xs
xsm
sm
md
lg

การบ้านให้ว่าที่ “แม่ทัพภาค 4” งานป้องกันและการข่าวต้องสังคายนาเร่งด่วน / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
ระเบิดแสวงเครื่อง 7 จุด เกิดขึ้นที่ชุมชนหลังวัดสังฆสิทธาราม และที่เป็นส่วนราชการ ตลาด ร้านคาราโอเกะ และอื่นๆ ในเขตเทศบาลตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส รวมทั้งต่อเนื่องด้วยการวางระเบิดที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาสในวันรุ่งขึ้น
 
นับว่าเป็นเรื่อง “ปกติ” ของสถานการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือของพื้นที่ที่มี “สงครามประชาชน” อันเป็นสงครามที่ไม่มีการประกาศ ซึ่งหากพื้นที่ตรงไหนเปิด หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยหย่อนยาน หรือประมาทจนมีช่องโหว่เกิดขึ้น “แนวร่วม” หรือ “ผู้ก่อการร้าย” ที่รอคอย และติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ก็จะปฏิบัติการก่อเหตุร้ายทันที
 
เพียงแต่ในความรู้สึกของผู้คน โดยเฉพาะคนในชายแดนใต้อาจจะเห็นว่ามีบางอย่างที่ “ไม่น่าจะปกติ”
 
นั่นคือ ก่อนหน้าที่ “รัฐบาล” หรือเขียนให้ชัดคือ “คสช.” ได้มีการสานต่อ “การพูดคุย” กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่อจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้เป็นการพูดคุยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนถึง 4 ขบวนการ รวม 6 กลุ่มที่รวมตัวกันในช่อใหม่ว่า “มารา ปาตานี” นัยว่าเพื่อให้การพูดคุยครอบคลุมถึงทุกขบวนการที่ยังคงสภาพอยู่ เพื่อให้เกิดความเป็น “เอกภาพ”
 
โดยมีตัวแทนของ “บีอาร์เอ็น” ซึ่งถือเป็นขบวนการที่ยังมีความเข้มแข็ง และมีกำลังของผู้ติดอาวุธอยู่ในชายแดนใต้ นั่งเป็นหัวหน้ากลุ่ม “มารา ปาตานี” นั่นคือ “อาวัง ยะบะ” ซึ่งเป็นอีกผู้อาวุโสของบีอาร์เอ็น และมี “สุกรี ฮารี” 1 ใน 9 ผู้ต้องหาขบถก่อการแบ่งแยกดินแดนที่ พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นนายประกันให้ แต่ได้หลบหนีคดีไปยังมาเลเซีย นั่งเป็นหัวหน้าคณะในการพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทย ที่นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบก
 
ก่อนและหลังการพูดคุยจะเห็นว่า สถานการณ์การก่อการร้ายในชายแดนใต้ดีขึ้น เหตุร้ายแม้ยังไม่หมดไปแต่เกิดน้อยลง โดยในบางสัปดาห์มีเพียง 5 เหตุการณ์ และเป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงเพียงเหตุการณ์เดียว
 
แต่หลังจากที่ “อับดุลการิม กาหลิบ” อีกหนึ่งแกนนำ “เปอร์มูดอ” หรือฝ่ายเยาวชนของขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ไม่ได้เข้าร่วมพูดคุยสันติสุขในครั้งนี้ได้ใช้ช่องทางของยูทิวบ์สื่อสารกับคนในขบวนการ และประชาชนในพื้นที่ว่า ไม่เห็นด้วยต่อการพูดคุยในรายละเอียดของข้อเสนอ 3 ข้อล่าสุด แต่ยืนยันในเรื่องข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เคยเสนอต่อรัฐบาลชุดเก่าที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีไว้แล้ว
 
การใช้ถ้อยคำของตัวแทนบีอาร์เอ็นในปีกที่ไม่เห็นด้วยต่อการพูดคุยสันติสุขยังคงแข็งกร้าว โดยเรียกรัฐบาลไทยว่าเป็น “นักล่าอาณานิคม” ที่ไม่มีความจริงใจในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
 
หลังการสื่อสารผ่านช่องยูทิวบ์ของ “อับดุลการีม กาหลิบ” ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์แบบไม่ให้ความสำคัญของทั้งฝ่าย “มารา ปาตานี” และของฝ่ายที่ออกยูทิวบ์ เพราะเห็นว่าการพูดคุยยังอยู่ในขึ้นตอนของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อทำความรู้จักกัน ไม่ใช่อยู่ในขั้นตอนที่จะต้องตกลงในข้อเสนอต่างๆ
 
และหลังจากที่มีการเผยแพร่ข่าวสารผ่านยูทิวบ์ สิ่งที่น่าสังเกตคือ สถานการณ์ในชายแดนใต้มีความรุนแรงในทันที มีการวาระเบิดรถยนต์ชุดลาดตระเวนของทหาร และตำรวจต่อเนื่อง ทั้งในปัตตานี นราธิวาส และยะลา รวมทั้งการก่อเหตุต่อเป้าหมายอ่อนแอที่เป็นประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การฆ่านักศึกษาสาวที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ก่อนชิงรถจักรยานยนต์ไปประกอบเป็น จยย.บอมบ์ใช้ในการก่อเหตุร้ายที่ชุมชนหลังวัดสังฆสิทธาราม จนทำให้มีเจ้าหน้าที่ และประชาชนเสียชีวิต 3 ศพ บาดเจ็บอีกเกือบ 20 คน
 
ดังนั้น แม้ว่าหลังเกิดเหตุ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร ผบ.ทบ.จะออกมาระบุว่า ระเบิด 7 จุดที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ไม่เกี่ยวข้องต่อการพูดคุย แต่เป็นเรื่องของผู้ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนที่ปฏิบัติการตามแนวทางของขบวนการ ส่วนการพูดคุยระหว่างกลุ่มมารา ปาตานี กับตัวแทนรัฐบาลไทยก็ยังคงดำเนินต่อไปตามแนวทางที่ตกลงกันของทั้งสองฝ่าย พร้อมทั้งขอร้องสื่อมวลชนอย่าได้โยงเรื่องระเบิดที่ระแงะ เข้ากับการพูดคุยสันติสุข
 
แต่คงจะห้ามความรู้สึกของคนในพื้นที่มิให้นำเรื่องการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั้งที่ อ.ระแงะ และที่อื่นๆ มาเกี่ยวข้องต่อกลุ่มมารา ปาตานี และการออกมาเคลื่อนไหวของอับดุลการิม กาหลิบ แกนนำปีกนักรบไม่ได้ จนกว่าจะมีเหตุผลที่ชัดเจน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งก่อน และหลังการพูดคุยมีเหตุผลให้เชื่อว่าระเบิดที่ระแงะ และที่อื่นๆ มาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการเปิดพื้นที่พูดคุยระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่แตกแยกกัน และความไม่ชัดเจนของการพูดคุยระหว่างกลุ่มมารา ปาตานี กับรัฐบาลไทย
 
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นเรื่องข้องใจของคนในพื้นที่คือ ความไม่มั่นใจใน “แนวทาง” การรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะ อ.ระแงะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุความรุนแรงมาโดยตลอด ตั้งแต่คดี “ครูจูหลิง” เป็นต้นมา
 
เกือบ 10 ปีที่ผ่านมาของความรุนแรงใน อ.ระแงะ มีคำถามจากประชาชนว่า ทำไมการแก้ปัญหาจึงยังไม่ประสบผลสำเร็จ ทำไมแนวร่วมจึงสามารถที่จะปฏิบัติการได้ค่อนข้างจะสะดวก ทั้งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ  ก็รับรู้ถึงความรุนแรง ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทำไมจึงไม่สามารถที่จะสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” มีนโยบายมากมายในการสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในพื้นที่
 
วันนี้จึงพอจะสรุปได้ว่า ยังไม่มีพื้นที่ไหนใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ เทพา นาทวี จะนะ และสะบ้าย้อย เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” อย่างแท้จริง รวมทั้งยังไม่มีพื้นที่ไหนที่เป็น “พื้นที่สีแดง” ที่ได้รับการแก้ไขให้เป็น “พื้นที่สีเหลือง” หรือพื้นที่ปลอดภัยอย่างที่เป็นข่าวจากการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ดังนั้น สถานการณ์ชายแดนใต้ในวันนี้จึงยังเป็นแบบเดิมๆ ที่ทุกคนต้องระมัดระวังเหตุร้ายที่พร้อมที่จะเกิดขึ้นได้ในทุกขณะ และในห้วงที่เกิดความขัดแย้งทั้งจากบีอาร์เอ็นด้วยกัน และจากมารา ปาตานี กับรัฐบาลไทย ความรุนแรงยิ่งอาจจะทวีมากยิ่งขึ้น และการก่อการร้ายอาจจะลุกลามไปสู่นอกพื้นที่ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดระเบิดที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อหลายเดือนก่อนที่จะเปิดเวทีการพูดคุยสันติสุข
 
สิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รวมทั้งหน่วยงานทุกหน่วยต้องทำคือ การป้องกันเหตุร้าย การรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนที่เป็นเป้าหมายอ่อนแออย่าได้กลายเป็นเหยื่อ ตลอดจนต้องมีการปรับแผน ปรับวิธีการที่ใช้ในการดับไฟใต้ เพราะนโยบายและแผนงานต่างๆ ที่ใช้อยู่ยังไม่สามารถ “ตอบโจทย์” ของปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง
 
เพราะถ้าสิ่งที่ทำไปตอบโจทย์ได้จริง พื้นที่เกิดเหตุซ้ำซากจะต้องได้รับการแก้ไข และจำนวนแนวร่วมในพื้นที่จะต้องลดน้อยลง หรือหมดไป ไม่ใช่ปล่อยให้มีการก่อเหตุร้ายคืนเดียว 7 จุด โดยที่ไม่มีหน่วยไหน ไม่ว่าเป็นฝ่ายทหาร ตำรวจ และปกครองไม่สำเหนียก หรือระแคะระคายต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการในพื้นที่แม้แต่แอะเดียว
 
ดังนั้น งานด้าน “ป้องกัน” กับงานด้าน “การข่าว” น่าจะเป็นงานแรกๆ ที่ว่าที่ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 คนใหม่ ต้องทำการสังคายนาก่อนงานด้านอื่นๆ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น