xs
xsm
sm
md
lg

เวทีพูดคุยสันติสุขดับไฟใต้กับ “ข้อเสนอซ่อนเงื่อน” ที่ต้องรอบคอบหากจะก้าวต่อไป / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
“การพูดคุยสันติสุข” อย่างเป็นทางการยกแรก ระหว่างตัวแทนขบวนการแบ่งแยกดินแดน 6 กลุ่ม กับตัวแทนของรัฐบาลไทย โดย พล.อ.อัษรา เกิดผล โดยมี ดาโต๊ะ ซัมซามิน อดีต ผอ.สำนักข่าวกรอง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการเปิดเวทีก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ ตัวแทนของรัฐบาลไทย และตัวแทนของขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ ได้มีการพูดคุยกันมาแล้วหลายครั้งแบบไม่เป็นทางการ
 
สาระสำคัญของการพบปะพูดคุยระหว่างตัวแทนของขบวนการทั้ง 6 กลุ่ม กับตัวแทนของรัฐบาลไทยนั้น ฝ่ายไทยได้นำเสนอต่อกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้ง 6 กลุ่มรวม 3 ข้อด้วยกัน คือ 1.การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งหมายถึงให้ฝ่ายขบวนการยุติการก่อการร้าย 2.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชน นั่นคงหมายถึงงานของการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 3.สร้างกระบวนการยุติธรรมให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย นั่นย่อมหมายถึงการแก้ปัญหาด้านความเป็นธรรมที่เป็นรากเหง้าของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ในขณะที่ตัวแทนของขบชวนการก็ได้หยิบยื่นข้อเสนอให้ฝ่ายรัฐบาลไทยพิจารณา 3 ข้อเช่นกัน คือ 1.กำหนดให้การพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลชุดต่อไปจะต้องสานต่อการพูดคุยของทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่อง 2.ให้รัฐบาลไทยยอมรับว่า “องค์กรมาราปัตตานี” ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อการเข้าสู่เวทีการพูดคุยสันติภาพ เป็นองค์กรที่ชอบด้วยกฎหมาย 3.ให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อคณะพูดคุยสันติสุข จำนวน 15 คน
 
โดยมีการกล่าวว่า ในขณะที่การพูดคุยดำเนินอยู่ ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ จะไม่โจมตีเป้าหมายที่อ่อนแอ นั่นแสดงให้เห็นว่า ถ้าการพูดคุยสันติสุขยังไม่มีการยกเลิก หากเกิดเหตุต่อเป้าหมายที่อ่อนแอ เช่น ประชาชน ข้าราชการพลเรือน พระภิกษุ และอื่นๆ ที่อยู่ในข่ายของเป้าหมายอ่อนแอ บีอาร์เอ็นฯ จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
 
ขบวนการที่เข้าร่วมพูดคุยสันติสุขครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู หรือที่รู้จักกันในนามของ “บีอาร์เอ็นฯ” 2.แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามปัตตานี “บีไอพีพี” 3.ขบวนการมูจาฮีดินอิสลามปัตตานี หรือ “จีเอ็มไอพี” และ 4, 5 กับ 6 คือองค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี หรือ “พูโล” ที่แยกกันเป็น 3 กลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็ส่งตัวแทนเข้ามาร่วมเวทีการพูดคุยด้วย
 
เมื่อมองดูขบวนการ หรือกลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วมเวทีพูดคุยสันติสุขครั้งนี้ จะเห็นว่า ณ วันนี้มีเพียงขบวนการบีอาร์เอ็นฯ เท่านั้นที่มีกองกำลังติดอาวุธ และก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ส่วนขบวนการจีเอ็มไอพี ขบวนการพูโล แม้ว่าจะยังพอมี “สมาชิก” หรือ “แนวร่วม” ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธอยู่บ้าง แต่ก็อยู่ในลักษณะของการว่าจ้างเพื่อให้ก่อเหตุร้าย
 
ส่วนแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามปัตตานี หรือบีไอพีพีนั้น เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่แก่แก่ ซึ่งวันนี้มีเพียงความเคลื่อนไหวในประเทศต่างๆ อาจจะมีบทบาทงานด้าน “การเมือง” แต่ไม่มีบทบาทงานด้าน “การทหาร” หรือการก่อการร้ายแต่อย่างใด
 
จะเห็นว่าแม้จะมีผู้เข้าร่วมพูดคุยถึง 6 กลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็น 7 หรือ 8 กลุ่มในอนาคต แต่บทบาทของการเป็น “ผู้นำ” ในการพูดคุยยังอยู่ที่ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ เนื่องจากหัวหน้าของกลุ่มทั้ง 6 กลุ่มคือ “อาวัง ยะบะ” ที่ถูกยกให้เป็นประธานกลุ่ม “มารา ปาตานี” ส่วนหัวหน้าคณะการพูดคุยคือ “สุกรี ฮารี” ซึ่งเป็น “แกนนำ” คนสำคัญสายเยาวชนของบีอาร์เอ็นฯ
 
และเมื่อเปิดแฟ้มประวัติดูจะพบว่า “สุกรี ฮารี “ คือ ครูสอนศาสนา เป็นผู้จัดการโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาชื่อดังของ จ.ยะลา เป็น 1 ใน 9 ผู้ต้องหาความมั่นคงที่ถูกจับกุมเมื่อหลายปีก่อน และมีอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ท่านหนึ่งเป็น “นายประกัน” เพื่อให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราว
 
แต่หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัว “สุกรี ฮารี” ก็ไม่เคยไปศาลตามหมายเรียก แต่เลือกที่จะหลบหนีไปนอกประเทศ และเป็นแกนนำคนสำคัญของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ในการต่อสู้กับรัฐบาล และสุดท้ายเขาคือ หัวหน้าคณะมาราปาตานี ที่รับผิดชอบในการพูดคุยกับตัวแทนของรัฐบาลไทย ในการเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ เพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่ต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย
 
จะเห็นว่าแม้ในการเปิดเวทีพูดคุยครั้งนี้ไม่มีทั้ง “ฮาซัน ตอยิบ” ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าในการพูดคุยสมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และข้อเสนอ 5 ข้อที่บีอาร์เอ็นฯ เคยเสนอต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้มีการนำเสนอต่อการพูดคุยในครั้งนี้ แต่ก็อย่างเพิ่งเชื่อว่าจะไม่มีการนำเสนอข้อเสนอเก่าทั้ง 5 ข้อเข้ามาในอนาคต
 
เพราะในการแถลงข่าวของมารา ปาตานี ต่อสื่อมวลชนนั้น ยังมีการแถลงที่ชัดเจนว่า ทุกขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้มีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ “เอกราช” ซึ่งคำว่าเอกราชนี้คงจะต้องตีความว่าเป็นอะไร และอย่างไร
 
และแม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะนำเสนอข้อเรียกร้องฝ่ายละ 3 ข้อ แต่ทั้ง 3 ข้อถ้าอ่านเพียงผ่านไปอาจะไม่เห็นนัยที่ซ่อนเร้น แต่ถ้ามีการ “ตีความ” หรือ “ขยายความ” จะเห็นว่า ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง
 
เช่น การให้นำเรื่องการพูดคุยเป็น “วาระแห่งชาติ” และการให้รัฐบาลรับว่า องค์กรมารา ปัตตานี เป็นองค์กรที่ “ถูกต้องตามกฎหมาย” ก่อนการยอมรับก็ต้องให้ความรอบคอบอย่างยิ่ง
 
เนื่องเพราะการยอมรับองค์กรมารา ปัตตานี เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย อาจจะถูกนำไปเคลื่อนไหวในประเทศที่ 3 ในองค์กรสากลของโลก และองค์กรอื่นๆ เพื่อสร้าง “ความชอบธรรม” หรือ “ความได้เปรียบ” ในการก้าวต่อไปของการเจราจา ซึ่งล้วนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
 
เช่นเดียวกับเงื่อนไขการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นข้อเสนอของรัฐบาลไทย ฝ่ายขบวนการก็ต้องทบทวนอย่างหนัก เพราะหากมีการรับขอเสนอดังกล่าว นั่นหมายถึงกองกำลังเหล่านั้นจะปฏิบัติการทางทหารไม่ได้นั่นเอง
 
แต่อย่างไรก็ตาม การพูดคุยครั้งนี้เป็นเพียง “ออเดิร์ฟจานแรก” ที่ถูกนำมาวางบนโต๊ะเท่านั้น ส่วนจานที่จะตามมาซึ่งถือเป็น “จานหลัก” บนโต๊ะเจรจายังไม่มีใครคาดเดาได้ และการพูดคุย หรือเจรจาครั้งนี้เป็นเพียงการสร้างความเข้าใจ หรือทำความรู้จักระหว่างกันเท่านั้น ซึ่งคงจะต้องรอให้มีการพูดคุย หรือเจรจาครั้งที่ 2 ซึ่งกะว่าจะเกิดขึ้นในปลายเดือนตุลาคมนี้ เชื่อว่าจะเป็นให้คำตอบของทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะยอมรับข้อเสนอของกันและกันอย่างไร
 
ซึ่งตรงนั้นแหละที่จะได้เห็นอะไรต่อมิอะไรที่ชัดเจน และจะได้เห็น “คมเขี้ยว” และ “ชั้นเชิง “ ของแต่ละฝ่าย ซึ่งในการพูดคุยครั้งต่อไปจะเป็นจุดที่ชี้ขาดว่า การพูดคุยจะเป็นจุดในการสร้างสันติสุขได้จริง หรือสุดท้ายแล้วสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกของความเลวร้ายเช่นเดิม
 
อย่าลืมว่ากลุ่มผู้เห็นต่างกับรัฐบาลไทย และกับมาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุข ไม่ได้มีเพียง 6 กลุ่ม แต่ยังมีกลุ่มผู้ที่เห็นต่างที่ไม่ได้เข้าร่วมเวทีพูดคุย และไม่เห็นด้วยต่อวิธีการนี้ โดยอาจจะออกมาเคลื่อนไหวด้วยการใช้ความรุนแรงเป็นการตอบโต้การพูดคุยสันติสุขในครั้งนี้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
 
ที่น่าจับตามองคือ กลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยระดับ “แกนนำ” หลายคนที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย ต่างถูก “กักตัว” หรือมีการภารกิจเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ ในห้วงที่มีการเปิดเวทีพูดคุยสันติสุขในครั้งนี้
 
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การพูดคุยของคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายก็เป็นเรื่องที่ดี เป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ให้การสนับสนุนในการแก้ปัญหาความไม่สงบ หรือในการดับไฟใต้ เพราะมีเมื่อก้าวแรกก็ย่อมต้องมีก้าวต่อไป และต่อไป ซึ่งเป็นการก้าวไปสู่สันติสุข ซึ่งวันนี้ยังคงไกลลิบ แต่เชื่อว่าไม่ไกลจนไปไม่ถึง หากทั้ง 2 ฝ่ายมีความตั้งใจ และมีความจริงใจต่อปัญหาความไม่สงบที่ปลายด้ามขวาน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น