ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ผอ.สิ่งแวดล้อม กฟผ.” พล่านหนักมาก! ถึงขั้นฟ้อง คสช.ผ่านสื่อสังคมออนไลน์กรณี “เครือข่าย ปชช.ชายแดนใต้ฯ” รุดเข้ากรุงเคลื่อนไหวต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินสงขลา ด้านนักศึกษายันแค่เพียงต้องการทำหน้าที่แทนคนไทยทั้งประเทศ
วันนี้ (14 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ตัซนีม แท่นบำรุง นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 15-19 กุมภาพันธ์นี้ เครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะมีการเคลื่อนไหวเดินทางจากปักษ์ใต้เข้าเมืองหลวง
โดยตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) และตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ประมาณ 30 คน จะเดินทางขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อรัฐบาล ว่าไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเกิดขึ้น
น.ส.ตัซนีม กล่าวอีกว่า การผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา โดย กฟผ. และรัฐบาล เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 3,000 ไร่ ใช้ถ่านหินมาเผาวันละ 23 ล้านกิโลกรัม ใช้น้ำทะเลในกระบวนผลิตวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการดังกล่าวส่งผลเสียอย่างมากต่อประชาชนในพื้นที่ ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า 240 ครัวเรือน กระทบต่อมัสยิด และกุโบร์ (สุสาน) 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนปอเนาะอีก 1 แห่ง ซึ่งต้องย้ายออกไป
โครงการดังกล่าวได้สร้างความแตกแยกในชุมชน จากการที่ กฟผ.ใช้เงินซื้อทุกอย่าง ใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่ อีกทั้งพื้นที่เทพา และชายแดนใต้มีปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะเป็นภัยแทรกซ้อนที่สำคัญ เป็นเงื่อนไขใหม่ต่อการปะทุของสถานการณ์ความไม่สงบได้
โครงการฯ ได้มีการศึกษาผลกระทบดานสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตร โดยมีเจตนาที่จะไม่ทำการศึกษาเข้าไปในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ทั้งๆ ที่หมู่บ้านแรกของปัตตานีห่างจากโครงการเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น อันแสดงถึงความไร้หลักวิชาการ ทั้งๆ ที่ผลกระทบนั้นไกลถึง 100 กิโลเมตร
น.ส.ตัซนีม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งการทำ ค.1 ค.2 และ ค.3 มีความฉ้อฉล มีการซื้อเสียงด้วยการแจกสิ่งของในเวที ค.1 ไม่มีการรับฟังกลุ่มเห็นต่างในการทำเวที ค.2 และมีการใช้กำลังปิดกั้นการมีส่วนร่วมในเวที ค.3 รวมทั้งไม่มีการจัดเวทีสร้างการรับรู้ หรือการรับฟังความคิดเห็นใดๆ ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แม้แต่ครั้งเดียว จึงควรที่จะให้ กฟผ.เริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ทั้งหมด
ทั้งนี้ กำหนดการเบื้องต้น ในวันที่ 15 ก.พ. จะเข้ายื่นหนังสือสำนักงานนโยบายและแผน (สผ.) (ประเด็นความไม่ชอบธรรมของกระบวนการ ค.๑ ค.๒ และ ค.๓ และการไม่มีส่วนร่วมของคนปัตตานี ข้อเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบ ๑๐๐ กิโลเมตร) 16 ก.พ.เข้ายื่นหนังสือทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 17 ก.พ.เข้ายื่นหนังสือสำนักงานจุฬาราชมนตรี 18 ก.พ. เข้ายื่นหนังสือสหประชาชาติ สถานทูตอินโดนีเซีย สถานทูตมาเลเซีย (ประเด็นสันติภาพ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกันทางผู้บริหารระดับสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งรับผิดชอบผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้แชร์โพสต์ข่าวความเคลื่อนไหวเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ ของนักศึกษา และภาคประชาชนไปที่หน้าเฟชบุ๊กส่วนตัวในชื่อ Anuchart Palakawongse พร้อมเขียนข้อความว่า “เรียน คสช.เพื่อโปรดทราบ และดูแลนักศึกษาให้อยู่ในระเบียบวินัย และกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ อย่าหลงเชื่อผู้ไม่หวังดี และมือที่สามจะมาก่อกวน...”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มชาวบ้าน และนักศึกษาได้นัดพบปะเครือข่ายที่จะมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ในเวลา 10.00 น. บริเวณหน้าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม