xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติภาพลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติภาพ เดินทางมารับฟังปัญหา และตรวจสอบกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และท่าเรือ มีการละเมิดสิทธิของชาวบ้าน และเตรียมแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อลงพื้นที่ฟังเสียงที่แท้จริงของประชาชน

วันนี้ (6 พ.ค.) ที่ ม.4 บ.ปากบางเทพา อ.เทพา จ.สงขลา มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติภาพ เดินทางมารับฟังปัญหา และตรวจสอบกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และท่าเรือ ตามที่เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ร้องเรียนให้รับเรื่องราวร้องทุกข์ของเครือข่ายฯ บันทึกเสนอในข้อร้องเรียนของมูลนิธิฯ และแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อลงพื้นที่ฟังเสียงที่แท้จริงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน ปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่พระองค์อัลลอฮฺ ซุบฯ ได้ให้สิทธิแก่มนุษยชาติมิให้ถูกละเมิดจากกลุ่มทุน และอำนาจรัฐที่สมคบคิดกัน และอย่าให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากลายเป็นภัยแทรกซ้อนใหม่ที่จะทำให้สถานการณ์การสร้างสันติสุขในพื้นที่ต้องถอยหลัง โดยมีชาวบ้านในพื้นที่ร่วมให้ข้อมูล

นายอิดเรส หะยีเด กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางชุมชนได้ยื่นหนังสือให้ประธานมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติภาพ ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชนจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ตั้งอยู่ที่ ม.4 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีขนาดถึง 2,200 เมกะวัตต์ สร้างบนเนื้อที่ 3,000 ไร่ เพื่อเผาถ่านหินที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย วันละ 23 ล้านกิโลกรัมต่อวันตลอด 24 ชั่วโมง มีปล่องควันสูงไม่น้อยกว่าตึก 60 ชั้น มีสะพานท่าเทียบเรือยื่นลงไปในทะเลไม่น้อยกว่า 3 กิโลเมตร มีเสาตอม่อสะพานไม่ต่ำกว่า 1,000 ต้น มีเรือขนาดใหญ่ขนถ่านหินไปมาในระยะ 15 กิโลเมตร ทุกวันไม่น้อยกว่า 4 เที่ยวต่อวัน นอกจากจะสร้างมลพิษ ฝุ่น ขี้เถ้า ฝนกรดจำนวนมหาศาลให้แก่คน และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะ 100 กิโลเมตรแล้ว ทำให้มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชนอย่างชัดเจน

โดยวันนี้ เมื่อทางมูลนิธิเดินทางมาถึง ตัวแทนชุมชนได้ร่วมให้ข้อมูลโดยสรุป ดังนี้ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า 240 ครัวเรือน ประมาณ 1,000 คน ออกจากพื้นที่ก่อสร้าง โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งเป็นมุสลิมไม่ได้มีข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจ ทั้งหมดไม่ได้อยากย้าย แต่เกรงกลัวต่ออำนาจ และอิทธิพล

นอกจากการบังคับย้ายครัวเรือนแล้ว ยังมีมัสยิด 2 แห่ง กุโบร์ (สุสาน) 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนปอเนาะอีก 1 แห่ง อยู่ในใจกลางพื้นที่ก่อสร้าง ด้วยกระแสการคัดค้านที่รุนแรงของประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ ทาง กฟผ.ได้มีหนังสือยืนยันที่จะไม่ย้ายมัสยิด และสุสาน แต่จะอนุรักษ์ไว้ อย่างไรก็ตาม โครงการต้องถมดินสูง 5-8 เมตร ชุมชนต้องย้ายออกหมด การอนุรักษ์ไว้จึงเหลือเพียงซากอาคารที่ขาดจิตวิญญาณของความศรัทธา ซึ่งกระทบต่อหลักศรัทธาของประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่ง
 

 
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไม่ได้ใส่ใจในสิทธิชุมชนของคนอำเภอหนองจิก หรือคนปัตตานีแม้แต่น้อย ทั้งในกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก็ไม่ได้มีการศึกษาให้ครอบคลุมพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ทั้งที่มลพิษนั้นสามารถแพร่กระจายไปถึงได้ จึงควรที่จะมีการศึกษา EHIA ใหม่ทั้งหมด

กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา ทั้งการทำ ค.1 ค.2 และ ค.3 มีความฉ้อฉล มีการซื้อเสียงด้วยการแจกสิ่งของในเวที ค.1 ไม่มีการรับฟังกลุ่มเห็นต่างในการทำเวที ค.2 และมีการใช้กำลังปิดกั้นการมีส่วนร่วมในเวที ค.3 รวมทั้งไม่มีการจัดเวทีสร้างการรับรู้ หรือการรับฟังความคิดเห็นใดๆ ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แม้แต่ครั้งเดียว ถือเป็นการละเลยสิทธิชุมชนในการกำหนดอนาคตตนเอง ซึ่งเป็นวาระที่สำคัญที่สุดของคนชายแดนใต้ที่ต่อสู้ในสิทธินี้ในท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบ จึงควรที่จะให้ กฟผ.เริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ทั้งหมด

มีการใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่แกนนำของฝ่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระทืบประตูบ้านและยิงปืนขึ้นฟ้า ปัจจุบัน คดีดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดี

พื้นที่เทพา และชายแดนใต้มีปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะเป็นภัยแทรกซ้อนที่สำคัญ และเป็นเงื่อนไขใหม่ต่อการปะทุของสถานการณ์ความไม่สงบได้ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญยิ่งที่ยังไม่มีหน่วยงาน หรือองค์กรอิสระใดเข้ามาประเมิน หรือตรวจสอบความเหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์แต่อย่างใด

ขอให้มีการตรวจสอบกระบวนการออกหนังสือ และเนื้อหาข้อสรุปของหนังสือที่ออกโดย พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ฉบับที่ สกอท.03.197(1)/2558 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 พร้อมทั้งขอรายงานการประชุม และมติที่ประชุมของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับหนังสือดังกล่าวที่ได้ยื่นให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ด้าน นายเจ๊ะอาแซ เพชรแก้ว กล่าวว่า อีกประเด็นที่ทางชุมชนได้ให้ข้อมูลต่อทางมูลนิธิฯ ในวันนี้ ช่วงที่ผ่านมา ทางชุมชนได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา/ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา/นายอำเภอเทพา/นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับการขออนุญาต และคำสั่งเกี่ยวกับการขออนุญาตทำท่าเรือ และขอทราบกระบวนการขั้นตอนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้มีการตรวจสอบการดำเนินการ เนื่องจากได้สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน แต่หลังจากส่งหนังสือไม่มีความคืบหน้าใดๆ

นายเจ๊ะอาแซ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่ชุมชนร่วมกันให้ข้อมูลแก่ทางมูลนิธิฯ เริ่มจากประเด็นปัญหาเมื่อมีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้เข้าดำเนินการสร้างท่าเรือ มีการขุดรื้อป่าชายเลน แม่น้ำ มีการถมดินติดกับแม่น้ำเทพา มีการสร้างรั้วล้อมรอบคลองสาธารณะที่หมู่ 4 บ้านคลองประดู่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ได้ก่อให้เกิดความกังวล ความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ซึ่งใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเทพา โดยเฉพาะกลุ่มประมง ซึ่งประชาชนในพื้นที่ไม่เคยทราบข้อมูล และไม่เคยมีหน่วยงาน หรือบริษัทใดมาชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใดทั้งสิ้น
 

 
ดังนั้น ทางเครือข่ายประมงพื้นบ้านอำเภทเทพา ซึ่งเป็นประชาชนที่รวมตัวกันเพื่อปกป้องรักษาสิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผู้อาจได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการดำเนินการสร้างท่าเรือดังกล่าว และเป็นชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำดังกล่าว มีความประสงค์จะทราบว่า ในการดำเนินการสร้างท่าเรือที่มีการขุดรื้อป่าริมแม่น้ำ และถมดินติดแม่น้ำเทพา ที่หมู่ 4 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา นั้น ได้มีการดำเนินการขออนุญาตต่อท่านเพื่อขอดำเนินการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร

ในการขอนุญาติสร้างท่าเรือดังกล่าวมีขั้นตอนตามกฎหมายอย่างไร และขอคัดถ่ายเอกสารดังกล่าวด้วย ขอคัดถ่ายเอกสาร คำขอ และใบอนุญาตให้สร้างท่าเรือที่หมู่ 4 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา พร้อมเอกสารประกอบคำขอทั้งหมด ขอทราบว่า ในการดำเนินการสร้างท่าเรือดังกล่าวได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ หรือมาตรการในการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม หรือไม่อย่างไร ขอคัดถ่ายเอกสารดังกล่าว

ขอทราบว่า มีการจัดประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการสร้างท่าเรือดังกล่าวหรือไม่ และขอคัดถ่ายเอกสารรายงานการประชุม หรือมติใดๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการพิจารณาอนุญาตดังกล่าว ขอให้ชี้แจงว่า ในการดำเนินการสร้างท่าเรือดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้โครงการใด และอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน หรือบริษัทใดบ้าง พร้อมทั้งขอรายละเอียดกระบวนการขั้นตอนการขออนุญาต และระยะเวลาในการดำเนินการ รวมถึงการประเมินผลกระทบด้านต่างๆ ขอให้ชี้แจงว่า ได้มีการแจ้งการดำเนินการ หรือส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการสร้างท่าเรือซึ่งมีการขุดรื้อป่าไม้ริมแม่น้ำเทพา การถมดินติดกับแม่น้ำเทพา ไปให้หน่วยงานใดบ้างหรือไม่ เพื่อเป็นการควบคุมตรวจสอบการสร้างท่าเรือดังกล่าว ขอให้จัดส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา เนื่องจากในปัจจุบันการดำเนินการสร้างท่าเรือดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวล ความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยเฉพาะชาวประมงในแม่น้ำเทพา

โดยข้อมูลที่ขอคัดถ่ายดังกล่าวเป็นข้อมูลข่าวสารราชการตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานรัฐต้องจัดให้มีไว้ และต้องไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ แต่สิ่งที่ทางชุมชนขอไปไม่ได้รับการตอบรับแม้แต่ข้อเดียวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แต่วันนี้นับเป็นวันที่ดีมากวันหนึ่ง เมื่อมูลนิธิฯ ได้เดินทางมารับฟังปัญหา และร่วมตรวจสอบตามที่ชุมชนได้ส่งหนังสือร้องเรียน โดยชุมชนพร้อมที่จะให้ข้อมูลเพิ่มหากทางมูลนิธิฯ ต้องการ ก็หวังว่าชุมชนจะได้รับความเป็นธรรม
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น