xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.สตูลแนะกลุ่มสตรีประยุกต์อาหารจานโปรดของคนใต้เป็นสินค้าโอทอปสร้างอาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - อบจ.สตูล แนะกลุ่มสตรีประยุกต์อาหารจานโปรดคนใต้ แซนด์วิชปลาส้ม และปลาป่นเครื่องแกง แปรรูปอาหารทะเลเป็นสินค้าโอทอป สร้างรายได้ในการประกอบอาชีพ

 
วันนี้ (21 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.สตูล เป็นจังหวัดฝั่งทะเลอันดามันที่มีกิจกรรมด้านการเพาะเลี้ยง และทำการประมง สามารถสร้างรายได้รวมทั้งหมดปีการผลิต 2554 มูลค่า 7,946,74 ล้านบาท แยกเป็นการทำประมงมูลค่าผลผลิต 2,796.74 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.19 ของรายได้ภาคการประมง ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ ประมงทะเล และประมงน้ำจืด ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสร้างรายได้เข้าจังหวัดทั้งหมด 5,149.90 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.81 ของรายได้จากการประมง

 
สำหรับสัตว์น้ำที่จับได้นอกจากจะจำหน่ายเป็นอาหารสดแล้ว ส่วนหนึ่งได้มีการนำมาผ่านกระบวนการแปรรูปอย่างง่ายเพื่อถนอมอาหาร และสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การแปรรูปเป็นปลาตากแห้ง ปลาร้า ปลาเค็ม กุ้งแห้ง กะปิ น้ำปลา ซึ่งช่วยสร้างงาน และรายได้ให้แก่ชาวประมง แม้ว่าอาชีพการผลิตอาหารทะเลแปรรูปพื้นบ้านจะเป็นอาชีพที่มีการทำมาช้านาน มีความสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจในระดับฐานรากของจังหวัด และสินค้ามีผู้บริโภคจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าไม่เคยมีการสำรวจ หรือเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตอาหารของสาขานี้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากการผลิตอาหารทะเลแปรรูปพื้นบ้านเป็นกิจการขนาดเล็ก จัดเป็นการผลิตในระดับครัวเรือน ซึ่งอาจดูเหมือนว่าไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากนัก จึงไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้ไม่มีการพัฒนาการผลิต เห็นได้จากกรรมวิธีการผลิตยังคงใช้เทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม ไม่มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการส่งเสริมการตลาดทำให้รายได้ของผู้ผลิตต่ำ และไม่แน่นอน ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพต่ำ ไม่ถูกสุขอนามัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค

 
ในฐานะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.2542 มาตรา 17 ภายใต้บังคับมาตรา 16 ให้ อบจ.มีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ข้อ (27) การสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส และตามกฎกระทรวง พ.ศ.2541 ข้อ 17 การส่งเสริม และแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพ

 
นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายก อบจ.สตูล เห็นว่าทาง อบจ.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแปรรูปอาหารทะเลประเภทปลา ซึ่งถือเป็นอาชีพดั้งเดิมที่อาศัยภูมิปัญญาแต่ครั้งอดีต จ.สตูล ซึ่งเป็นจังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเล มีเกาะทั้งหมด 88 เกาะ ในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.ท่าแพ อ.ละงู และ อ.ทุ่งหว้า มีพื้นที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และทำประมงชายฝั่ง ส่วนอำเภอที่มีเฉพาะพื้นที่น้ำจืด คือ อ.ควนโดน อ.ควนกาหลง และ อ.มะนัง ที่มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์ และการทำประมงน้ำจืด

จากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของพื้นที่ทำให้ จ.สตูล มีการทำกิจกรรมด้านการประมงที่หลากหลาย การแปรรูปอาหารทะเลประเภทปลาจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะสามารถใช้วัตถุดิบในพื้นที่ได้อย่างสะดวก ลดต้นทุนในการผลิต เพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่าสินค้าทางการประมง และยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตในกลุ่มแม่บ้าน สตรี ชาวประมงในพื้นที่ จ.สตูล

 
ดังนั้น ทาง อบจ.สตูล จึงได้จัดโครงการ “ส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพการแปรรูปอาหารทะเลประเภทปลา” ประจำปีงบประมาณ 2558 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และทักษะในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้แก่กลุ่มแม่บ้าน สตรีชาวประมง และเพื่อรู้จักการแปรรูปอาหารจากการถนอมอาหารให้สามารถรับประทานได้นาน และส่งเสริมเป็นสินค้า OTOP ประจำจังหวัด อีกทั้งเป็นการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มแม่บ้าน สตรีชาวประมง โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มแม่บ้าน สตรีชาวประมง 100 คน

 
นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการ จ.สตูล ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรมโครงการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพการแปรรูปอาหารทะเลประเภทปลา หลักสูตรการทำปลาทูส้ม และปลาป่นเครื่องแกง พร้อมเห็นว่า จ.สตูล มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลมีความเหมาะสมในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านสัตว์น้ำที่จับออกจากจำหน่ายเป็นอาหารสด ส่วนหนึ่งได้นำมาแปรรูปในรูปแบบต่างๆ

แต่จากการสำรวจพบว่า ใน จ.สตูล ไม่ได้มีการส่งเสริมการแปรรูปอาหารทะเลแบบจริงจัง ทั้งที่ทรัพยากรทางธรรมชาติมีอยู่อย่างหลากหลาย และนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะมีการส่งเสริมการแปรรูปอาหาร เพื่อเป็นของฝากของขวัญประจำพื้นที่ จ.สตูล สินค้าโอทอป จ.สตูล ยังมีจุดด้อยคือ ไม่โดดเด่น แต่มีความหลากหลาย

ซึ่งจุดนี้เห็นว่าต้องช่วยกันส่งเสริม และพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ยอมรับให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่มีหลากหลายมาเป็นสินค้าสร้างรายได้ และประกอบอาชีพ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้คนอื่นเข้ามาเห็นโอกาส และทำส่งมาขายเราแทน โดยเห็นว่าหากมีการพัฒนาให้มีคุณภาพในตัวสินค้า และผลิตภัณฑ์ได้คุณภาพตลาดสินค้าโอทอปพร้อมจะเปิดรับ โดยทางจังหวัดก็พร้อมจะส่งเสริมให้สินค้าชุมชน โดยการร่วมหาตลาดให้กระจายออกไปสู่พื้นที่ภายนอก

 
ปลาส้ม และปลาป่นเครื่องแกง เป็นเมนูการถนอมอาหาร มีอายุในการรับประทานนานเป็นเดือน ซึ่งขั้นตอนการทำก็ไม่ยุ่งยาก โดยเฉพาะปลาส้ม เคล็ดลับอยู่ที่การวัตถุดิบที่มีคุณภาพ การคัดสรรปลาทะเลมาทำปลาส้ม ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่อื่นที่ใช้ปลาน้ำจืด ซึ่งเป็นปลาอะไรก็ได้ที่มีเนื้อเยอะ ส่วนปลาป่นเครื่องแกง เป็นการใช้ปลาผ่านความร้อน แกะก้างออกมาผัดกับเครื่องแกงปนกะทิจนแห้งสนิท ถือเป็นอาหารจากท้องทะเลที่มีอยู่มากมายใน จ.สตูล

 
โดยผู้อบรมสามารถไปประยุกต์ หรือต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ขึ้นชื่อใน จ.สตูล ได้ อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าสร้างรายได้ สร้างงานให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างมาก ซึ่งภายในงานนอกจากมีการสาธิตการปรุงแล้ว ยังมีการประยุกต์อาหารเป็นแซนด์วิชปลาส้ม และปลาป่นเครื่องแกง ให้นักชิมระดับหัวหน้าส่วนของจังหวัดได้ชิมกันเพื่อโปรโมตสินค้าพื้นเมืองกันอย่างอร่อยด้วย


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น