xs
xsm
sm
md
lg

“มารา ปาตานี” เปิดตัวต่อสื่อไทยที่มาเลเซีย เผยจากนี้เหตุร้ายชายแดนใต้จะลดลง (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นราธิวาส - กลุ่ม “มารา ปาตานี” เปิดตัวต่อสื่อมวลชนไทย กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย วอนสื่อไทยสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เผยขอบคุณรัฐบาลไทยที่เปิดโอกาสให้มีการพูดคุย และขอให้ยอมรับการรวมตัวกันครั้งนี้ ระบุแนวทางจะเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม เชื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดได้

วันนี้ (27 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 22 Premiera Hotel กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย คณะสื่อมวลชนจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจากส่วนกลาง จำนวน 14 คน ได้เดินทางเข้าพบตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ใช้ชื่อว่ากลุ่ม มารา ปาตานี (Mara Patani) จำนวน 7 คน ซึ่งประกอบด้วย ดร.ฮาเร็ม มุกตาร์ ผู้แทนจากกลุ่มพูโล (PULO-MKP) นายอาบู ยาซีม ผู้แทนจากกลุ่มบีไอเอ็มพี (BIMP) นายหะยีอาหะมัด ชูโว ผู้แทนจากกลุ่ม BRN นายอาวัง ยะบะ ผู้แทนจากกลุ่ม BRN ประธานกลุ่ม Mara Patani นายสุกรี ฮารี ผู้แทนจากกลุ่ม BRN หัวหน้าคณะ Mara Patani นายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม ผู้แทนจากกลุ่มบีไอพีพี (BIPP) และนายอาบูอัครัน บินฮาซัน ผู้แทนจากกลุ่มพูโล (PULO-DSPP)

ซึ่งในการพบปะในครั้งนี้เป็นการเปิดตัวของกลุ่ม มารา ปาตานี ต่อสื่อสารมวลชนเป็นครั้งแรก เพื่อให้ข้อมูล และตอบข้อสงสัยต่างๆใ นการเดินหน้าพูดคุยเพื่อสันติสุขในพื้นที่ หลังจากทางกลุ่มมารา ปาตานี ได้มีการพูดคุยสันติสุขกับคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา
 

 
นายอาวัง ยะบะ ผู้แทนจากกลุ่ม BRN ประธานกลุ่ม Mara Patani กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทย รวมถึงประชาชนชาวไทย รวมถึงนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ส่วนวัตถุประสงค์ที่พบปะสื่อมวลชนในครั้งนี้เพื่อที่จะทำความเข้าใจในแนวทางของกลุ่ม มารา ปาตานี ที่แท้จริง ที่ถูกต้อง สามารถเปิดเผยได้ และหวังให้สื่อมวลชนนำข้อมูลเหล่านี้ไปนำเสนอเพื่อสนับสนุนให้มีการพูดคุย และสามารถนำไปสู่ความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เพราะสิ่งที่กลุ่ม มารา ปาตานี จะดำเนินการต่อจากนี้นั้นจะมีแต่เรื่องที่ดี สำหรับกลุ่ม มารา ปาตานี ที่รวมตัวกันจาก 6 กลุ่มในครั้งนี้ มีข้อแตกต่างจากกลุ่มที่พูดคุยที่ผ่านมาคือ ทางกลุ่ม มารา ปาตานี เปิดกว้างให้ทุกกลุ่มสามารถเข้ามาร่วมอยู่ในกลุ่มนี้ได้ ไม่เฉพาะเพียง 6 กลุ่มนี้ กลุ่ม NGO หรือภาคประชาสังคมต่างๆ ก็สามารถเข้ามาอยู่ร่วมกันได้ และเมื่อทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ใน มารา ปาตานี เหตุการณ์ก็จะสามารถลดลงได้แต่ก็คงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังเชื่อว่ามีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยต่อกระบวนการพูดคุย ซึ่งก็คงจะต้องเดินหน้าพูดคุยต่อไป

“การก่อตั้งกลุ่ม มารา ปาตานี ขึ้นมาเพื่อให้การต่อสู้เป็นไปตามหลักสันติวิธี ส่วนการใช้กำลัง หรือการใช้อาวุธก็ต้องไปสู่ขั้นตอนของการหยุดความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย อยู่ที่การสร้างความเข้าใจ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน” นายอาวัง ยะบะ กล่าว
 

 
นายสุกรี ฮารี ผู้แทนจากกลุ่ม BRN หัวหน้าคณะ กล่าวว่า การพูดคุยสันติสุขกับคณะฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้เสนอข้อเรียกร้องไป จำนวน 3 ข้อ คือ ให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ ยอมรับทีมงานพูดคุยจาก 6 กลุ่ม จำนวน 15 คน และยอมรับกลุ่ม มารา ปาตานี ซึ่งได้มีการเสนอไปในที่ประชุมไว้เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา และยังไม่ได้รับคำตอบ สำหรับเรื่องให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาตินั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากไม่เป็นวาระแห่งชาติก็จะไม่มีความต่อเนื่องของการพูดคุย
 

 
นายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม ผู้แทนจากกลุ่มบีไอพีพี (BIPP) กล่าวเสริมว่า วาระแห่งชาติได้ถูกเสนอขึ้นมาหลายครั้ง ตั้งแต่ นายฮาซัน ตอยิบ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไทยซึ่งเปลี่ยนแปลงบ่อย เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็เริ่มพูดคุยนับหนึ่งใหม่ โดยรัฐบาลล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ถือว่าวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาเป็นการเริ่มต้นพูดคุยอีกครั้ง ซึ่งทางกลุ่มก็มองเห็นว่า หากไม่เป็นวาระแห่งชาติก็จะไม่มีความต่อเนื่องในการพูดคุย จึงขอความชัดเจนจากรัฐบาลในเรื่องนี้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากข้อเสนอทั้ง 3 ไม่มีการยอมรับก็คงจะเดินหน้าพูดคุยต่อไป แต่จะพูดคุยลึกลงไปในสาระสำคัญไม่ได้ เพราะยังไม่มีการยอมรับ ส่วนข้อเสนอของฝ่ายไทย จำนวน 3 ข้อ นั้นก็จะนำกลับมาพิจารณาภายในกลุ่มต่อไป
 

 
นายสุกรี ฮารี ผู้แทนจากกลุ่ม BRN หัวหน้าคณะ กล่าวอีกว่า การต่อสู้ของกลุ่มบีอาร์เอ็น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีมาตั้งแต่ปี 1960 โดยมีรูปแบบการต่อสู้แบบใต้ดิน ไม่สามารถเปิดเผยได้ ไม่ต้องการให้ใครรู้ ไม่มีการประกาศ และต้องยอมรับว่ากลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พูโล จีเอ็มไอพี บีไอพีพี ก็จะมีสองส่วนเหมือนกัน คือ ฝ่ายการเมือง และฝ่ายกองกำลังติดอาวุธ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้นไม่มีนโยบายที่จะโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ (Soft Target) แต่อย่างใด จะเน้นไปยังเป้าหมายแข็ง ส่วนเป้าหมายอ่อนแอที่ได้รับผลกระทบก็เกิดจากการถูกลูกหลง

ดร.ฮาเร็ม มุกตาร์ ผู้แทนจากกลุ่มพูโล (PULO-MKP) กล่าวว่า ทางกลุ่ม มารา ปาตานี ขอให้สื่อช่วยนำเสนอข้อมูลในวันนี้ให้ถูกต้อง เพราะจะทำให้กลุ่ม มารา ปาตานี สามารถเดินหน้าต่อไปได้สู่การเจรจาเพื่อความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการพบปะพูดคุยโต๊ะกลมระหว่างกลุ่ม มารา ปาตานี กับสื่อมวลชนไทย ในครั้งนี้ ทางคณะผู้จัดไม่อนุญาตให้บันทึกภาพ และบันทึกเสียงแต่อย่างใด โดยให้จดบันทึกลงในกระดาษเท่านั้น ก่อนที่จะเสร็จสิ้นการพบปะพูดคุยกันในเวลา 12.20 น. ตามเวลาในประเทศมาเลเซีย
 
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น