เมืองไทย 360 องศา
อาจจะเป็นครั้งแรกก็ว่าได้สำหรับแนวความคิดเกี่ยวกับการให้คนไทยทุกคนที่มีบัตรประจำตัวประชาชนต้องระบุอาชีพ และรายได้ ลงไปด้วย โดยอ้างว่าทำให้เกิดความสะดวกสำหรับรัฐบาลในการใช้เป็นฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งในเรื่องของความช่วยเหลือให้ตรงตัว และยังสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลในด้านภาษีเป็นข้อมูลสำหรับการขยายฐานด้านภาษี เป็นผลดีต่อการใช้จ่ายงบประมาณ สรุปก็คือ การมีข้อมูลที่ระบุอยู่ในบัตรประชาชนแบบนี้มีผลดีหลายอย่างก็แล้วกัน
นั่นคือ ทั้งเรื่องตัวเลขการจัดเก็บภาษี การใช้เป็นข้อมูลในการช่วยเหลือประชาชนได้แบบไม่ผิดตัว เช่น ผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็จะนำไปแสดงสำหรับการใช้บริการรถไฟ รถเมล์ฟรี เป็นต้น หรือหากเป็นชาวนา ชาวไร่ เวลามีมาตรการช่วยเหลือจากทางการก็จะได้มีความชัดเจน
แนวความคิดดังกล่าวได้รับการเปิดเผยจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาหลายครั้ง เคยมีการพูดถึงเรื่องการขยายฐานภาษีที่ปัจจุบันที่มีผู้เสียภาษีอยู่เพียงแค่กว่าสองล้านคนเท่านั้นจากจำนวนคนทั้งประเทศ ซึ่งที่เหลือก็มีทั้งประเภทที่หลบเลี่ยงภาษี หรือพวกที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ และที่ผ่านมา ยังมีข้อมูลที่รั่วไหล ทำให้การจัดเก็บภาษียังไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในรายการ “คืนความสุขฯ” เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีการระบุถึงเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลของคนไทยอีกครั้ง โดยคราวนี้ได้เสนอแนวความคิดที่จะให้คนไทยระบุอาชีพ และรายได้ ลงในบัตรประชาชน เพื่อจะเป็นประโยชน์ทั้งในเรืาองการจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งยังสะดวกสำหรับการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยแบบตรงตัวไม่ผิดพลาด โดยมีความประสงค์จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2560
ไม่ทันสิ้นเสียงดีนัก ก็ได้ผลทันที นั่นคือ หันไปทางไหนมีแต่เสียงด่ากลับมารอบทิศ มีทั้งเหน็บแนม ด่าทางอ้อม ด่ากันตรง ๆ กัดจิกรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เผยแพร่แนวคิดดังกล่าวออกมาเป็นที่สนุกสนาน
ชนิดที่เรียกว่าในโลกโซเชียลตลอดทั้งวัน มีแต่การแชร์การโพสต์แสดงความเห็นคัดค้านกันอย่างร้อนแรง น่าสังเกตก็คือ ในเรื่องนี้ไม่มีใครออกมาแสดงความเห็นด้วย หรือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลยสักรายเดียว อย่างมากก็แค่ให้ใจเย็นรอฟังคำชี้แจงให้ชัดเจนก่อน เอาเป็นว่าด้วยสาเหตุเรื่องนี้เรื่องเดียวน่าจะทำให้คนไทยทุกสี “สามัคคีปรองดอง” กันได้เป็นครั้งแรก ที่เห็นร่วมกันในการรุมถล่มรัฐบาลแบบพร้อมเพรียงกัน
ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า นี่คือ ปัญหาหรือ “จุดอ่อนในด้านการสื่อสาร” ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เพราะหากโทษว่าเป็นการเข้าใจผิดก็ต้องเริ่มต้นมาจากตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่พูดแบบไม่ขยายความให้เข้าใจชัดเจน เพราะเพียงแค่การบอกว่าให้ระบุอาชีพและรายได้ลงในบัตรประชาชน พูดห้วน ๆ แค่นี้มันก็มีปัญาแล้ว เพราะมันละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องกับสิทธิส่วนบุคคล ที่เปิดเผยกันให้คนอื่นรู้ไม่ได้
ที่บอกว่ามีปัญหาในเรื่องการสื่อสารก็เพราะว่าการแถลงของ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็พูดแบบไม่เข้าใจอารมณ์คนไทยอีกว่า “เราต้องยอมรับว่ามาตรการช่วยเหลือประชาชนในการลดภาระค่าครองชีพยังลงไปไม่ถูกกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง เช่น นโยบายรถเมล์ และรถไฟฟรี ที่ใครก็สามารถใช้บริการได้หมด เป็นต้น ดังนั้น การทำฐานข้อมูลที่มีการระบุรายได้และอาชีพแบบใหม่นี้จะเป็นการแสดงตัวช่วยให้นโยบายการลดภาระค่าครองชีพลงไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมระบบภาษี ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากให้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษีไม่ใช่การรีดภาษี แต่อยากให้ประชาชนอยู่ในระบบภาษีที่เหมาะสมตามลำดับรายได้ของแต่ละบุคคล เพื่อนำเงินมาใช้ในการพัฒนาประเทศ”
“นอกจากนี้ ยังช่วยเอื้อประโยชน์ในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพราะที่ผ่านมามีปัญหาการตรวจสอบที่ยาก เพราะต้องผ่านหลายหน่วยงาน จึงทำให้มีความผิดพลาดเงินช่วยเหลือที่จ่ายไปไม่ตรงตัวบุคคล ส่วนการที่มีบางฝ่ายกังวลว่านโยบายบัตรประชาชนแบบระบุอาชีพ และรายได้จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ขอยืนยันว่า การแสดงข้อมูลมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนที่จะนำไปช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอยากถามผู้ที่ตั้งข้อสังเกตว่ามีวิธีแก้ปัญหาแบบอื่นหรือไม่ อย่าเพียงตั้งข้อสังเกต แต่ต้องมีข้อเสนอแนะด้วยเพื่อไม่ให้ประเทศเกิดความสับสนและขอให้มองที่เจตนารมณ์ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศด้วย”
นั่นเป็นคำพูดของ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเหนิด ที่ออกมาแถลงปกป้องแนวความคิดหรือว่านโยบายของ นายกฯที่เกี่ยวกับการระบุอาชีพและรายได้ของประชาชนว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิ์ประชาชน แต่จะเป็นผลดีในหลายด้านโดยเฉพาะพิจารณาในเรื่องการช่วยผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น ประเด็นที่ชาวบ้านเขารุมด่าอยู่ในเวลานี้ก็คือพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการระบุตัวเลขรายได้ในบัตรประชาชน เพราะมันเรื่องส่วนบุคคล เป็นการละเมิดสิทธิ์
อย่างไรก็ดี ล่าสุด มีการแถลงชี้แจงจากปลัดกระทรวงมหาดไทย กฤษฎา บุญราช และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ระบุยืนยันว่า เป็นเพียงความคิดเบื้องต้นหากระบุก็จะระบุในฐานข้อมูลหรือในไมโครชิปเท่านั้น ไม่ใช่การระบุลงในบัตรให้เห็น นี่ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ต่างหาก ซึ่งต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ก็เพิ่งออกมาพูดแบบเดียวกันว่าให้ระบุลงในฐานข้อมูล หากเป็นแบบนี้เสียงค้านมันก็จะเบาลง แม้ว่าจะต้องมีรายละเอียดตามมาอีกมาก แต่อย่างน้อยรัฐบาลก็จะไม่โดนด่าฟรีอย่างที่เป็นอยู่
ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่านี่คือปัญหาของ “การสื่อสาร” กับประชาชน ที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยอมรับว่า มีปัญหา และนี่ก็อีกครั้งที่เป็นบทเรียนเกิดขึ้นจนทำให้รัฐบาลเสียรังวัด !!