xs
xsm
sm
md
lg

ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเขย่า “ประยุทธ์” ยาง-ข้าวจุดชนวนม็อบไล่!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

อาจจะมาเร็วแบบผิดความคาดหมายสำหรับความเคลื่อนไหวของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่นัดหมายกันออกมาหารือเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หามาตรการช่วยเหลือให้ราคาสูงขึ้นกว่านี้ โดยพวกเขานัดประชุมในวันที่ 12 มกราคมที่จังหวัดตรัง การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เวลานี้ราคายางโดยเฉลี่ยต่ำกว่ากิโลกรัมละ 30 บาท หรือ “สี่กิโลร้อย” แล้ว โดยมีแนวโน้มว่าราคาจะตกต่ำลงไปอีก

เสียงเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้รัฐบาล โดยเฉพาะเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้อำนาจตามมาตรา 44 ชดเชยราคาส่วนต่างอย่างน้อยกิโลกรัมละ 50 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง ขณะเดียวกันให้หาทางระบายยางที่เก่าที่ค้างสต็อกอยู่ในโกดังประมาณ 2 แสนตันออกไป ซึ่งเชื่อว่านี่คือสาเหตุอย่างหนึ่งที่มีส่วนทำให้ราคาตกต่ำลงเรื่อยๆ อีกทั้งเมื่อถึงฤดูเปิดกรีดในเดือนมีนาคมหากไม่เร่งแก้ไขก็ยิ่งทำให้ราคายางตกต่ำลงไปอีก อาจจะต่ำลงไปถึง “ห้ากิโลร้อย” ก็ได้หากรัฐบาลไม่เข้ามาแทรกแซงราคา โดยเวลานี้ถือว่าเป็นช่วงที่ราคายางต่ำสุดในรอบสิบปีแล้ว

แม้ว่านั่นอาจเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของชาวสวนยางในภาคใต้เป็นหลัก ที่บรรดาแกนนำนัดหารือกันที่จังหวัดตรังในวันที่ 12 มกราคมนี้ ขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มาเร็วกว่าที่คาด เพราะเป็นการกดดันที่เริ่มดีเดย์ทันทีหลังผ่านช่วงเทศกาลฉลองปีใหม่มาหมาดๆ เท่านั้น

อย่างไรก็ดี อาจมองว่าเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของชาวสวนยางในภาคใต้ แต่เชื่อว่าชาวสวนยางในทุกภาคทั้งภาคตะวันออก ภาคอีสาน รวมไปถึงเกษตรกรทางภาคเหนือก็มีความเดือดร้อนไม่แพ้กัน ก็คงเฝ้ารอดูท่าทีจากฝ่ายรัฐบาลเช่นเดียวกัน เพราะราคายางพาราที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ แบบนี้จนถือว่าเป็น “ความเดือดร้อนร่วม” กันไปแล้ว

หากโฟกัสเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ที่ถือว่าเป็นพื้นที่สัญลักษณ์ของการปลูกยางพารา การเคลื่อนไหวคราวนี้ถ้าพิจารณาในเชิงการเมืองก็ต้องบอกว่าสร้างแรงกดดันในมุมกลับกับฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่น้อย เพราะเมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวนด์ก็ต้องยอมรับความจริงว่าพวกเขาย่อมต้องมองรัฐบาลและผู้นำในแง่บวกมาก่อน ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากแกนนำ กปปส.ที่นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ซึ่งเป็นคนภาคใต้ด้วยกันก็น่าจะทำให้ชาวสวนยางไม่น้อยเคยร่วมในการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่นำโดย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มาแล้ว

ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับรับความจริงเช่นเดียวกันว่าชาวสวนยางทางภาคใต้ได้เคยให้โอกาสกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำมาพอสมควรแล้ว อีกทั้งหากสังเกตให้ดีจะพบว่าบรรดาแกนนำคนสำคัญของ กปปส. ทั้ง สุเทพ เมือกสุบรรณ ถาวร เสนเนียม รวมทั้งใครต่อใครอีกหลายคนที่เคยร่วมชุมนุม แม้ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์เคยขอร้องให้อดทนรอ เนื่องจากให้ความหวังว่าด้วยมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหนือน่าจะทำให้ราคากระเตื้องขึ้นมาในระดับที่น่าพอใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่คาด กลายเป็นตรงกันข้าม ราคายิ่งดิ่งเหวลงไปเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้

เมื่อพิจารณาจากสัญญาณจากฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือใดๆ ออกมาให้เป็นรูปธรรม นอกจากการกระตุ้นให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ให้มีการปลูกพืชให้หลากหลายมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคา สังเกตได้จากการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสงขลา เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วก็ไปเยี่ยมชาวสวนยางบางรายที่หันมาปลูกพืชล้มลุก เช่น กล้วยหอมทองในสวนยางเก่าที่แบ่งพื้นที่มาปลูกพืชชนิดอื่น แต่สำหรับชาวสวนยางในภาคใต้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะที่ผ่านมามีการลงทุนไปกับการปลูกยางเป็นไม้ยืนต้นต้องใช้เวลานาน 8-10 ปี ต้องมีการลงทุนใหม่ ที่สำคัญหากมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเป็นหนี้เพิ่ม และคงต้องใช้เวลาในการปรับตัว

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาในมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว คือ การลงทุนสร้าง “เมืองยาง” ปรากฏว่าในความเป็นจริงก็ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เพราะมีการลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมน้อยมาก และที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำว่าภายในปีหน้าอาจจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมยางอีกนับสิบรายก็ยังถือว่าไม่เป็นรูปธรรม ต้องใช้เวลาอีกเป็นปีๆ รวมไปถึงการนำยางมาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนน สนามฟุตซอล ลู่วิ่งในสนามกีฬา เพื่อหวังยกระดับราคายาง เวลานี้ก็ยังไม่แพร่หลายเท่าใดนัก โดยเฉพาะการใช้เป็นส่วนผสมในการสร้างถนน เพราะมีการอ้างว่าต้นทุนสูงกว่ายางมะตอย

นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ต้องจับตาตามมาอีกก็คือ ราคาสินค้าเกษตรตัวอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน เวลานี้ก็ถือว่าราคาก็ตกต่ำ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องราคาข้าวที่ยังตกต่ำลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

แน่นอนว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาเกษตรตกต่ำแบบนี้มาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว เช่น เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีนที่ยังชะลอตัว รวมทั้งราคาน้ำมันที่ร่วงลงเรื่อยๆ ก็ยิ่งส่งผลกระทบโดยตรง แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องจับตามองเช่นกันว่ารัฐบาลจะต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเป็นรูปธรรมและทันท่วงที เพราะหากไว้แบบนี้ย่อมไม่เป็นผลดีแน่ เพราะเมื่อชาวสวนยางเริ่มเคลื่อนไหวต่อไปก็ต้องจับตาชาวสวนปาล์ม และตามมาด้วยชาวนา สารพัดม็อบที่ออกมาขย่มรัฐบาล และที่น่ากลัวก็คือผลกระทบจากภัยแล้งที่ผสมโรงเข้ามาทำให้ปีนี้เชื่อว่าทำให้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรับศึกหนักที่ตั้งเค้าตั้งแต่ต้นปีกันเลย

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงพวกม็อบฉวยโอกาสของเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร ที่รอจังหวะถล่มซ้ำอยู่แล้วก็เพิ่มแรงบวกอีกเป็นสองเท่า!
กำลังโหลดความคิดเห็น