รองนายกฯ และรมว.กลาโหม คาด “วิษณุ” บอกพูดคว่ำร่าง รธน.ได้คงหมายถึงจ้อเนื้อหาที่ไม่ดีมากกว่าส่งสัญญาณให้ไม่รับ ติพวกเอาแต่จ้อแต่ไม่ส่งความเห็นให้ กรธ.ไม่เกิดประโยชน์ คาดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ทุกเรื่อง แต่ถ้ามีองค์กรตัดสินหน้าที่รัฐให้ชัดก็น่าจะดี ยัน ครม.รอพิจารณาต่อ ส่วนประชามติเสียงบก็ต้องทำเพื่อให้คนยอมรับ นับแค่คนมาใช้สิทธิ การันตีฉบับ “มีชัย” ประชาธิปไตยแน่นอน แย้มบทเฉพาะกาลดูตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ย้ำเลือกตั้งไม่เกิน ธ.ค. 60 เชื่อไม่วุ่นจ่อเขียนคุมไว้ด้วย
วันนี้ (11 ก.พ.) ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 09.30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่าสามารถแสดงความคิดเห็นที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญได้ว่า ตนคิดว่านายวิษณุคงจะให้ความคิดเห็นถึงเนื้อหาอะไรที่ไม่ดีของร่างรัฐธรรมนูญ มากกว่าจะส่งสัญญาณให้คว่ำร่างฯ ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเปิดรับฟังแสดงความคิดเห็นอยู่ หากใครมีความคิดเห็นเช่นใดก็สามารถส่งไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาให้แก้ไขในประเด็นต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเอาแต่พูด ไม่ส่งความคิดเห็นไปก็ไม่เกิดประโยชน์
ส่วนประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากไปนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะเป็นหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่มองว่าเป็นเรื่องของการถอดถอนที่บางฝ่ายอาจไม่ยอมรับก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนตีความ นี่เป็นตัวอย่าง อาจไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ หรือถ้ามีเหตุการณ์วิกฤตประเทศเดินต่อไปไม่ได้ ถ้ามีองค์กรที่จะมาตัดสินให้เกิดความชัดเจนว่ารัฐบาลจะมีหน้าที่ทำอย่างไรก็จะสามารถให้ประเทศเดินต่อไปได้ ตนจึงคิดว่าก็น่าจะดี
เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองวิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ สามารถถอดถอน ส.ส., ส.ว. และนายกฯ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ถ้าประเด็นใดไม่เห็นด้วยก็ส่งไปยัง กรธ.ซึ่งกระบวนการยังไม่จบ ถ้าอะไรควรแก้ไข หรือควรเพิ่มเติมก็สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ก็ต้องยอมรับความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตามทางคณะรัฐมนตรีก็ต้องร่วมพิจารณาด้วยว่าอะไรที่สมควร หรือไม่สมควร
เมื่อถามว่า ในส่วนของกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ ได้ส่งความคิดเห็นไปให้ กรธ.หรือยัง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนได้ส่งไปแล้ว แต่ในส่วนของกระทรวงกลาโหมไม่ได้มีปัญหาอะไร ส่วนบทบาทของทหารที่ต้องดูแลสถานการณ์ต่างๆ นั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเรามีกฎหมาย พ.ร.บ.ด้านนี้อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า งบประมาณจัดทำประชามติกว่า 3,400 ล้าน ถ้าหากไม่ผ่านใครจะเป็นคนรับผิดชอบ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า งบประมาณที่นำไปทำก็อยากให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนทุกคนยอมรับในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ก็ระบุไว้ว่าต้องมีการทำประชามติ จะเสียงบประมาณหรือไม่เสียอย่างไรก็ต้องทำ และการทำประชามตินั้นต้องนับคนที่ออกมาใช้สิทธิ จะไปนับคนที่มีสิทธิแต่ไม่มาใช้สิทธิแบบนี้คงเป็นไปไม่ได้ เมื่อถามว่าเพื่อไม่ใช้งบประมาณสูญเปล่าก็ต้องรับร่างรัฐธรรมนูญ รองนายกฯประวิตรกล่าวว่า ก็ต้องดูให้ดี ตนไม่ขอชี้นำ
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเอาฉบับใดมาใช้เพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ต้องห่วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ได้เตรียมแผนรับมือไว้หมด แต่ตนขอยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นประชาธิปไตยแน่นอน แต่บทเฉพาะกาลจะเป็นอย่างไรในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านก็ต้องดูที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้ประเทศชาติเดินต่อไปได้ ทั้งนี้ตนคิดว่าประชาชนทั่วไปอยากให้ประเทศชาติเจริญ ขณะเดียวกันก็อยากให้เป็นประชาธิปไตย 100%
“ถ้าเป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วมีคนออกมาประท้วงตามท้องถนนก็จะทำให้ประเทศชาติไม่เดินหน้า แล้วจะมีประโยชน์อย่างไร ทั้งนี้ผมยืนยันว่าเราจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 อย่างแน่นอน เรื่องเลือกตั้งจบแล้ว แล้วไม่ต้องมาถาม จะเริ่มที่เดือนกรกฎาคม ถ้าออกกฎหมายลูกอะไรต่างๆ เสร็จก็จะเลือกตั้งในเดือนนั้น แต่ถ้าไม่เสร็จก็จะไม่เกินเดือนธันวาคม 2560 อย่างแน่นอน บางทีมันอาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ ซึ่งถ้าหากผลการเลือกตั้งออกมาเป็นอย่างไรเราก็ต้องยอมรับในกติกา” พล.อ.ประวิตรกล่าว
เมื่อถามต่อว่า หากหลังเหตุการณ์เลือกตั้งจะมีความวุ่นวายจะเตรียมรับมืออย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า คิดว่าไม่มี เพราะร่างรัฐธรรมนูญอาจจะมีบทเฉพาะกาลที่เอาไว้ควบคุมสถานการณ์อยู่แล้ว