ปัตตานี - ม.อ.ปัตตานี จัดเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “ตากใบ” กับความลักลั่นบนเส้นทางกระบวนการสันติภาพ เพื่อตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยในบ้านเราว่าเป็นระบอบที่แท้จริง หรือเพียงแค่ชื่อ โดยผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต
วานนี้ (25 ต.ค.) ม.อ.ปัตตานี จัดเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “ตากใบ” กับความลักลั่นบนเส้นทางกระบวนการสันติภาพ โดยมี ทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพฯ และ แวหะมะ แวกือจิ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน เป็นผู้ดำเนินรายการท่ามกลางประชาชนให้ความสนใจร่วมรับฟังเป้นจำนวนมาก
โดยในเวทีการเสวนาในครั้งนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต่อกรณีเหตุการณ์ตากใบขาดความเป็นนักประชาธิปไตย มันกลายเป็นสักขีพยานตอกย้ำว่า รัฐไทยเกลียดชังประชาธิปไตยจริงจากการกระทำที่เห็นได้ชัด การไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นต่างของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะคำว่าประชาธิปไตยความหมายคืออะไรนั้น ในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ที่เน้นหนักต่อความสำคัญของสิทธิเสรีภาพในระดับปัจเจกบุคคลของประชาชนทุกเชื้อชาติ และศาสนา คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำนี้ และคงไม่มีใครไม่เข้าใจความหมายของคำนี้ว่าเกี่ยวข้องต่อประชาชนอย่างไร หากจะมีบ้างที่ไม่เข้าใจก็น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้รับการศึกษา กลุ่มคนที่เสียสติ กลุ่มคนที่ถูกทำให้เสียสติจากสารเคมี หรือยาเสพติด
ความหมายของคำว่าประชาธิปไตยนั้นคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าเป็นเรื่องของการยอมรับว่าอำนาจในการปกครอง และบริหารประเทศชาติ ตลอดจนการมีระเบียบสังคมที่มีหลักประกันความสุขอันเนื่องจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครองจากนิติรัฐนั้นต้องมาจากประชาชนเป็นผู้กำหนด กำกับดูแล และตรวจสอบ
ดังนั้น จึงไม่แปลกว่าในประเทศชาติที่ประกาศต่อสังคมโลกว่า เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนั้น สังคมโลกย่อมจะเข้าใจว่าประเทศเหล่านั้นมีประชาชนที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เต็มไปด้วยหลักประกันความสุขอย่างถ้วนหน้า
แต่กระนั้นประเทศไทยก็ได้ทำให้ความเข้าใจของสังคมโลกดังกล่าวผิดเพี้ยนไป เพราะปฏิกิริยาของรัฐไทยต่อเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน ตั้งแต่ได้ประกาศต่อสังคมโลกว่า ได้ปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี ค.ศ.1932 อย่างเป็นทางการนั้น ไม่เพียงแต่ไม่รับฟังเท่านั้น หนำซ้ำยังใช้ความรุนแรงจากกองทัพทหาร และตำรวจ ทำการเข่นฆ่าประชาชนอย่างโหดเหี้ยม เช่น เหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ชุมนุมมัสยิดกลางปัตตานี 2518 6 ต.ค. 2519 พฤษภาคม 2535 ตากใบนองเลือด 2547 และราชประสงค์เลือด 2553
โดยเฉพาะเหตุโศกนาฏกรรมตากใบ เป็นการสะท้อนว่าสันติวิธีโดยประชาชนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีอย่างเท่ากันนั้น ที่แท้ก็เป็นการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐเพียงเท่านั้น ในทางปฏิบัตินั้นรัฐไทยมีแต่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ความพยายามสื่อสารทางการเมืองจากประชาชนโดยแนวทางสันติวิธี
แน่นอนว่าการที่รัฐๆ หนึ่งจะเคารพเสียงประชาชนหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ทางเมืองของรัฐๆ นั้น หากในทางปฏิบัตินั้นรัฐใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่เรียกร้องหลักประกันความสุขจากรัฐ ก็แสดงว่าในความเป็นจริงนั้นรัฐดังกล่าวมีความเป็นประชาธิปไตยเพียงแค่ชื่อเท่านั้น
อีกทั้งในปัจจุบันนี้อำนาจการปกครองสูงสุดของประเทศไทยนั้นอยู่ในมือของทหาร และทหารกลุ่มดังกล่าวยังประกาศว่าจะสร้างสันติภาพให้แก่ชาวปาตานีด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ขณะเดียวกัน ความสูญเสียของประชาชนจากกรณีโศกนาฏกรรมตากใบยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่การสังหารประชาชนถึงตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง รัฐก็ยังไม่สามารถให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนได้ แล้วจะให้ประชาชนปาตานีมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินการโดยรัฐไทยที่ยังมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบทุนนิยมผูกขาดศักดินาเหนือรัฐได้อย่างไร ?