เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - แนวร่วมกบฏมุสลิมกลุ่มใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ได้เปิดตัวที่มาเลเซีย พร้อมเรียกร้องในวันพฤหัสบดี (27 ส.ค.) ให้มีการกลับมาเจรจาสันติภาพกันอีกครั้ง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้นำรัฐบาลไทยจะให้การยอมรับพวกเขาหรือไม่
คณะผู้แทนของกลุ่ม “มารา ปัตตานี” ซึ่งอ้างว่าเป็นปากเป็นเสียงพูดแทนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย 6 กลุ่ม ระบุว่า พวกเขาได้พบกับเจ้าหน้าที่ไทยแล้วระหว่างการพูดคุยกันที่มาเลเซียเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ “มารา ปัตตานี” เป็นการร่วมมือกันของกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย 6 กลุ่ม ได้แก่ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น), แนวร่วมอิสลามปลดปล่อยปาตานี (บีไอพีพี), องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (พูโล) 3 กลุ่ม, ขบวนการมูญาฮิดีนอิสลามปาตานี (จีเอ็มไอพี)
“หลักการของเรา คือ หาวิธีแก้ปัญหาโดยการพูดคุยอย่างสันติ” อาวัง ยะบะ บอกกับนักข่าวระหว่างการพูดคุยกันที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เขาเป็นประธานกลุ่มมาราปัตตานี และเป็นผู้แทนจากขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น)
“เราหวังว่าจะสามารถยุติการสู้รบและก่อให้เกิดสันติอย่างยั่งยืน” เขากล่าว
เขาบอกด้วยว่า ผู้แทนของไทยที่เข้าร่วมการพูดคุยเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน โดยอ้างว่าต้องขอหารือกับผู้นำ คสช. เสียก่อน
อย่างไรก็ตาม พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของไทย ได้แสดงท่าทีข้องใจกับการหันกลับมาขอเจรจาสันติภาพครั้งนี้ ระหว่างการให้ความเห็นกับเอเอฟพีที่กรุงเทพฯ
“การเจรจาสันติภาพเป็นเรื่องที่ทางหน่วยงานความมั่นคงดูแลอยู่แล้ว อย่าไปให้ความสำคัญกับกลุ่มที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่เหล่านี้” เขากล่าว
การก่อความไม่สงบที่กินเวลายาวนานนับทศวรรษในภาคใต้ของไทยนั้น มีทั้งการวางระเบิดและยิงกันเกือบทุกวัน บางครั้งก็มีการตัดคอด้วย เหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดน หนึ่งในนั้นคือ ปัตตานี
ชาวมุสลิมจำนวนมากในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทย มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย
การต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองของกลุ่มก่อความไม่สงบเหล่านี้ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ได้ทำให้มีคนตายไปแล้วมากกว่า 6,400 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
มาเลเซีย เคยจัดให้มีการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มก่อความไม่สงบกับรัฐบาลไทยชุดก่อนหลายครั้งแล้วเมื่อปี 2013 แต่มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความขัดแย้งนี้ ระบุว่า ความพยายามที่จะนำมาซึ่งสันติภาพได้ถูกขัดขวางโดยกลุ่มย่อยของผู้ก่อความไม่สงบเหล่านี้ รวมถึงความคลางแคลงใจในตัวผู้เจรจาครั้งก่อน ๆ ของกลุ่มบีอาร์เอ็น ว่าเป็นตัวแทนของผู้ที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่ตัวจริงหรือไม่
ระหว่างการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ไทยเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา “มารา ปัตตานี” ได้ขอให้มีการคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับความรุนแรงในอดีตที่เคยทำไว้ เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการกลับมาเจรจาสันติภาพ
พวกเขายังบอกด้วยว่า การเจรจาสันติภาพควรได้รับการบรรจุให้เป็นวาระแห่งชาติโดยรัฐสภาไทย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การเจรจาในอนาคตต้องล่มอีกครั้ง เพราะการเปลี่ยนรัฐบาล รวมถึงต้องการให้ไทยยอมรับองค์กร มารา ปัตตานี