xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มแล้ว! เดินต่อลมหายใจคนชายแดนใต้ หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน “ปัตตานี-สงขลา” (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายเดินหยุดถ่านหินจากปัตตานีถึงเทพา อ่านคำแถลงการณ์เชิญชวนประชาชนร่วมคัดค้านโครงการอัปยศ ระบุโรงไฟฟ้าถ่านหินสร้างความเสื่อมทรุดให้แก่สังคมทุกมิติ ซ้ำร้ายกระบวนการดำเนินการทุกขั้นตอนไร้ซึ่งความชอบธรรม

วันนี้ (8 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายเดินหยุดถ่านหิ นซึ่งมีตัวแทนของเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม ได้อ่านแถลงการณ์และเริ่มออกเดินจาก จ.ปัตตานี สู่ อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อรณรงค์คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยในแถลงการณ์เชิญชวนพี่น้อง ร่วมเดินเพื่อ “ต่อลมหายใจ คนชายแดนใต้” มีเนื้อหาระบุว่า
 

แถลงการณ์ร่วมเดิน "หยุดถ่านหิน : ต่อลมหายใจคนชายแดนใต้"โดยเครือข่ายนักศึกษา ม.อ. เพื่อความเป็นธรรม

โพสต์โดย พลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่ บน 7 เมษายน 2016

 
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา โดย กฟผ.และรัฐบาล เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัตต์ ตั้งบนพื้นที่ 3,000 ไร่ ใช้ถ่านหินมาเผาวันละ 23 ล้านกิโลกรัม ใช้น้ำทะเลในกระบวนผลิตวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการดังกล่าวส่งผลเสียอย่างมากต่อประชาชน อันได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งตัวท่าเรือ และการใช้น้ำทะเล และปล่อยน้ำทิ้งลงทะเล ส่งผลต่อทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง การดำรงชีวิตของปูปลากุ้งหอย ทำลายการประมงพื้นบ้าน ทำให้ป่าชายเลนผืนสำคัญเสื่อมโทรมลงไป รวมทั้งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล อันจะทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น

ด้านสุขภาพ จากมลพิษทางอากาศจากฝุ่น โลหะหนัก สารไฮโดรคาร์บอน ที่ปล่อยออกมาตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะไม่เกินมาตรฐาน แต่ด้วยขนาดกำลังการผลิตที่ใหญ่มากทำให้จำนวนมลพิษสะสมในพื้นที่จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างแน่นอน ด้านสังคม ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า240 ครัวเรือน หรือย้ายผู้คนนับพันคน กระทบต่อมัสยิด และกุโบร์ (สุสาน) 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนปอเน๊าะอีก 1 แห่ง ซึ่งต้องย้ายออกไป กระทบต่อหลักศรัทธาของประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่ง สภาพวิถีประมงพื้นบ้าน วิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ที่ใช้ชีวิตบนฐานเกษตรกรรมจะเสื่อมทรุด และสาบสูญ
 

 
ด้านความมั่นคง โครงการดังกล่าวได้สร้างแตกแยกในชุมชน จากการที่ กฟผ.ใช้เงินซื้อทุกอย่าง ใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่ อีกทั้งพื้นที่เทพา และชายแดนใต้มีปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะเป็นภัยแทรกซ้อนที่สำคัญ และเป็นเงื่อนไขใหม่ต่อการปะทุของสถานการณ์ความไม่สงบได้

ปัจจุบัน กฟผ.ได้ส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้แก่ทางสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว การศึกษาผลกระทบฯ ในรายงานของ กฟผ.นั้น ได้ใช้วิชามารในการจัดทำรายงาน และไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายและวิชาการ กล่าวคือ 1.ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตร โดยมีเจตนาที่จะไม่ทำการศึกษาเข้าไปในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ทั้งๆ ที่หมู่บ้านแรกของปัตตานีห่างจากโครงการเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น อันแสดงถึงความไร้หลักวิชาการ ทั้งๆที่ผลกระทบนั้นไกลถึง 100 กิโลเมตร
 

 
2.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งการทำ ค.1 ค.2 และ ค.3 มีความฉ้อฉล มีการซื้อเสียงด้วยการแจกสิ่งของในเวที ค.1 ไม่มีการรับฟังกลุ่มเห็นต่างในการทำเวที ค.2 และมีการใช้กำลังปิดกั้นการมีส่วนร่วมในเวที ค.3 รวมทั้งไม่มีการจัดเวทีสร้างการรับรู้ หรือการรับฟังความคิดเห็นใดๆในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แม้แต่ครั้งเดียว

ยิ่งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับรองรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการการพลังงานต่อข้อเสนอโรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเระ ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ยิ่งมีความชัดเจน จังหวัดปัตตานี และจังหวัดสงขลา จะอบอวลไปด้วยมลพิษของควันถ่านหิน ซึ่งอาจจะหนักกว่าควันระเบิด และควันปืน เพราะมลพิษจากถ่านหินนั้นปล่อยออกมาตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 40 ปี ซึ่งจะเกิดความเสื่อมโทรมต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ศาสนา และความแตกแยกในชุมชน
 

 
สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังเปราะบางมาก การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่เทพา และปานาเระ ด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีส่วนร่วมในการรับรู้ และการร่วมตัดสินใจของประชาชน ไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างครบถ้วนรอบด้าน ไม่สามารถตอบคำถามข้อสงสัยของชุมชนได้ แต่กลับไปใช้การแจกของ แจกเสื้อ แจกเงิน และใช้การดูงานเป็นเครื่องมือซื้อเสียงแทน รวมทั้งในช่วงหลังๆ ที่ทาง กฟผ.หันไปใช้ภาพของอำนาจทหารภายใต้ มทบ.42 มาสร้างภาพเพื่อกดพื้นที่ไม่ให้คัดค้าน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างเงื่อนไขต่อการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้อย่างยั่งยืน และต่อการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ด้วย

ด้วยเหตุที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีความฉ้อฉลมากมาย จึงขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนใต้มาร่วมเดิน “เพื่อต่อลมหายใจคนชายแดนใต้” ในวันที่ 8-10 เมษายน 2559 จาก ม.อ.ปัตตานี สู่บ้านคลองประดู่ อำเภอเทพา เพื่อสร้างการรับรู้ต่อประชาชนในพื้นที่ และเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเดินรณรงค์ในวันนี้จะเริ่มออกเดินจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ไปสิ้นสุดที่โรงเรียนปทุมคงคา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จากนั้นจะมีการเปิดเวทีเสวนาว่าด้วยสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน โดยมี นางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา โดยกำหนดการเดินทางถึง อ.เทพา จ.สงขลา ในวันที่ 10 เม.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินรณรงค์หยุดถ่านหินในครั้งนี้มีตัวแทนเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเครือข่ายนักศึกษา มอ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม ร่วมกิจกรรม ท่ามกลางการวางกำลังรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงอย่างเข้มงวด
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น