ยะลา - ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนชายแดนใต้ แนะกรณีการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 3 กับกลุ่มมาราปาตานี ที่มาเลเซีย เชื่อว่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น
วันนี้ (25 ส.ค.) นายนิมุ มะกาเจ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับทราบข่าวว่า กลุ่มคณะทำงานในการพูดคุยสันติสุขฝ่ายประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยองค์กรต่างๆ ในส่วนกลาง และในพื้นที่ที่เดินทางไปพูดคุยอย่างต่อเนื่องถือเป็นเรื่องที่ดี น่าชื่นชม ที่ผ่านมาในพื้นที่ก็ไม่ทราบว่ามีการพูดคุยกับใคร อย่างไร
แต่ในครั้งนี้ปรากฏชื่อกลุ่มมาราปาตานี ขึ้นมา ตนเองก็เพิ่งจะได้รับทราบว่า มาจากการรวมกลุ่มย่อยๆ 6 กลุ่ม คือ กลุ่มบีอาร์เอ็น ที่สนับสนุนการพูดคุย กลุ่มบีไอพีพี กลุ่มจีเอ็มไอพี และกลุ่มพูโลย่อย 3 กลุ่ม ที่ถือว่ามีการพัฒนาในการพูดคุยที่กลุ่มเหล่านี้จะได้มารวมกลุ่มเป็น มารา ปาตานี จะมีอำนาจเพียงพอหรือไม่ในการสร้างความสงบสุข และถือเป็นเรื่องที่ดีในการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการที่จะได้แนวทางที่เป็นรูปแบบในอนาคต
“ในการรวมกลุ่มเช่นนี้มีการพัฒนา จากเดิมต่างคนต่างกลุ่มกัน มีการสลายกลุ่ม และมีการเกิดใหม่ของกลุ่ม ทำให้ไม่ทราบว่าใครเป็นหัวหน้า หรือใครที่มีอำนาจสูงสุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และเมื่อมารับทราบว่า กลุ่มมารา ปาตานี มาจากการรวมกลุ่มเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่กลุ่มนี้จะไปผนวกกับกลุ่มอื่นๆ ได้ในอนาคต และก้าวไปสู่ความปรองดอง สันติสุขได้ในพื้นที่” นายนิมุ กล่าว
อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการต่อเนื่องในการพูดคุยสันติสุขเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จะเห็นได้ว่าการพูดคุยที่ผ่านมาข้อเรียกร้องบางอย่างก็รับไม่ได้ แต่ก็มีข้อเรียกร้องบางข้อที่รับได้ ก็ได้นำมาปรึกษาหารือกันต่อซึ่งถือเป็นการเจรจา ตนเองก็อยากจะให้คณะที่เดินทางไปพูดคุยให้ใช้ความสุขุมรอบครอบ ใช้ความละเอียดอ่อนในการพูดคุย อะไรที่รับได้ก็รับ อะไรที่รับไม่ได้ก็ใช้การเจรจานำมาตรึกตรองก่อน ซึ่งการพูดคุยในครั้งนี้เชื่อว่าจะไปในทางที่ดี และควรมีการหยิบยกปัญหาทางเศรษฐกิจ การศึกษา และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาพูดคุยด้วย
ด้าน นายรักชาติ สุวรรณ แกนนำเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ จ.ยะลา เปิดเผยว่าเห็นด้วยต่อการพูดคุยในระดับข้างบน และจะมีกลุ่มใหม่เข้ามาร่วมดำเนินการพูดคุยเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตาม ในระดับล่าง ในระดับพื้นที่ก็ควรจะมีการเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจต่อกลุ่มย่อยดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพื่อให้ลดปัญหาของการเกิดที่มีอยู่ในแต่ละวัน เพื่อให้การดำเนินชีวิตของประชาชนมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทั้งนี้ ในการพูดคุยสันติภาพ ทั้งทางมาเลเซีย และกลุ่มของรัฐบาลไทยที่เข้าไปพูดคุยต้องให้ความเชื่อมั่น สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย