างความทุกข์ความลำบากให้แก่ประชาชนมากพอแล้ว ทำไมต้องเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มากมายด้วยมลพิษ และการทำลายวิถีชุมชนมาซ้ำเติมคนพื้นที่อีก อย่าให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องหมดศรัทธาในรัฐบาล และกองทัพ ซึ่งจะยากที่กู้กลับคืนมา
ส่วนกำหนดการณ์การเคลื่อนไหวในวันต่อไป วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ช่วงเช้า เข้ายื่นหนังสือสำนักงานจุฬาราชมนตรี (ประเด็นมัสยิด กุโบร์ ที่ดินวะกัฟ และผลกระทบ) ช่วงบ่าย ยื่นหนังสือกรรมการสิทธิฯ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ช่วงเช้า เข้ายื่นหนังสือสหประชาชาติ, สถานทูตอินโดนีเซีย, สถานทูตมาเลเซีย (ประเด็นสันติภาพ) ช่วงบ่าย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม 19 กุมภาพันธ์ 2559 ออกรายการศูนย์กลางอิสลาม