คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
ถ้าถามว่า ณ วันนี้สถานการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าดีขึ้นเรื่อยๆ นั้น เป็นจริงอย่างนั้นไหม
ในฐานะของ “สื่อในพื้นที่” ก็คงจะตอบได้แบบตรงๆ ไม่ใช่แบบข้างๆ คูๆ ว่า เป็นความจริงในบางเรื่อง เช่น เรื่องของ “มวลชน” หรือประชาชน หรือชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่ใช่เป็น “ไทยพุทธ” แต่เป็น “มุสลิม” ซึ่งเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่เข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะใน 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุร้าย ไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิด หรือเหตุการณ์อื่นๆ
จะไม่ได้ยินคำว่า “เจ้าหน้าที่สร้างสถานการณ์” ซึ่งผิดกับเมื่อก่อนที่ทุกครั้งที่เกิดเหตุก่อวินาศกรรม หรือมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ต่างๆ ชาวบ้านในพื้นที่จะกล่าวหาว่า เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ
และที่เห็นได้ชัดอีกเรื่อง คือ ณ วันนี้การร้องทุกข์ การร้องเรียน การกล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร และข้าราชการหน่วยอื่นๆ ในเรื่องการซ้อม การทารุณ การข่มเหงในเรื่องราวต่างๆ น้อยลงเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด
แสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่มากขึ้น และให้ความเป็นมิตรต่อ “ทหาร” ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่มากขึ้น
นี่น่าจะสอดคล้องต่อการดำเนินการงานทาง “การเมือง” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่เน้นงานพัฒนาได้ตรงประเด็น ตรงเป้าหมายที่ทำ ตรงต่อความต้องการของชาวบ้าน จนสามารถเปลี่ยนแปลงท่าทีของจากความไม่เป็นมิตร ไม่ไว้วางใจ มาเป็นมิตร และไว้วางใจมากขึ้น
แต่ในด้านของการระวังป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และการป้องกัน “แนวร่วม” ก่อเหตุร้าย ยังถือว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และรัฐบาลยังสอบผ่านด้วยคะแนนแค่ 50 เต็ม 100 หรือถ้าไม่เป็นเพราะมี “คะแนนเสน่หา” ช่วยไว้ก็น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าสอบตกด้วยซ้ำ
โดยเฉพาะในส่วนของเรื่องการ “พูดคุยสันติสุข” ซึ่งล่าสุดของ 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนคือคำตอบที่ชัดเจนว่า การพูดคุยที่ผ่านมาทั้งหมด คนที่เข้ามาพูดคุยด้วยกับตัวแทนของรัฐยังไม่ใช่ “ของจริง” เพราะของจริงที่ “สั่งการ” ให้มีการก่อเหตุยังไม่ได้พูดคุยกับตัวแทนของรัฐ หรือไม่ก็ได้ปฏิเสธแนวทางที่นำเสนอโดยรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้สั่งให้มีการก่อเหตุร้ายในห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เพื่อเป็นการตอบต่อสังคมว่า “พวกเขา” ยังยึดมั่นในแนวทางของการใช้ “ความรุนแรง”
เช่นเดียวกับการที่รัฐบาลได้สั่งให้กรมราชทัณฑ์พักโทษ “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” หรือ “นายสะมะแอ สะอะ” หรือ “นายสะมะแอ สุหลง” อดีตหัวหน้าขบวนการพูโลเก่า โดยเชื่อว่าวิธีการนี้น่าจะทำให้ “ได้ใจ” ของมุสลิมบางส่วน และเขาอาจจะเป็น “โซ่ข้อกลาง” ในการสร้างความเข้าใจ ลดข้อขัดแย้ง และลดความหวาดระแวงลงไปได้
โดยข้อเท็จจริงการพยายามใช้หะยีสะมะแอ ให้เป็นประโยชน์เพื่อลดความร้อนที่เป็น “ไฟในใจ” ของผู้คนกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเขา รวมถึงพวกเดียวกับ “หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ” อดีตหัวหน้าขบวนการพูโลใหม่ และ “หะยีบือโด เบตง” ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของขบวนการพูโล
เริ่มจาก นายภานุ อุทัยรัตน์ เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง ผอ.ศอ.บต.เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ด้วยการขอตัวหะยีสะมะแอ จากเรือนจำบางขวาง มาทำการควบคุมตัวที่เรือนจำกลางสงขลา เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ญาติมิตรของนักโทษทั้ง 3 คน ในการเข้าเยี่ยม โดยไม่ต้องเดินทางด้วยความยากลำบากถึง กทม. และยังมีความพยายามช่วยเหลือในด้านอื่นๆ อีกด้วย
ต่อมา ในครั้งที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ทำหน้าที่เลขาธิการ ศอ.บต. ได้มีการผลักดันให้แก้ระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ให้เรือนจำที่ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส สามารถที่จะ ควบคุมตัวผู้ต้องหาที่มีโทษเกิน 20 ปีได้ รวมทั้งมีการปรับปรุงระเบียบต่างๆ ของเรือนจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้สอดคล้องต่อวิถีชีวิตของผู้ต้องขัง ซึ่งส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิม และสุดท้าย มีการย้าย หะยีสะมะแอ และพลพรรคมาควบคุมตัวในเรือนจำยะลา เพื่อความสะดวกในการที่ญาติมิตรจะได้ติดต่อ
ซึ่งตลอดระยะเวลา ที่หะยีสะมะแอ ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ทั้งที่บางขวาง ที่เรือนจำกลางสงขลา และที่เรือนจำยะลา ได้มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายแวะเวียนไปเยี่ยม และหลายครั้งที่ขอให้เขาเขียน “จดหมายน้อย” ถึงคนในขบวนการเพื่อเป็น “ตัวเชื่อม” ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้นำขบวนการ
ในกรณีการปล่อยตัวหะยีสะมะแอ นั้น สิ่งที่รัฐบาล และกองทัพอาจจะได้คือ ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมในสายตาของชาวโลก ที่อาจจะชื่นชมว่ากระบวนการยุติธรรมของเรามี “ความเป็นธรรม” และมี “ความเป็นสากล” มากขึ้น แต่สำหรับบุคคลอื่นๆ ในพื้นที่ หรือในประเทศไทยจะ “เห็นด้วย” หรือ “เห็นต่าง” เสียงที่ตอบรับยังก้ำกึ่งกันมาก
โดยเฉพาะในส่วนที่คาดหวังว่า หะยีสะมะแอ จะเป็นผู้ที่สามารถ “พูดคุย” กับกลุ่มขบวนการต่างๆ ที่ก่อการร้ายอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้เข้าใจรัฐบาล เข้าใจทหารที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ ยังเป็นเรื่องที่ “ห่างไกล” ความเป็นจริงอยู่บ้าง
เหตุผลคือ กองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง “แกนนำ” ในประเทศเพื่อนบ้านขณะนี้ไม่ใช่กลุ่มเดียวกับที่หะยีสะมะแอ เคยรู้จัก และพูดคุยรู้เรื่อง โดยเฉพาะแกนนำและแนวร่วมในพื้นที่มี “ธง” ที่ชัดเจนในการไม่เชื่อและไม่ฟังในสิ่งที่ขัดแย้งกับความคิดของพวกเขา
และที่เป็นข้อเท็จจริงคือ วันนี้ของหะยีสะมะแอ ย่อมไม่เหมือนกับวันที่เขายังเป็นหัวหน้าขบวนการพูโลเมื่อ 30 ปีก่อน เพราะ “รอยเท้าเสือ” ในวันนี้มี “หญ้า” งอกเงยแล้วนั่นเอง
ที่ผ่านมา เคยมีอดีตหัวหน้าขบวนการ อดีต ผบ.กองกำลัง อดีตฝ่ายการเมือง และอดีตผู้นำอูละมาของขบวนการพูโล และขบวนการอื่นๆ หลายต่อหลายคนที่เข้ามอบตัว และขอเป็นโซ่ข้อกลางให้แก่หน่วยงานของรัฐในการพูดคุยเพื่อให้กลุ่มผู้ที่ “เห็นต่าง” เข้าใจนโยบายของรัฐบาลของกองทัพ
ไม่ว่าจะเป็น ยูโซ๊ะ ปากีสถาน อดีตผู้บัญชาการทหารของขบวนการพูโลรุ่นแรก ที่เข้ามอบตัว และรับปากว่าจะเป็นผู้ช่วยเหลือรัฐบาลเพื่อสร้างสันติสุข รวมทั้งใครต่อใครอีกหลายคนที่ล้วนแต่มี “หมวกใบใหญ่” และสุดท้ายก่อนที่จะมีการพักโทษแล้วปล่อยตัว หะยีสะมแอ
หรืออย่างอดีตประธานขบวนการเปอร์ซาตูอย่าง ดร.วันอับดุลกาเดร์ เจ๊ะมาน ก็ถูกกองทัพเชื้อเชิญให้กลับมาบ้านเกิดที่ จ.ปัตตานี เพื่อทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางในการเปิดเผย “ความจริง” ในหลายด้านของขบวนการ เพื่อให้คนในพื้นที่ แกนนำ และแนวร่วมที่ปฏิบัติการอยู่ในขณะนี้ได้เข้าถึงข้อ “เท็จจริง”
แต่สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือ สถานการณ์แห่งความจริงที่เห็นๆ กันอยู่
แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะอย่างไร การพักโทษ และปล่อยตัวหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ในครั้งนี้ ย่อมมีผล “บวก” มากกว่าผลในด้าน “ลบ” ส่วนจะเห็นผลบวกอย่างไร สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือเครื่องพิสูจน์ให้เห็นได้ในไม่ช้า
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสงบได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของ “โชคช่วย” แต่เป็นเรื่อง “ฝีมือ” โดยอาศัยนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ
ล่าสุด “พระ” และ “ทหาร” ที่ต้องพลีชีพใน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ต่างหากที่เป็น “ปัจจัย” ในการบอกให้รู้ว่า วันนี้สถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดภาคใต้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หรือยังย่ำเท้าอยู่กับที่