คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
“ไม่มีสมาชิกไอเอสในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”
นั่นคือคำแถลงผ่านสื่อของกองทัพ คสช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากที่ไอเอสเปิดฉากเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์กลางกรุงปารีส เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส และในโรงแรมหรูของประเทศมาลี
เหตุที่ทั้งกองทัพ คสช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องออกมาแถลงข่าวอย่างเร่งด่วน น่าจะเกิดจากข่าวการฆ่าผู้บริสุทธิ์เกือบ 200 คน และบาดเจ็บอีกมากมายจากฝีมือของ “กลุ่มไอเอส (Islamic State : IS)” ในครั้งนี้ ซึ่งได้สร้างความหวั่นไหวแก่ประชาชนไทยที่เพิ่งจะผ่านเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ไปแบบที่ฝุ่นเพิ่งจาง
รวมทั้งปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ของเราที่ยังคงคุกรุ่น ยังมีเสียงระเบิด และเสียงปืนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เป็น “มุสลิม” จึงถูกมองอย่างเชื่อมโยงไปยังขบวนการผู้ก่อการร้ายข้ามชาติที่เดินทางไปจากหลายประเทศ เพื่อไปทำสงครามในประเทศซีเรีย และอิรักในฐานะที่เป็นมุสลิมเช่นกัน
เพราะอย่าลืมว่า ในสงครามประเทศอัฟกานิสถานของ “กลุ่มตอลิบาน” ในอดีตนั้น คนในขบวนการแบ่งแยกดินแดน เช่น “นอซารี แซะเซ็ง” และคนอื่นๆ จาก จ.นราธิวาสได้เดินทางไปร่วมสู้รบให้แก่กลุ่มตอลิบานมาแล้ว ซึ่งหน่วยข่าวกรองอย่าได้หลงลืม
ยิ่งเมื่อมีสมาชิกจากกลุ่มไอเอสที่ร่วมทำสงครามในประเทศซีเรีย กลับสู่บ้านเกิดในประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ประกาศผ่านสื่อว่า สมาชิกกลุ่มไอเอสจะจัดตั้งเครือข่ายในประเทศประชาคมอาเซียน เพื่อปฏิบัติการต่อสู้เช่นเดียวกลับในประเทศซีเรีย ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง ยิ่งทำให้ผู้คนต่าง “เชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง” กับข่าวสารของภาครัฐ
โดยเฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยเป็นที่รับรู้กันแล้วอย่างชัดเจนคือ ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างมีสมาชิกไอเอสทั้งที่ไปร่วมรบในซีเรีย และที่กลับมาแล้ว ซึ่งรัฐบาลของเขาต่างยอมรับว่ามีกลุ่มไอเอสเคลื่อนไหวอยู่ด้วยความกังวล โดยเฉพาะมาเลเซียมีการกวาดล้างจับกุมคนเหล่านี้ไปแล้วด้วย
สิ่งที่ต้องไม่ลืมด้วยคือ สมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนในชายแดนใต้ที่เริ่มสร้างความรุนแรงระลอกใหม่ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ที่มาของ “แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น” ก็ได้รับอิทธิพลจากประเทศอินโดนีเซีย
การเรียกชื่อกลุ่มต่างๆ ก็เป็นภาษาที่ใช้ในประเทศอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “อาร์เคเค” เมื่ออินโดนีเซียมีขบวนการไอเอส จึงน่าจะเป็นไปได้ที่ต้องเชื่อมโยงกับ “แกนนำ” ในชายแดนใต้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำหนักในการแถลงข่าวของหน่วยงานของรัฐในขณะนี้ได้สร้าง “ความไม่แน่ใจ” ให้แก่ประชาชน เพราะที่ผ่านมา อะไรก็ตามที่หน่วยงานของรัฐบอกว่า “ไม่มี” ไม่กี่วันก็จะมีให้เห็น หรืออะไรก็ตามที่หน่วยงานของรัฐบอกว่า “ไม่ใช่” แค่ข้ามคืนก็จะ “ใช่” ให้เห็นในทันที
ที่สำคัญข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐใช้ในการแถลงข่าวว่าไม่มีสมาชิกไอเอสในชายแดนใต้มาจาก “การข่าว” ตรวจสอบแล้ว “ไม่พบ” ว่ามีข้อมูลว่ามีคนในขบวนการไอเอสอยู่ในชายแดนใต้
คำว่า “ไม่พบ” หรือ “ไม่มีข้อมูล” จึงไม่ได้หมายความว่าจะ “ไม่มี” เพราะอาจจะมีก็ได้ เพียงแต่หน่วยข่าวยังไม่พบข้อมูลว่ามีเท่านั้น
อีกอย่างที่ประชาชนยังหวั่นๆ ว่าไอเอสมีหรือไม่ในชายแดนใต้นั้น เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นกับ “หน่วยข่าว” ที่มีอยู่ เพราะที่ผ่านมา งาน “การข่าว” ในพื้นที่ยังถูกมองว่า “ไม่เวิร์ก” หลายครั้งที่เกิดเหตุป่วนในพื้นที่ โอกาสที่จะป้องกันมิให้เกิดได้น้อย
แต่เมื่อทุกหน่วยงานต่างแถลงตรงกันว่า ไม่มีกลุ่มไอเอสในชายแดนใต้ ก็ถือว่าเป็นโชคดีของประเทศไทย และเป็นโชคดีของคนในชายแดนใต้ ซึ่งน่าจะทำให้คลายความกังวลได้ในระดับหนึ่ง
โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่เมื่อมั่นใจว่าปัญหาของไอเอสจะเป็น “ภัยแทรกซ้อน” ที่จะเพิ่มความรุนแรงให้มากไปกว่าที่เป็นอยู่ ก็จะได้ “ตั้งใจ” ในการระดมสรรพกำลัง และสติปัญหาในการแก้ปัญหาที่เกิดจากการก่อการร้ายในพื้นที่ ซึ่งยังเป็นปัญหา “พื้นผิว” ที่จะต้องทำให้หมดไป
แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็อย่าได้มั่นใจต่อข่าวที่บอกว่า ไม่มีไอเอสในชายแดนใต้ จนละเลยในการหาข่าว หาข้อมูล แล้วสุดท้ายจะเป็นอย่างระเบิดแสวงเครื่อง “อุยกูร์” ที่ราชประสงค์ ซึ่งปล่อยให้ “เครือข่ายขบวนการข้ามชาติ” เข้ามาลงหลักปักฐาน เช่าที่พัก ซื้อวัตถุประกอบระเบิด จนสามารถก่อเหตุ และหลบหนีได้เป็นส่วนใหญ่
สำหรับความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น วันนี้ “พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์” แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ระดมสรรพกำลัง และตัวบุคคลที่มีความเข้าใจในปัญหา ความเข้าถึงตัวบุคคล จากทุกหน่วยงานเพื่อผลักดินไปสู่การ “ปฏิบัติ” ตามแผนงานที่ กอ.รมน.ได้กำหนดขึ้น
ต้องยอมรับว่าวันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีการขับเคลื่อนในทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการศึกษา ที่ทุ่มงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อ “เกาให้ถูกที่คัน” การพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการสร้างคนที่มีคุณภาพ การขับเคลื่อนกระบวนการ “พูดคุยสันติสุข” ที่มีการวาง “โรดแมป” อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน รวมทั้งกลุ่มอื่นๆ เข้าไปมี “บทบาท” และมี “ส่วนร่วม” เพื่อที่จะให้ขบวนการพูดคุยสามารถเดินไปถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการ
แต่นั้นแหละ ทุกอย่างทุกประการในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นเรื่องที่ “ไม่ง่าย” สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ที่คนส่วนหนึ่งยังคงใช้ “ความรู้สึก” และใช้ “ความเชื่อ” ในการตัดสินใจ โดยที่มีเหตุผลในการรองรับ ซึ่งก็เป็นงานหนักของทุกภาคส่วนที่จะต้องสร้างสังคมส่วนนี้ให้เป็น “สังคมอุดมปัญญา” ซึ่งการใช้งบเป็น “หมื่นล้าน” เพื่อการแก้ปัญหาการศึกษา คือส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมอุดมปัญหาให้เกิดขึ้น
ซึ่งทุกอย่างคงจะ “ไม่ง่าย” แต่ก็ต้อง “ขับเคลื่อน” แผนปฏิบัติการให้เกิดความสำเร็จ แม้กระทั่งในเรื่องที่จะต้องสร้างสังคม “หน้าใหม่” ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ นั่นคือ ทำให้เกิดสังคมที่มี “มือบน” ให้มากกว่า “มือล่าง” อย่างที่เป็นอยู่มาอย่างยาวนาน
วันนี้ทุกคนคาดหวังในความเป็น “คสช.” และคาดหวังในการเป็น “รัฐบาลทหาร” ที่มีอำนาจเต็มเปี่ยม โดยที่ไม่มีใครคัดง้างได้ โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ที่ “แม่ทัพ” มีอำนาจเด็ดขาดอยู่ในมือ ซึ่งหากมีการใช้อำนาจที่ “เป็นธรรม” ต่อทุกฝ่าย เชื่อว่าไฟใต้ “กองใหญ่” จะเป็นกองไฟที่ “เล็กลง” ในไม่ช้า