xs
xsm
sm
md
lg

(มหากาพย์ประปาเทศบาลนครนครศรีฯ 6) ระวัง! วิกฤตขาดน้ำจะลามสู่วิกฤตศรัทธากระทบ “ครอบครัวประชาธิปัตย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
จากการที่ “MGR Online ภาคใต้” ติดตามความเคลื่อนไหวกรณีการบริหารงานของทีมผู้บริหารเทศบาลการนครนครศรีธรรมราช ชุดปัจจุบัน ผ่านมหากาพย์ประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ซึ่งเวลานี้ล่วงเข้าสู่ตอนที่ 6 แล้ว แต่ยังคงจะดำเนินต่อไปจนกว่าเรื่องราวจะเป็นที่ยุติ
 
สำหรับการเตรียมนำ “ญัตติขอความเห็นชอบให้เอกชนเข้าดำเนินการพัฒนาระบบประปาและจำหน่ายน้ำประปาให้เทศบาลนครนครศรีธรรมราช” และขอความเห็นชอบ “ก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเกินกว่า 1 ปีงบประมาณ” เข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งโครงการนี้มีสาระสำคัญ คือ การให้เอกชนเข้าไป “ผูกขาดขายน้ำ” ให้เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยมีมูลค่ารวมกว่า 5 พันล้านบาท
 

 
18 พ.ค.2559 นับเป็นวันที่ “ครอบครัวประชาธิปัตย์” จะต้องจดจำไปอีกนาน เพราะหลังการประชุมสภาเทศบาลเริ่มต้นขึ้น ก็มีกลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนบุกเข้าไปต่อว่าต่อขานทีมผู้บริหารเทศบาล ส่งผลให้ที่ประชุมต้องยุติ และเลื่อนการประชุมออกไป โดยประชาชนกลุ่มดังกล่าวประกาศว่า จะคอยติดตามเพื่อไม่ให้ “โครงการซื้อน้ำเอกชนยาวนานถึง 30 ปี มูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท” เดินหน้าต่อไปได้ แม้จะเป็นไปท่ามกลางวิกฤตการณ์น้ำประปาหยุดไหลที่มากมายไปด้วยความกังขาว่าไม่ปกติ
 
แท้จริงแล้ว ประชาชนชาวเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ย่อมรู้ดี โดยเฉพาะสภาพการสูบน้ำ การจัดหาแห่งน้ำ แผนการแก้ปัญหา หรือวิสัยทัศน์ที่รองรับเป็นเครื่องบ่งบอกชัดเจน แต่ “วาทกรรม” ที่ทีมผู้บริหาร รวมทั้งบรรดาคนรอบข้างท่องบ่นออกมาเป็นเสียงเดียวกัน “เป็นเรื่องการเมือง” ไม่นับรวมผู้บริหารจังหวัดที่โทนความเห็นเป็นไปทำนองเดียวกัน
 
 

 
ตำรารัฐศาสตร์เบื้องต้นทุกเล่มให้ความหมาย “การเมือง” ไว้ในทำนองว่า คือ “การจัดการผลประโยชน์เพื่อสาธารณะอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ครูบาอาจารย์ที่สอนรัฐศาสตร์คงเข้าใจ และเข้าถึงความหมายนี้ โดยไม่น่าจะผิดไปจากนี้นัก นี่คือ ความหมายของการเมือง
 
แต่เมื่อไหร่ที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ “นักการเมือง” ในฐานะ “ผู้มีหน้าที่ในการจัดการผลประโยชน์สาธารณะให้เท่าเทียม และเป็นธรรม” แต่กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องของการเมือง นั่นเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ผู้ที่มองปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของประชาชนโดยไม่ได้สำนึกว่า เป็นผู้ที่มีหน้าที่ทางการเมือง ผู้นั้นไม่แตกต่างอะไรกับ “นักธุรกิจ” หรือ “นายทุน” ที่จ้องแสวงหากำไรเข้าพกห่อ ขาดกลัวความคิดเห็น และความเคลื่อนไหวของประชาชน
 

 
แต่ท่ามกลางความสนใจของประชาชนชาวนครนครศรีธรรมราช กลับมีโฆษณาชวนเชื่อราวกับโปรโมชันนาทีโทรของมือถือระบุว่า “ทีมเชาว์นวัศ” สนับสนุนให้ประชาชนซื้อน้ำราคาถูกเท่านั้น เทศบาลซื้อน้ำจากเอกชน 4.90 บาท แล้วนำไปขายต่อ 6 บาท ขณะที่ประปาภูมิภาค ขาย 12 บาท แถมยังบอกว่าอย่าหลงเชื่อข่าวลวง
 
ทั้งนี้ เป็นการปล่อยออกมาคัดง้างผ่านสังคมออนไลน์ต่อผู้ที่สนใจ และติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ และการตามหา “ทีโออาร์” งานเอกสารศึกษาของ “มหาวิทยาลัยมหิดล” เนื่องจากเป็นสัญญาที่ยาวนานถึง 30 ปี และมีลักษณะของการบังคับซื้อน้ำต่อวัน
 

 
ขณะที่โฆษณาดังกล่าวไม่ได้บอกว่า ราคาค่าน้ำในปีที่ 2 ปีที่ 3 และปีที่ 4 รวมทั้งปีถัดๆ ไปนั้นจะมีราคาขายเท่าไหร่ ทั้งที่มีแนวโน้มว่าค่อยๆ เริ่มสูงกว่าราคาของการประปาส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป ขณะที่ราคาซื้อน้ำจากเอกชนนั้นขยับแบบขั้นบันไดไปจนถึงปีที่ 30 นั่นหมายถึงว่า เทศบาลจะต้องใช้งบประมาณในการซื้อมหาศาลราว 5 พันล้าน ตลอด 30 ปี แต่กลับไม่สามารถตอบคำถามเรื่องราคาที่ประชาชนจะต้องรับผิดชอบที่ชัดเจนได้ มีการอธิบายเพียงแค่ปีแรกๆ เท่านั้น 
 
เช่นเดียวกับการบริหารจัดการของสำนักการประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ภาวะขาดทุนอย่างหนัก เฉลี่ยรายรับต่อเดือนอยู่ที่ 5.5 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 6.9 ล้านบาท มีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ 1.34 ล้านบาท มีหนี้สะสมเกือบ 200 ล้านบาท ค่าไฟฟ้าค้างจ่ายอีกกว่า 8 ล้านบาท และที่สำคัญเอกสารข้อมูลภายในยังได้ระบุชัดเจนด้วยว่า มีอัตราน้ำสูญเสียไปจากระบบมากถึง 30%
 

 
หากเทศบาลจะต้องซื้อน้ำจากเอกชนทุกวัน วันละ 48,000 ลบ.ม. มูลค่าเฉลี่ยราว 5 แสนบาทต่อวัน น้ำก็น่าจะยังคงสูญหายไปจากระบบอยู่ถึง 30% หรือคือเท่ากับประมาณ 14,400 ลบ.ม. เฉลี่ยเทศบาลต้องสูญเงินในอัตราน้ำสูญเสียไปถึงวันละกว่า 1.2 แสนบาทต่อวัน หากคิดเป็นต่อเดือนก็จะได้เป็น 3.6 ล้านบาทต่อเดือนนั่นเอง
 
ขณะที่สำนักประปาปัจจุบันมีรายรับเพียง 6.9 ล้านบาทต่อเดือน แต่หากซื้อน้ำต่อ 1 ปีงบประมาณจะต้องใช้งบเฉลี่ย 170 ล้านบาทเพื่อซื้อน้ำจากเอกชน หากเทศบาลซื้อน้ำมาในราคาแพง แล้วนำไปขายให้ประชาชนในราคาถูก เทศบาลจะแบกรับภาระงบประมาณไปได้กี่ปีงบประมาณ ขณะที่งบรายจ่ายประจำปีมีเพียงราว 800 ล้านบาทต่อปี มีรายจ่ายประจำอีกกว่า 30% แถมยังมีภาระหนี้สินอีกจำนวนมาก
 

 
ดังนั้น หากผู้บริหารเทศบาลดึงดันโดยไม่มีวิสัยทัศน์ในการจัดการงบประมาณ ในที่สุดแล้วก็อาจจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวก็เป็นได้ 
 
เหล่านี้คือสิ่งที่ไม่มีคำอธิบายนอกจากวาทกรรมที่พ่วงมากับ “ประชาชนในเขตเทศบาลจะต้องไม่ขาดน้ำ” เมื่อถึงเวลานั้นผู้บริหารชุดนี้ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้สนับสนุนจะพ้นจากความรับผิดชอบในตำแหน่งหมดแล้ว แน่นอนหลายคนในจำนวนนี้คงตายจากจากโลกไปในที่สุด แต่ทิ้งสัญญาทาสนี้ไว้ให้ลูกหลานชาวเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้แบกรับใช่หรือไม่
 
อย่างไรก็ตาม ญัตตินี้แม้ว่าจะเลื่อนมาจากในวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ “เชาว์นวัศ เสนพงศ์” นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ได้ทำหนังสือถึง “เคารพ อิสระไพบูลย์” ประธานสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เพื่อขอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
 
ทว่า ล่าสุดได้รับคำตอบจากประธานสภาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช แล้วว่า ไม่สามารถเลื่อนต่อไปได้ เนื่องจากจะหมดสมัยประชุมลงในวันที่ 30 พ.ค.2559 นี้ ส่งผลให้ในวันที่ 27 พ.ค.ที่จะถึงนี้จำเป็นต้องเดินหน้าเปิดประชุมในญัตตินี้
 

 
ดังนั้น จึงคาดการณ์กันได้ว่า กลุ่มประชาชนชาวนครนครศรีธรรมราชจะได้ไปร่วมแสดงความคิดเห็นในระลอกที่สองอีกครั้งอย่างแน่นอน 
 
วิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของชาวนครนครศรีธรรมราชเวลานี้กำลังลุกลามอย่างต่อเนื่อง และมีเสียงร่ำลือว่า มีประชาชนที่ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจจำนวนมากได้ “ก้าวข้าม” เทศบาลนครนครศรีธรรมราชไปแล้ว โดยได้ไปตั้งคำถามถึงความเป็น “ครอบครัวประชาธิปัตย์” ที่ได้รับโอกาสมาบริหารบ้านเมืองมาตลอด 5 ปี ทำไมก่อให้เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำได้ทุกปีอย่างต่อเนื่อง
 
โปรดระวังว่า วิกฤตขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ของชาวนครศรีธรรมราชครั้งนี้อาจจะแปรเปลี่ยนเป็น “วิกฤตศรัทธา” ต่อพรรคการเมืองเก่าแก่อย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” ไปก็เป็นได้ โดยเฉพาะเวลานี้มีเสียงของคนคอนจำนวนหนึ่งที่เป็น “ครอบครัวประชาธิปัตย์” ได้ตั้งคำถามแล้วว่า “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคขวัญใจคนใต้ว่าจะกล้าประกาศไหมว่า “ผมขอรับผิดชอบเอง”
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น