xs
xsm
sm
md
lg

บำนาญแห่งชาติกับรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
 
ประสาท มีแต้ม
กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน


เมื่อวันที่ 29-30 เมษายนที่ผ่านมา เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศได้จัดประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี สำหรับปีนี้เป็นประเด็น “ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย” ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ เช่น ทุกข์ของผู้สูงวัย ประกันภัยผู้สูงวัย ผู้บริโภคกับการบริโภคยา รวมทั้งเรื่องบำนาญแห่งชาติ ซึ่งผมจะเล่าให้ฟัง พร้อมกับข้อเสนอบางอย่างของผมเอง

แต่ก่อนอื่นดูบรรยากาศของงานจากภาพถ่ายในเว็บไซต์ของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน 
 

 
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. ได้รับเชิญให้ปาฐกถาพิเศษในงานนี้ ผมได้รับความรู้ และข้อคิดจากการบรรยายครั้งนี้เยอะเลยครับ

คุณหมอวิชัย ได้อ้างถึงงานสำรวจเมื่อปี 2558 (โดยใครผมฟังไม่ทัน) พบว่า ร้อยละ 85 ของผู้สูงอายุ (ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุกว่า 60 ปี มีจำนวน 10 ล้านคน) ของประเทศไทย ยังมีสุขภาพแข็งแรง และร้อยละ 13 อยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ติดบ้าน” แต่ยังพอช่วยตัวเองได้ ที่เหลืออีก 2% อยู่ในสภาพ “ติดเตียง”

ดังนั้น วิสัยทัศน์ของประเทศไทยต่อผู้สูงวัยควรจะเป็น “ผู้สูงวัยคือพลังของสังคม” ไม่ใช่ “ภาระของสังคม” อย่างที่เคยเข้าใจกัน

ด้วยวิสัยทัศน์ดังกล่าว คุณหมอวิชัย ได้ยกเอาคำแนะนำขององค์การสหประชาชาติ 4 ข้อ คือ (1) พัฒนาคนให้มีความเข้มแข็งขึ้น (2) พัฒนาองค์กร หรือการรวมกลุ่มของผู้สูงวัย (3) สร้างเครือข่าย และ (4) ผลักดันเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมซึ่งหมายรวมถึงการสร้างกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ดีขึ้น

คุณหมอวิชัย ได้เปรียบเทียบสังคมประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ กับประเทศไทย พบว่า สองประเทศนี้เขามีฐานะดี หรือ “รวยก่อนที่จะสูงวัย” แต่ของประเทศไทยเรา “สูงวัยก่อนที่จะร่ำรวย” ดังนั้น สังคมไทยจึงควรจะมีการคุ้มครองผู้สูงวัยอย่างเป็นระบบ

ปัจจุบัน รัฐบาลได้จ่ายเงินค่ายังชีพให้แก่ผู้สูงอายุเดือนละ 600 ถึง 1,000 บาท ซึ่งรวมทั้งหมดเป็นเงินปีละ 6 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ถือกันว่าระดับเส้นความยากจนอยู่ที่เดือนละ 2,644 บาท นั่นแปลว่าเงินที่ได้รับเพียงวันละ 20-30 บาท ไม่เพียงพอที่จะมีชีวิตอยู่ได้

ในช่วงบ่าย ในกลุ่มย่อย หัวข้อ “ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าของประชาชน” วิทยากรได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม ซึ่งผมได้นำมาเขียนกราฟใหม่ ดังรูป 
 

 
ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ ถือว่า ถ้าสัดส่วนของประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี ถึง 10% จะถือว่าเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งประเทศไทยเราเป็นแล้วตั้งแต่ปี 2545 (ดูกราฟ) ปัจจุบัน (2558) ร้อยละของประชากรที่มีอายุเกิน 60% มีถึงร้อยละ 14.2 นักวิชาการคาดว่า ประเทศไทยจะเป็น“สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” ในปี 2567 คือ มีเกินร้อยละ 20 และ “สังคมผู้สูงอายุสุดยอด” (25%) ในปี 2573
 
จากข้อมูลที่นำเสนอโดย คุณนวพร วิริยานุพงศ์ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ กระทรวงการคลัง พบว่า ระบบบำเหน็จบำนาญของไทยเป็นผู้เคยรับข้าราชการ 2.02 ล้านคน ผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 7.8 ล้านคน จากกองทุนประกันสังคม 11.5 ล้านคน (อาจจะหมายถึงผู้ยังไม่เกษียณ-ไม่แน่ใจ)

กลุ่มที่กำลังประสบปัญหารุนแรงมาก ก็คือ ผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 7.8 ล้านคน ซึ่งได้รับเดือนละ 600 ถึง 1,000 บาทเท่านั้น ในขณะที่เส้นความยากจน 2,644 บาท

ด้วยเหตุนี้ จึงมีกลุ่มศึกษาเรื่อง “บำนาญแห่งชาติ” เกิดขึ้น ซึ่งเป็นบำนาญสำหรับคนไทยทุกคนเพื่อให้สามารถเลี้ยงชีพได้

ปัญหาก็คือ แล้วรัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน

ในปี 2557 ภาระของกระทรวงการคลังในเรื่องผู้สูงอายุทุกประเภทรวม 2.7 แสนล้านบาท หรือ 2.1% ของจีดีพี หรือ 10% ของงบประมาณแผ่นดิน โดยมีแนวโน้มว่าในปี 2567 จะเพิ่มเป็น 6.8 แสนล้านบาท หรือ 3.0% ของจีดีพีซึ่งก็ถือว่าเป็นภาระที่หนักของรัฐบาลอยู่แล้ว

ผมลองสมมติว่า ถ้าผู้สูงอายุ 10 ล้านคน ได้รับบำนาญเดือนละ 2,300 บาท ก็ต้องใช้เงินปีละ 2.8 แสนล้านบาท แล้วจะเอาเงินมาจากไหน?

มีผู้เสนอให้ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยมีข้อมูลว่า ทุกๆ 1% ของภาษีมูลค่าเพิ่ม จะทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น 7 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ถ้าต้องการเงินเพิ่ม 2.8 แสนล้านบาท ก็ต้องเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 11% คือ เพิ่มขึ้นอีก 4% จากปัจจุบัน

ในที่ประชุม ไม่ได้มีการกำหนดว่าจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละเท่าใด แต่คนรุ่นใหม่บอกว่า พวกเขายินดีจะจ่ายเพิ่มเพื่อตอบสนองความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุในอนาคต แต่ในวันนั้นยังไม่รู้ว่าถ้าเพิ่มเป็น 11% แล้วคนรุ่นใหม่จะรับไหวไหม? (ฟิลิปปินส์ 10%, ญี่ปุ่น 8%, นิวซีแลนด์ 12.5%, มาเลเซีย 5%, เดนมาร์ก 25%)

ผมเองไม่เห็นด้วยต่อการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะเป็นระบบภาษีที่ไม่มีการจำแนกระหว่างคนรวยกับคนจน แม้ว่าคนรวยบริโภคสินค้ามากกว่าคนจน นั่นคือ คนรวยเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นจำนวนเงินมากกว่าคนรวยก็จริง แต่เมื่อคิดเป็นอัตรารายได้ของแต่ละกลุ่มแล้ว คนรวยจ่ายภาษีในอัตราที่น้อยกว่าคนจน

หลักคิดของสังคมไทย และสังคมโลกโดยทั่วไปมักคิดว่า คนรวยต้องเสียในอัตราที่สูงกว่าคนจน (เช่น ภาษีเงินได้) ดังนั้น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจึงทำให้คนจนมีภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าคนรวยเมื่อเทียบกับรายได้ของแต่ละกลุ่ม

ผมเสนอว่า ควรจะเอาภาษีที่ได้จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ปิโตรเลียม แร่ เป็นต้น เพราะทรัพยากรเหล่านี้เป็นสมบัติของคนไทยทุกคน และทุกรุ่น ไม่ใช่สำหรับคนบางรุ่น เช่น ดีบุก ที่เราเคยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ได้ถูกขุดจนหมดไปแล้ว เมื่อ 30 ปีก่อน และปิโตรเลียมซึ่งกำลังจะหมดไปในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

ประเทศนอร์เวย์ แก้ปัญหาดังกล่าวโดยได้นำรายได้จากปิโตรเลียมมาจัดตั้งเป็นกองทุนบำนาญแห่งชาติ ซึ่งเป็นกองทุนที่มีจำนวนเงินมากที่สุดในโลก ผมไม่แน่ใจว่า เขาเอาเฉพาะภาษี หรือเอารายได้จากปิโตรเลียมทั้งหมด แต่กองทุนนี้มีมากกว่า 9 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าจีดีพีของไทยถึง 3 เท่า

ประเทศไทยเราเองมีรายได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ในปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันยังแพงอยู่ประมาณปีละ 1.4 แสนล้านบาท ตอนนี้น่าจะลดลงมาเหลือประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่พอต่อความต้องการคร่าวๆ คือ 2.8 แสนล้านบาท

อาจมีคนแย้งว่า เงินรายได้ของรัฐจากปิโตรเลียมก็เป็นเงินก้อนเดียวกันกับงบประมาณแผ่นดิน ไม่ใช่เงินก้อนพิเศษที่เพิ่มเข้ามาใหม่ก็จริงอยู่ แต่ประเด็นสำคัญของผมก็คือ เงินก้อนนี้เป็นสมบัติของคนไทยทุกรุ่น ไม่ใช่คนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกันเงินก้อนนี้ออกมาต่างหาก คือ กองทุนบำนาญแห่งชาติ เป็นเงินคงคลัง จะใช้ได้เฉพาะดอกผลเท่านั้น

ทรัพยากรธรรมชาติของเราไม่ได้มีเฉพาะปิโตรเลียม เรามีโปแตช ทองคำ ฯลฯ รวมถึงคลื่นความถี่โทรคมนาคมและการสื่อสาร ซึ่งเป็นเงินก้อนโตมาก


นอกจากนี้ ภาษีจากการท่องเที่ยวทั้งจากธรรมชาติ และวัฒนธรรม (ซึ่งเป็นรายได้สูงสุด) ก็เป็นสมบัติร่วมของคนไทยทั้งชาติ และทุกรุ่น ผมว่ารวมๆ กันเงินจากทรัพยากรดังกล่าวน่าจะโตไม่น้อย

และหากยังไม่พออีก ก็ต้องใช้หลักการจัดอันดับความสำคัญ สำหรับผมยึดหลักว่า ในเมื่อทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมเป็น “สมบัติของคนไทยทุกรุ่น” จึงจำเป็นต้องเก็บเอาไว้ให้คนไทยรุ่นหลังด้วย คนรุ่นปัจจุบัน หรืออนาคตจะมาผลาญเล่นย่อมไม่ได้

หากงบประมาณไม่พอจริงๆ ก็จำเป็นที่คนรุ่นปัจจุบันจะต้องตัดงบประมาณของตนลงมา จะเอาเงินของคนรุ่นอนาคตมาใช้เล่นเพลินๆ อย่างในอดีตไม่ได้แล้ว

ผมว่า แนวคิดที่ผมได้กล่าวมานี้จะนำประเทศเราไปสู่ “ความมั่นคงและยั่งยืน” ถึงแม้จะว่าไม่ “มั่งคั่ง” ก็ยังดีกว่าไม่มีทั้ง 3 อย่าง หากคนรุ่นนี้ไม่เห็นแก่คนในรุ่นของตนเองมากเกินไป 
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น