xs
xsm
sm
md
lg

หยุด “ยืดเวลา” การพูดคุยสันติสุข..เสียงเตือนถึง “กองทัพ-คสช.-รัฐบาล” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย... ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
สถานการณ์การก่อเหตุร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุร้ายเกิดขึ้นน้อยลง สร้างความ “อุ่นใจ” ให้กับคนในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่ไว้วางใจว่าสถานการณ์รุนแรงจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ แต่การที่เสียงระเบิดและปืนห่างหายไปบ้าง ก็อาจจะทำให้คนในพื้นที่มีโอกาสในการคิดถึงเทศกาลสงท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เช่นเดียวกับคนในพื้นที่อื่นๆ หลังจากที่ต้องหวาดผวากับเทศกาลปีใหม่มาอย่างยาวนาน
 
เพราะช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ของคนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาคือ “เทศกาลการก่อการร้าย ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งก่อเหตุเพื่อทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวและการลงทุนของชายแดนใต้มาโดยตลอด
 
จึงหวังว่าปีนี้ขอให้เป็น “ปีแรก” ที่คนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้จะได้มีความสุขกับการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วประเทศกับเขาบ้าง
 
อย่างไรก็ตาม กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็อย่างได้ชะล่าใจกับสถานการณ์ที่สงบลงในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และอย่างเพิ่งคิดเข้าข้างตนเองว่า ขณะนี้ กอ.รมน.สามารถที่จะ “ควบคุมสถานการณ์” เอาไว้ได้แล้ว และการ “พูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง” มีส่วนในการช่วยทำให้เหตุการณ์ร้ายลดจำนวนลง
 
เพราะเมื่อติดตามความเคลื่อนไหวของ “แนวร่วม หรือสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นฯ ในปีกของ “นักรบ ยังพบเห็นความเคลื่อนไหวทั้งในพื้นที่ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส รวมทั้งในพื้นที่ของ “รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือเป็น “ที่มั่นหรือเป็นพื้นที่ “หลังพิง ของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ อย่างเป็น ขบวนการอยู่
 
ดังนั้นการหยุดนิ่งของสถานการณ์ร้ายในพื้นที่ จึงอาจจะเป็นเพียง “กลลวง ของบีอาร์เอ็นในปีกของนักรบ เพื่อให้กำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ “ผ่อนคลาย” การปฏิบัติการ หรือเพื่อรอโอกาสที่กำลังของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ “อ่อนล้าและเปิด “ช่องว่าง เพื่อให้แนวร่วมฉวยโอกาส เข้าโจมตีเป้าหมาย
 
รวมทั้งมีโอกาสเป็นไปได้ที่ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ แสร้งทำตัวเป็น “หลบซ่อน” แต่ได้เตรียมแผนปฏิบัติการ “รวมดารา” ในห้วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เพื่อสร้างความเสียหายกับ “หัวเมืองเศรษฐกิจ” เหมือนกับทุกๆ ครั้งที่เคยเกิดขึ้น
 
วันนี้สิ่งที่หน่วยงานในพื้นที่ต้องทำคือ การท่องคำว่า “ไม่ประมาท” “ไม่อ่อนล้า” และ “ไม่เปิดช่องว่าง ให้กับแนวร่วมในพื้นที่ รวมทั้งอย่างเพิ่ง “เชื่อมั่น ว่า การพูดคุยกับแกนนำในพื้นที่ประสบความสำเร็จ และเราสามารถที่ “เอาอยู่ จึงทำให้เหตุการณ์ก่อการร้ายลดน้อยลง
 
เพราะถ้ามองถึงพัฒนาการของการ “พูดคุยภายนอกประเทศ” ระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้ง 6 กลุ่ม กับคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งหลังมีการพบปะอย่างเป็นทางการเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านี้ เวลานี้ก็ยังไม่สามารถที่จะกำหนดเวลาในการพูดคุยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่ 2 แต่อย่างใด มีเพียงการพูดคุย “กลุ่มย่อย ซึ่งเป็นการพูดคุยเพื่อหาข้อยุติในการที่จะเตรียมการพูดคุยอย่างเป็นทางการในครั้งที่ 2 เท่านั้น
 
ซึ่งเชื่อว่าการพูดคุยอย่างเป็นทางการในครั้งที่ 2 ที่เลื่อนจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ไปเป็นเดือนมกราคมปีหน้า ก็อาจจะถูกเลื่อนออกไปอีก เนื่องจากยังไม่เกิดการ “ตกผลึก” ของคณะพูดคุยทั้ง 2 ฝ่าย
 
เพราะการลาออกมาของ “อาวัง ยะบะห์” ประธานกลุ่มมาราปาตานี และให้ “มะสุกรี ฮาชิม” ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มแทน ย่อมมีนัยที่แอบแฝง ซึ่งอาจจะสะท้อนถึงการ “ขบเกลียว กันขอบุคคลในกลุ่มมาราปาตานีที่มีความเห็นไม่ลงรอยกันมาในหลายเรื่อง
 
การเคลื่อนไหวของ “ซำซูดิง คาน” หัวหน้ากลุ่มพูโล อีกกลุ่มหนึ่งที่ตกขบวนการของการพูดคุย ก็ยังกลายเป็นประเด็นปัญหาที่กลุ่มมาราปาตานียังต้องมีการทบทวน ในการที่จะนำเอาเขาเข้าร่วมในกลุ่ม ซึ่งจะกลายเป็น 7 กลุ่มและอาจจะไม่เป็นผลดีกับบีอาร์เอ็นฯ ในอนาคต
 
รวมทั้งการที่แกนนำฝ่ายติดอาวุธของบีอาร์เอ็นฯ อย่าง “อับดุลเลาะห์ แวมะนอร์” และ “เด็ง วาจาจิยังมี “ความแข็งกร้าว ไม่เห็นด้วยและไม่สนใจในการที่จะเข้าสู้โต๊ะการเจรจา หรือพูดคุยกับตัวแทนของรัฐบาลไทย และยังพบว่านอกจากปฏิเสธการพูดคุยเพื่อสันติสุขแล้ว “อับดุลเลาะห์ แวมะนอร์” ยังสั่งการให้กองกำลังติดอาวุธปฏิบัติการต่อเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ 3 จังหวัดอย่างต่อเนื่อง
 
ในกรณีนี้ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ของการ “แยกกันเดิน แยกกันตีหรือเป็นการ “แตกแยก กันจริงของบีอาร์เอ็นฯ ก็ล้วนแต่เป็นปัญหาและอุปสรรค ของการพูดคุยเพื่อเดินไปสู่สันติภาพทั้งสิ้น
 
แม้แต่ข้อเสนอของฝ่ายไทยที่เลือก จ.นราธิวาสเพื่อให้เป็น “พื้นที่ปลอดภัยโดยให้ฝ่ายมาราปัตตานีสั่งการให้กองกำลังติดอาวุธหยุดปฏิบัติการนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่ามาราปาตานี “มีศักยภาพ” ในการสั่งการกับแนวร่วมได้จริงหรือไม่
 
ในขณะที่กลุ่มมาราปาตานีก็ยังคงข้อเสนอทั้ง 3 ข้อให้ฝ่ายไทยยอมรับ เช่นให้การพูดคุยครั้งนี้เป็น “วาระแห่งชาติให้ยอมรับว่ากลุ่มหรือองค์กรมาราปาตานีเป็น “องค์กรที่เป็นตัวแทนของการพูดคุย อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และให้ตัวแทนของมาราปาตานีที่มีคดีติดตัวสามารถ “พ้นความผิด” เดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานงานการพูดคุยได้โดยไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
 
ซึ่งข้อเสนอทั้ง 2 ฝ่ายจะถูกนำขึ้นโต๊ะในการพูดคุยในครั้งที่ 2 ที่จะมีขึ้นในต้นปี 2559 ส่วนจะประสบผล “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” ยังคงมองไม่เห็น เพราะกว่าจะถึงเวลาของการพูดคุยอย่างเป็นทางการในครั้งที่ 2 ยังคงมีเหตุการณ์อื่นๆ ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ และอาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้กลายเป็นอุปสรรคของการพูดคุยก็อาจจะเป็นไปได้ทั้งสิ้น
 
แต่สำหรับคนในพื้นที่ส่วนใหญ่นั้น ต่างเห็นด้วยกับการ “ยุติความรุนแรง” ที่เกิดขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้มีการพูดคุย เนื่องจากคนในพื้นที่เป็นผู้ “แบกผลกระทบ” โดยตรงของสถานการณ์ความไม่สงบ และ “เบื่อหน่าย กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
และที่สำคัญไม่เห็นความหวังของการใช้ “กำลังทหารและ “อาวุธ ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน การพูดคุยจึงเป็นความหวังเพียง “หนึ่งเดียว” ของคนในชายแดนใต้
 
ดังนั้น ถ้ากองทัพ คสช.และรัฐบาลยังคง “ยืดการพูดคุย” กับกลุ่มมาราปาตานีออกไปเรื่อยๆ ด้วยการอ้างปัญหาโน่นนี่นั่น ก็ให้ระวังว่าคนในพื้นที่ผู้แบกรับเคราะห์กรรมของการก่อการร้ายจะมองว่า “ไม่จริงใจ” กับการแก้ปัญหา “ไฟใต้” ที่เกิดขึ้น
 
ผู้ที่จะเสียหายและกลายเป็น “จำเลย” ของสังคม แทนที่จะเป็นบีอาร์เอ็นฯ ก็อาจจะกลายเป็น “รัฐบาล” ก็เป็นไปได้เช่นกัน
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น