xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ลงใต้ตรวจข้อเท็จจริงเหยื่ออีกรายของคดีนายทหารรุมซ้อมพลทหารเสียชีวิตที่ปัตตานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - กสม.ลงใต้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเหยื่ออีกรายของคดีนายทหารรุมซ้อมพลทหารเสียชีวิตที่ปัตตานี ขณะที่ผู้บาดเจ็บอยุ่ในโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี สภาพจิตใจแย่น่าเป็นห่วง

วันนี้ (7 เม.ย.) นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ ได้เดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจ และติดตามคดี พลทหารฉัตรภิศุทธิ์ ชุมพันธ์ สังกัด ร.152 พัน 1 ค่ายพยัคฆ์ อ.บันตังสตา จ.ยะลา ที่ถูกนายทหารรุมซ้อมได้รับบาดเจ็บ ส่วนเพื่อนทหารอีกคนเสียชีวิต ซึ่งได้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยมีคุณแม่เฝ้าดูแลอย่างเป็นห่วง โดยการเข้าเยี่ยมในครั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ทหารไม่ยอมให้สื่อมวลชนเข้าบันทึกภาพแต่อย่างใด

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ซ้อมพลทหารเป็นเหตุที่สะเทือนใจ สร้างความเสียใจแก่ครอบครัวผู้เสียหาย มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รู้สึกเป็นห่วง โดยเฉพาะผลกระทบด้านจิตใจ จากการพูดคุยพบว่า พลทหารที่บาดเจ็บมีสภาพจิตใจที่ไม่ดี เพราะมีการซ้อมทรมารต่อหน้าคนจำนวนมาก เล่าไปก็ร้องให้ไป ทางผู้เสียหายได้ยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย โดยได้รับเรื่องไว้แล้ว หลังจากนี้ จะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดี เพื่อที่จะได้เขียนรายงานสรุปข้อเสนอแนะ และแนวทางการแก้ปัญหาไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
 

 
นางอังคณา ยังกล่าวอีกว่า การซ้อมทำร้ายพลทหารในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะขนาดเป็นเจ้าหน้าที่ทหารกันเองยังมีการใช้ความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต และบาดเจ็บ ดังนั้น ทางกองทัพเองจะต้องพยายามแก้ปัญหาให้ความเป็นธรรมต่อทุกคน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา และถือเป็นบทเรียนสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องทบทวน และผลักดันให้มีการออก พ.ร.บ. หรือกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการซ้อมทรมาร เพราะประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐภาคี มีพันธะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ และให้การรับประกันว่า การกระทำทรมานทั้งปวงเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา พร้อมกับเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2550-2553 มีคำร้องที่ถูกร้องร้องว่ามีการซ้อมทรมาร จำนวน 34 คำร้อง

“ในวันพรุ่งนี้เวลา 09.00 น. ที่ ม.อ.ปัตตานี มีการประชุมร่วมกับองค์กรภาคประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เพื่อนำข้อเสนอที่ได้รับฟังไปพัฒนาการทำงานของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป” นางอังคณา กล่าว
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น