สตูล - หอการค้าจังหวัดสตูล เชื่อว่าควรให้เวลาแก่ชาวประมงได้ปรับตัวต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หลังรัฐบาลปล่อยปละละเลยต่อมาตรการนี้มาช้านาน ขณะที่ผู้ประกอบการวอนหากรัฐอำนวยความสะดวกก็พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่
วันนี้ (1 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิทชัย อรุณอร่ามศักดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสตูล กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก และเป็นส่วนหนึ่งในผู้มีบทบาทจัดการสิทธิเสรีภาพ ที่มีผลเชื่อมโยงในการค้ามนุษย์ และการทำประมงที่ผิดประเภท ซึ่งมีส่วนจำเป็นที่รัฐบาลเห็นว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และไม่ง่ายนักหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในการทำประมงประเภทอวนลาก อวนดำ หลังมีการปล่อยปละละเลยมาช้านาน
การที่ผู้ประกอบกิจการประมงจะต้องเพิ่มต้นทุนลำละไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท จากที่พวกเขาลงทุนในการซื้อเรือมาลำละไม่น้อยกว่า 40-50 ล้านบาท เชื่อว่าหากมีการผ่อนปรนให้กลุ่มผู้ประกอบการประมงในการปรับตัวมากกว่านี้ ทุกคนก็พร้อมจะเข้าสู้ระบบ และมาตรฐานของสังคมโลก ให้ถูกต้องทั้งธุรกรรม และธุรกิจ เพราะเราก็ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตอาหารป้อนให้สังคมคนส่วนใหญ่อยู่แล้ว
ส่วนการหยุดเดินเรือในพื้นที่จังหวัดสตูล จากการพูดคุยพบว่า เรือประมงขนาดเล็กยังคงออกเรือหาปลา การขาดแคลนปลา และอาหารทะเลจะไม่ถึงขั้นวิกฤตอย่างแน่นอน เนื่องจากเรือประมงขนาดเล็กก็ยังเป็นคนส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องออกทำมาหากินในทะเล ซึ่งเป็นการพบกันคนละครึ่งทาง โดยรัฐควรให้เวลา และให้โอกาสในการให้พวกเขาได้ปรับตัวหลังมีการปล่อยปละละเลย และอยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาช้านานก่อนจะเข้าสู่ระบบ ผู้ประกอบการเรือประมงสตูล วอนรัฐบาลอำนวยความสะดวกพร้อมจะให้ความร่วมมือกับรัฐอย่างเต็มที่
นายวิเชียร ตันติอาภรณ์ เจ้าของเรือประมงในพื้นที่จังหวัดสตูล กล่าวว่า ตนเองมีเรือประมงทั้งสิ้นร่วม 40 ลำ ทั้งเรือปลากะตัก เรืออวนลากกลางวัน เรืออวนลาก เรือซั้ง จากที่ทางรัฐบาลได้ออกกฎเหล็กให้เรือมีการจัดทำเอกสารให้ถูกต้อง และมีการแจ้งเรือเข้าออกทุกครั้งนั้น หากมองในภาพรวมแล้วในพื้นที่จังหวัดสตูล จะมีเรือขนาดใหญ่เพียง 100 กว่าลำ ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นแล้วยังถือว่าน้อย
แต่การดำเนินการในเรื่องของการจัดทำเอกสารนั้น ถือว่าเจ้าของเรือในพื้นที่จังหวัดสตูล ได้ทำอย่างถูกต้อง เพราะเรือในพื้นที่จังหวัดสตูลจะต้องมีการเข้าออกระหว่างไทย-มาเลเซีย ที่มีน่านน้ำติดกัน และเรือบางลำก็จะออกไปทำการลากบริเวณทางฝั่งมาเลเซีย พร้อมทั้งขายปลาในมาเลเซีย จำเป็นที่จะต้องจัดทำเอกสารให้ถูกต้อง เพื่อความสะดวกในการเข้าออกของเรือระหว่างประเทศ แต่เนื่องจากยังมีข้อห้ามบางข้อเท่านั้น ที่ทางผู้ประกอบการยังทำไม่เรียบร้อย เพราะแรงงานประมงจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกเรือ ทำให้ยากต่อการจัดทำเอกสารในการจัดจ้างแรงงาน
บางครั้งได้ทำเอกสารเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่คนงานไม่ยอมลงเรือ ทิ้งงานไป ก็ต้องมีการแจ้งยกเลิกเอกสารกันใหม่ หรือการขอใบอนุญาตของแรงงานขับเรือจะต้องผ่านการฝึกอบรมมาก่อน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วคนขับเรือนั้นไม่ต้องไปฝึกอบรม แต่ต้องผ่านลูกเรือที่สามารถขับเรือได้มาก่อน สามารถรู้ทิศทางในการเดินเรือ ซึ่งไม่มีคนขับเรือคนไหนที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาก่อน จึงเป็นเรื่องที่ยากในการจัดทำเอกสาร
ประกอบกับได้มีการจัดตั้งจุดแจ้งเข้าออกของเรือขึ้น ซึ่งการแจ้งเข้าออกของเรือนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแต่นำเอกสารไปแจ้งก่อนที่เรือจะออกทะเล และนำเอกสารไปแจ้งหลังจากที่เรือได้เข้าฝั่ง แต่ปัญหาอยู่ที่กระบวนการจัดทำเอกสาร เนื่องจากเรือเข้าออกนั้นไม่มีวันหยุด แต่กระบวนการจัดทำเอกสารนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องมีเวลาหยุดทำการ ทำให้ยากต่อการจัดทำเอกสารต่างๆ ซึ่งต้องของวอนให้ทางภาครัฐเข้ามาดูแลในเรื่องนี้อีกทางหนึ่ง