พนักงานไทยพีบีเอสบางส่วน เตรียมยื่นหนังสือบ่าย 3 วันนี้ จี้บอร์ด ส.ส.ท.เคลียร์ปมสรรหาตั้ง “หมอฟัน” อดีต ผอ.สสส.นั่งผู้อำนวยการองค์การคนใหม่ ก่อนเข้าทำงาน 1 ก.พ.นี้ ชี้ คุณสมบัติไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ด้านวิทยุ-โทรทัศน์หรือการสื่อสาร ขณะที่กระบวนการสรรหายังเป็นที่คลางแคลง
วันนี้ (26 ม.ค.) มีรายงานว่า กลุ่มพนักงานส่วนหนึ่งของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้นัดยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อแสดงความกังวล ความห่วงใย และข้อทักท้วงต่อคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ในเวลา 15.00 น. โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้บริหารได้รับทราบอย่างเป็นทางการ ภายหลังคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. เชิญผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการฯ มาเจรจาตกลงรายละเอียดของสัญญาจ้าง ก่อนการทำสัญญาจ้างซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย
นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อนมีการเผยแพร่คำสั่งประธานคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ประกาศแต่งตั้งนายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559
สำหรับจดหมายเปิดผนึกกรณีการสรรหาผู้เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ระบุว่า ขอให้ประธานกรรมการนโยบาย กรรมการนโยบาย กรรมการสรรหาฯ ชี้แจงกระบวนการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ต่อสาธารณะ มีใจความว่า การสรรหาผู้เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ซึ่งเป็นสถาบันสื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับความสนใจจากสาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อกรรมการสรรหาฯ พิจารณาคัดสรรผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและวิสัยทัศน์รวม 5 คน จากผู้สมัครทั้งสิ้น 13 คน เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพิจารณาเมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา และในวันที่ 14 มกราคม กรรมการนโยบายมีมติเลือกผู้อำนวยการ ส.ส.ท.คนใหม่ ดังที่สื่อมวลชนเสนอข่าวไปแล้วนั้น
การสรรหาผู้บริหารไทยพีบีเอสครั้งนี้ได้รับวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกตจากสาธารณะ โดยเฉพาะประเด็นคุณสมบัติของผู้บริหารองค์กรสื่อฯ โดยเปรียบเทียบกับผู้สมัครที่ได้รับการคัดสรร ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ตามมาตรา 32 วงเล็บ 3 ของพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ที่ระบุว่า “มีความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการวิทยุโทรทัศน์หรือการสื่อสารมวลชน” ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้ผ่านการคัดสรรของกรรมการสรรหาฯ และได้รับการคัดเลือกจากกรรมการนโยบายฯ ทำให้เกิดความคลางแคลงสงสัยและไม่เข้าใจต่อเจตนารมณ์ของคณะกรรมการนโยบาย หรือกระทั่งตั้งคำถามถึงแนวทางขององค์กรสื่อสาธารณะแห่งนี้ได้
ไม่นับความกังวลจากประชาคมไทยพีบีเอส ซึ่งมีเจตจำนงเข้าไปมีส่วนร่วมและสร้างความโปร่งใสในกระบวนการสรรหาฯ ตั้งแต่ต้น เนื่องจากเห็นว่าองค์กรอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านในหลายประเด็น หากจะดำรงความเป็นสื่อสาธารณะในสังคม จักต้องได้รับความยอมรับและเชื่อถือจากสังคมโดยเฉพาะในประเด็นความโปร่งใส ปราศจากคำถามในเรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งความกังวลดังกล่าวยังปรากฏอยู่แม้ว่า กระบวนการสรรหาจะผ่านพ้นและได้ผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่าทัศนะสาธารณะเหล่านั้นถือเป็นความห่วงใยต่อสถาบันสื่อสาธารณะอย่างบริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่สังคมไทยต้องการสื่อสาธารณะที่ยืนหยัดอยู่บนความเป็นธรรม มีความเที่ยงตรง โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ คาดหวังให้ไทยพีบีเอสทำหน้าที่ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ขับเคลื่อนสังคมไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงถือเป็นเพื่อนสื่อสาธารณะที่ต้องให้ความสำคัญและรับฟังอย่างมีนัยสำคัญ
ประการสำคัญ ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ในฐานะผู้กำหนดทิศทางย่อมถูกคาดหวังจากสังคมและประชาคมไทยพีบีเอสเองว่าจะสามารถนำพาสถาบันสื่อสาธารณะของประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง ก่อเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะตามเจตจำนงก่อตั้ง เป็นสื่อเพื่อสาธารณะที่สร้างสังคมเป็นธรรม ดังนั้นการขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรสื่อสาธารณะ จำเป็นต้องกระทำอย่างโปร่งใส ได้รับการยอมรับจากภาคส่วนของสังคม ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.จึงถือเป็นบุคคลสาธารณะที่วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างมีเหตุมีผล
ด้วยสถานการณ์และเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงไม่เห็นทางออกใดที่ดีไปกว่า ผู้มีส่วนรับผิดชอบเปิดใจรับฟังและชี้แจงข้อคลางแคลงในประเด็นดังกล่าวข้างต้นต่อสาธารณะและประชาคมไทยพีบีเอส เพื่อการเริ่มต้นศักราชใหม่อย่างมีทิศทาง ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายของสื่อสาธารณะแห่งนี้