xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนบ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งกลุ่มเลี้ยง “ปลาเม็ง” หารายได้เสริมช่วงยางสี่โลร้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - เกษตรกรชาวสวนยางอำเภอบ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งกลุ่มเพาะขยายพันธุ์ปลาเม็ง ปลาเศรษฐกิจ และหายาก เลี้ยงขายได้ราคางามมีกำไรถึง 3 เท่าตัว เป็นรายได้เสริมมาจุนเจือครอบครัวในยุควิกฤตราคายางพารา 4 กิโลกรัม 100 บาท
 
นายเธียรพงศ์ สุดสงวน เกษตรกรชาวสวนยางพารา และผู้ใหญ่บ้านบ้านปากด่าน หมู่ที่ 1 ต.ท่าเรือ อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี ได้เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลาเม็งในบ่อพลาสติก จนประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มเกษตรเพาะเลี้ยงปลาจีด หรือปลาเม็ง บ้านปากด่าน ล่าสุด ทางราชการได้ยกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ พออยู่พอกิน ประจำปี 2558

นายเธียรพงศ์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้รับงบสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชน และธนาคาร ธ.ก.ส.สาขาบ้านนาเดิม ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยดำเนินการจัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการเพาะเลี้ยงปลาเม็ง ซึ่งเป็นปลาประจำท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยว และเป็นปลาที่หายาก จึงได้รวบรวมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติมาทดลองเลี้ยง และขยายพันธุ์แบบธรรมชาติ โดยใช้การจำลองแบบธรรมชาติให้มากที่สุดในบ่อพลาสติค กว้าง 1 เมตร คูณ 1 เมตรครึ่ง ระดับน้ำสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ใช้โคลนตรมจากป่าพรุที่มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปีมารองที่ท้องบ่อ ตัดไม้ไผ่ หรือท่อพีวีซีเป็นท่อนให้ปลาเข้าไปหลบพักอาศัย และวางไข่ จนสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ดี

สำหรับการลงทุนในการเลี้ยงนั้น ทางกลุ่มได้ใช้วัสดุธรรมชาติโดยใช้ต้นทุนต่ำ เช่น การใช้ถุงดำ และขุดดินจำลองขึ้นมา เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ที่ใช้ต้นทุนสูงได้ปริมาณปลาไม่แตกต่างกันมาก จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตนั้นต่ำอยู่ที่บ่อละ 3,800 บาท การเลี้ยงใช้เวลาประมาณ 8 เดือน สามารถจับปลาขายได้ 12,000 บาท ซึ่งนับว่าการเลี้ยงปลาเม็งทำรายได้ที่ดีกว่าการทำสวนยางพาราในช่วงวิกฤตยางพาราตกต่ำลงเหลือ 4 กิโลกรัมต่อ 100 บาท

ด้าน นายกุศล บุญกล่อม ผจก.ธ.ก.ส. สาขาบ้านนาเดิม กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอบ้านนาเดิม ทางธนาคารได้มีการอนุมัติเงินกู้ให้เกษตรกรชาวสวนยางรายละไม่เกิน 100,000 บาท ตามโครงการรัฐบาลดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ไปแล้วจำนวน 480 ราย คิดเป็นเป็นเงิน 47 ล้านบาท และยังมีอยู่อีกจำนวนหนึ่งที่กำลังรอการอนุมัติ โดยเกษตรกรชาวสวนยางพาราส่วนหนึ่งได้นำเงินไปลงทุนในการ เลี้ยงวัว ปลูกสับปะรด ปลูกมันขี้หนู ปลูกกล้วยหอมทอง เลี้ยงปลาดุก และเพาะเลี้ยงปลาเม็ง นอกจากนั้น ยังสนับสนุนเรื่องการตลาดให้อีกด้วย

ปลาเม็ง ภาคกลางเรียก ปลาจีด มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Heteropneustes Fossilis (Bloch) เป็นปลาน้ำจืดชนิดไม่มีเกล็ด ลำตัวสีดำคล้ายกับปลาดุก แต่จะแตกต่างกันตรงที่ความยาวของฐานครีบหลัง ปลาเม็งจะมีฐานครับหลังสั้นกว่าปลาดุก ปลาเม็ง จะเป็นปลาที่มีอวัยวะพิเศษมีถุงอากาศสำหรับสำหรับช่วยในการหายใจ จึงสามารถอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ เช่น บ่อ หนอง บึง และแม่น้ำต่างๆ ขนาดที่พบทั่วไปมีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ในประเทศไทย มีรายงานว่าพบปลาชนิดนี้อาศัยอยู่บริเวณบึงเล็กๆ แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนั้น จะพบในพื้นที่จังหวัดนครนายก ในภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานีพบมากที่สุด

สำหรับปลาเม็งเป็นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง และเป็นปลาประจำท้องถิ่นของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเป็นปลาที่ค่อนข้างจะหายาก และมีแนวโน้มที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากเนื้อปลามีรสชาติอร่อย สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด โดยเฉพาะยำปลาเม็ง เป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของอำเภอบ้านนาสาร และอำเภอบ้านนาเดิม จนเป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลายว่า หากได้มาเยือนแล้วไม่ได้ชิมรสชาติยำปลาเม็ง เหมือนมาแล้วไม่ถึงสุราษฎร์ธานี ซึ่งนับวันปลาเม็งจะนับวันหายาก หรือมีปริมาณลดน้อยถอยลง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี ได้มีการเพาะขยายพันธุ์สำเร็จเมื่อปี 2530 แต่ยังพบว่าในระหว่างการอนุบาลให้ได้ขนาด 2-3 เซนติเมตร ยังอยู่ในขั้นต่ำ ต่อมา ได้พัฒนาจนประสลผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ นำไปปล่อยในแหล่งน้ำดั้งเดิม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนทำให้ราคาปลาเม็งสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 600 บาท ปลาเม็งตากแห้ง หรือรมควัน กิโลกรัมละ 2,000-3,000 บาท แล้วแต่ขนาดของปลา จึงเป็นความหวังที่เกษตรกรชาวสวนยางพาราที่จะเพาะเลี้ยงขายสู่ตลาดทำรายได้มาเลี้ยงครอบทางหนึ่งในภาวะที่ราคายางตกต่ำ

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น