ตรัง - ร้านอาหารเช้าเมืองตรังโอด! เก็บภาษีซ้ำภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ บางแห่งจำต้องปิดกิจการหลังเจอพิษยุคฝืดเคือง วอนจังหวัดเจรจาสรรพากรลดหย่อนขอจ่ายครึ่งเดียว ด้านสรรรพากรตรังระบุ ที่เก็บอยู่ก็ต่ำกว่าเกณฑ์มากพอแล้ว
วันนี้ (6 ม.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดตรัง นางรัศมี ขจรศิริศิลป์ ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร จ.ตรัง พร้อมตัวแทนสมาชิกร้านอาหารเช้าเมืองตรัง เข้าพบ นายสายัณห์ อินทรภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อขอความเห็นใจ และช่วยเป็นตัวกลางเจรจากับสำนักงานสรรพากรพื้นที่ตรัง ให้มีการลดหย่อน ผ่อนปรนอัตราฐานคำนวณจัดเก็บภาษีรายได้จากการประกอบการ ซึ่งต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน โดยคำนวณจากรายได้ประจำวัน
นางรัศมี ขจรศิริศิลป์ ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร จ.ตรัง กล่าวว่า ตนได้รับการแจ้งจากสมาชิกว่า กำลังได้รับความเดือดร้อนกรณีสรรพากรพื้นที่ตรัง มีการแจ้งให้ทางผู้ประกอบการไปจ่ายภาษีในอัตราคำนวณที่สูงมาก หากเทียบกับรายได้ และภาวะเศรษฐกิจที่วิกฤตในปัจจุบัน จนร้านอาหารเช้าเมืองตรัง ขนาดกลาง และเล็กบางส่วนทนรับภาระไม่ไหวจำต้องปิดตัวเองไป จะมีร้านเปิดมานาน มีลูกค้าประจำ และพอมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักก็ยังพออยู่ได้
แต่หากถามถึงยอดขาย ตอนนี้ทำได้แค่พออยู่เท่านั้น รายได้จริงๆ ทำได้แค่ 6 เดือน ส่วนอีก 6 เดือนก็ซบเซา ในขณะที่การคำนวณภาษีคิดจากรายได้ถัวเฉลี่ยทั้งปี ซึ่งบางครั้งก็ขัดแย้งต่อความเป็นจริง ซึ่งพวกตนไม่ได้ต้องการหลบเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการความเห็นใจลดหยอนลงบ้าง เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ได้เท่านั้น
ด้าน นายสายัณห์ อินทรภักดิ์ รองผู้ว่าราชการ จ.ตรัง กล่าวว่า ตนได้รับคำสั่งจาก นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้เป็นตัวแทนช่วยเจรจากับทางสรรพากรพื้นที่ตรัง ขอลดหยอนการจัดเก็บภาษีรายได้จากการประกอบการร้านอาหารเช้าเมืองตรังให้เหลือประมาณ 50% โดยทาง จ.ตรัง ไม่ได้คาดหวังว่าการจัดเก็บภาษีจะต้องเกินเป้า แค่ได้ตามเกณฑ์จากยอดการจัดเก็บของปีที่ประมาณ 10% ก็พอใจแล้ว เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบการในช่วงภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง และยังเป็นการไม่ขัดต่อการประกาศให้ จ.ตรัง เป็น 1 ใน 12 เมืองต้องห้ามพลาด เมืองแห่งคนช่างกิน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด
นายวรนิตย์ ชำนาญเนาะ นิติกรชำนาญการ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตรัง ซึ่งเป็นตัวแทนเข้าร่วมชี้แจงฯ กล่าวว่า โดยปกติการจัดเก็บภาษีมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนตามกฎหมาย และมีระบบตรวจสอบภายในที่เข้มงวด รัดกุม และโปร่งใส การจัดเก็บภาษีทุกขั้นตอนมีฐานคำนวณจากรายได้ของผู้ประกอบการที่มีการสุ่มตรวจที่มีความผิดพลาดน้อยมาก ซึ่งในความเป็นจริงก็มีการผ่อนปรน และลดหย่อนกันมากอยู่แล้วเท่าที่จะทำได้
หากทางจังหวัดระบุว่า ให้ลดลงถึงครึ่งหนึ่งจากที่เรียกเก็บนั้น ความเห็นส่วนตัวตนคิดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งประมวลกฎหมายการจัดเก็บภาษีประกาศใช้มีผลมาตั้งแต่ปี 2535 และตลอดเกือบ 30 ปี ภาวะเศรษฐกิจมีขึ้น-ลง มีบางช่วงยางพารา พืชเกษตรมีราคาดี กิโลกรัมละกว่า 100 บาท ก็ใช้กฎหมายในการจัดเก็บรายได้เดียวกัน อย่างไรก็ตาม การคำนวณฐานรายได้จัดเก็บภาษี ณ ปัจจุบันก็นับว่าต่ำกว่าเกณฑ์ด้วยซ้ำ ซึ่งการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายดังกล่าวไม่มีการอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมแต่อย่างใด