คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทองแสงอุทัย
“พ่อท่านโคะ” หรือ “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” เป็นพระอริยสงฆ์ที่อยู่คู่วิถีศรัทธาของชาวล่มน้ำทะเลสาบสงขลามานานหลายชั่วอายุคน ตอนผู้เขียนยังเล็กๆ อยู่ในวัยพอจำความได้ แม่ให้ผูกด้ายสีแดงที่ข้อมือเพื่อแสดงถึงความเป็นลุกหลานของพ่อท่านโคะ จะได้ปลอดภัยจากอันตรายถึงแก่ชีวิต ที่ร่ำลือกันว่าใครที่ไม่เป็นลูกหลานพ่อท่านโคะ จะถูกยมบาลหมายปองเอาชีวิต
นอกจากนั้น พ่อท่านโคะ ยังมีบทบาทสำคัญในด้านเป็นเครื่องรางของขลัง โดยเฉพาะในช่วงญี่ปุ่นบุกสงขลา เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๘ หลวงพ่อทวด และเครื่องรางของขลังจากหลวงพ่อวัดแหลมทราย อ.เมือง จ.สงขลา กลายเป็นเครื่องรางของขลังประจำตัวของทหารผ่านศึกรุ่นนั้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พ่อและอาของผู้เขียน
หลวงพ่อทวด ในตำนานจากประวัติศาสตร์ชนชาติไทย และสำเนาหนังสือกรุงเก่าสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ พ.ศ.๒๑๕๘ กล่าวว่า
“…ตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ชนชาติไทยก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย และขยายอิทธิพลไปถึงอาณาจักรศรีวิชัยทางตอนใต้ ที่แหลมมลายู โดยเฉพาะล่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่นั่นมีเมืองสทิงพระเป็นเมืองอิสระสำคัญ ต่อมา มีการสร้างเมืองใหม่ทางเหนือของเมืองสทิงพระ ใกล้เขาพิพัทธสิงห์ ในปี พ.ศ.๑๘๓๒ มีการอพยพผู้คนลงมา และแต่งตั้งขุนนางมาเป็นเจ้าเมืองปกครอง ต่อมา เมื่อถึงสมัยพระธรรมรังคัล มาเป็นเจ้าเมือง ราว พ.ศ.๒๐๕๗ ตรงกับต้นอยุธยามีการสร้างวัด โดยนิมนต์พระมหาอโนมหัสสิ ให้เอาแบบแปลนการสร้างพระบรมธาตุจากเมืองลังกามาสร้างเจดีย์พระบรมธาตุ แล้วทำอุโบสถ ศาลา วิหาร และก่อกำแพงที่วัดหลวงเขาพิพัทธสิงห์ มีการสร้างพระพุทธไสยาสน์บนเขาพิพัทธ์สิงห์ เรียกว่า “พระโคตมะ” จึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดพระโคะ” ซึ่งเพี้ยนมาจากพระโคตมะ”
พระสงฆ์ในลุ่มทะเลสาบสงขลาได้สืบพระศาสนาจากสำนักพระรัตนมหาเถระในลังกา ก่อสร้างคณะสงฆ์ขึ้น ๒ คณะ คือ คณะลังกาป่าแก้ว หรือกาแก้ว มีวัดสำคัญ คือ วัดจะทิ้งพระ และคณะลังกาชาติ หรือกาชาติ มีวัดสำคัญ คือ วัดพระโคะ
วัดพะโคะ มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาศาสนาพุทธลังกาวงศ์ เป็นที่ตั้งของเจ้าคณะลังกาชาติ ได้ปกครองหัวเมืองแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จากอำนาจหน้าที่อันได้รับจากกัลปนาวัดจากกษัตริย์ในกรุงศรีอยุธยา
ในช่วงเดียวกันนั้น ชาวชวาจากคาบสมุทรมลายู และบริเวณหมู่เกาะเป็นกลุ่มโจรสลัดที่มีความเจริญก้าวหน้าจากการเข้ามาติดต่อกับชาวอาหรับเปอร์เซียตั้งแต่ตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เริ่มส่งกำลังทางเรือเที่ยวปล้นสะดมชุมชนต่างๆ ทางตอนกลางของคาบสมุทรมลายู
ปี พ.ศ.๒๑๔๑ ตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองโจรสลัดอุชงคตะเข้าโจมตีเมืองเสียหายอย่างหนัก พระสงฆ์ผู้ใหญ่ได้ทำฎีกายื่นต่อพระเอกาทศรถกษัตริย์องค์ใหม่ เพื่อให้ช่วยเหลืออุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา คือ หลวงปู่ทวด พระสังฆราชาคุณูปมาจารย์ ซึ่งเคยอยู่กรุงศรีอยุธยาช่วงหนึ่ง ต่อมา มาจำพรรษาที่วัดพะโคะ พ.ศ.๒๑๕๘ เรียกกันว่า “สมเด็จเจ้าพะโคะ”
อีก ๑๓ ปีต่อมา พ.ศ.๒๑๗๑ โจรสลัดอุชงคตะ ได้ยกกำลังมาอีกครั้งหนึ่ง โจมตีทำลายเมือง วัดวาอาราม รวมทั้งวัดพะโคะเสียหายยับเยิน หลังจากหลวงพ่อทวดได้หายไปจากวัดอย่างไร้ร่องรอย โดยการโละ หรือหายไปเป็นดวงไฟ พร้อมกับสามเณรไปทางทิศใต้ และไม่ได้กลับมาอีกเลยจนทุกวันนี้
จากบริบททางประวัติศาสตร์ในช่วงดังกล่าวที่เจ้าเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงในยุคนั้นเป็นมุสลิมคือ โมกอล และตระกูลสุไลมาน ประกอบกับมีโจรสลัดมาปล้นเมือง ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า หลวงพ่อทวด น่าจะถูกโจรสลัดที่เป็นมุสลิมอุ้มเหมือนทนายสมชายในยุคหลัง
ต่อมา มีพระภิกษุชรารูปหนึ่งปรากฏตัวที่รัฐเกดะห์ (ไทรบุรี) ประเทศมาเลเซีย เป็นปราชญ์ทางธรรม และเชี่ยวชาญทางอิทธิปาฏิหาริย์ยอดเยี่ยม ชาวไทรบุรี มีความเคารพเลื่อมใสมาก เพราะสมัยนั้นคนมลายูในไทรบุรี นับถือศาสนาพุทธ ชาวไทรบุรี ขนานนามพระสงฆ์รูปนั้นว่า “ท่านลังกาองค์ดำ”
ชื่อเรียกหลวงพ่อทวดมีหลายชื่อ ได้แก่ พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ ท่านลังกา และท่านช้างให้ พ.ศ.๒๔๙๗ มีการสร้างพระเครื่องต่างองค์ท่านชื่อว่า “ท่านช้างให้” แต่ท่านนิมิตบอกให้ใช้ชื่อ “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” แต่ประวัติความเป็นมาของท่านช้างให้เป็นอันเดียวกันกับพ่อท่านโคะ หรือหลวงพ่อทวดวัดพะโคะ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ทุกประการ
คำว่า “หลวงพ่อทวด” ความจริงไม่ใช่ชื่อเฉพาะของพระอริยสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง แต่หมายถึง พระภิกษุผู้มีบุญญาธิการสูง เมื่อมรณภาพแล้วยังมีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์คล้ายกับเทพ หรือเทวดา แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป หรือครึ่งสัตว์ครึ่งเทพเรียกว่า “ทวด” เช่น ทวดหุม อ.สิงหนคร จ.สงขลา ทวดจระเข้นางเรียม อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ทวดงู เกาะสี่เกาะห้า อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ทวดโหม อ.กงหรา จ.พัทลุง
คำว่า “หลวงพ่อทวด” เป็นชื่อที่ใช้เรียกพระภิกษุที่มรณภาพแล้ว วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ และชาวบ้านยังจำชื่อพระภิกษุรูปนั้นได้ ก็จะให้ชื่อว่าหลวงพ่อทวดนำหน้าชื่อจริง หรือสมญานาม เช่น หลวงพ่อทวดหัวมวย วัดอ่างทอง ต.ทุ่งหวัง อ.เมืองสงขลา หลวงพ่อทวดนวล วัดมุจลินทวาปีวรวิหาร (วัดตุยง) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นต้น ถ้าไม่รู้จักชื่อก็เรียกหลวงพ่อทวดตามด้วยสถานที่ เช่น หลวงพ่อทวดวัดช้างให้