เรื่อง : จำนง ศรีนคร / ภาพ : ปกรณ์กานต์ ทยานศิลป์
เสียงท่อที่ดังเป็นสไตล์เฉพาะตัว “ตุ๊กตุ๊ก ตุ๊กตุ๊ก…” แว่วมาแต่ไกลในระยะหลายร้อยเมตร รูปทรงแปลกตาสไตล์สามเหลี่ยมขนาดเล็กน่ารักๆ เมื่อมองจากด้านหน้า ค่อยๆ เคลื่อนโผล่ตามมากับเสียง
สำหรับ “ตุ๊กตุ๊กเมืองตรัง” หรือ “ตุ๊กตุ๊กหัวกบ” ที่โด่งดังไปทั่ว ความทรงจำต่อยานยนต์ประเภทนี้มีมาตั้งแต่จำความได้
เจ้ารถตัวนี้วิ่งกันให้วุ่นทั่วเมือง เป็นทั้งรถประจำทาง รถเหมา ขนทั้งคน ข้าวของ หมา แมว เป็ด ไก่ และสิ่งของสารพัดสารเพ ด้วยขนาดเล็กทำให้สามารถซอกซอนได้ทุกตรอกซอกซอยได้อย่างคล่องแคล่ว ยามเช้าตรู่เจ้าตุ๊กตุ๊กจะรับคนจากที่ต่างๆ เพื่อเริ่มวงจรการทำมาหากินในแต่ละวัน เด็กๆ เดินทางไปโรงเรียน ข้าราชการเดินทางไปทำงาน พ่อค้าแม่ค้าไปจ่ายตลาด
ภาพลุงแก่ๆ เป็นคนขับใต้เครื่องแบบเสื้อเชิ้ตบางๆ กางเกงขาสั้นบ้าง ยาวบ้าง ตามรสนิยม แต่ที่ขาดไม่ได้คือ ผ้าขาวม้าคาดเอว ปากก็คาบมวนใบจากยาเส้น เป็นอันครบองค์ประกอบโชเฟอร์คลาสสิกแห่งเมืองยางพารา
บนเบาะทั้งสองฝั่งของรถตุ๊กตุ๊ก บทสนทนาของผู้คนทั้งที่รู้จัก และไม่รู้จักกัน ทำให้เส้นกั้นความเป็นตัวใครตัวมันบางลง ป้าคนนั้นถามยายที่นั่งฝั่งตรงข้ามว่า ...วันนี้ที่บ้านแกงอะไร? และยังมีกิจกรรมละลายพฤติกรรมอื่นๆ ของผู้ร่วมทางอีกเยอะแยะมากมาย รวมทั้งความมีน้ำใจลงกันช่วยเข็นรถเมื่อเครื่องยนต์ดับตามธรรมชาติ...
สิ่งเหล่านี้หาได้ยากเหลือเกินในวันนี้...ในวันที่หลายอย่างเปลี่ยนไป!!
แม้ปัจจุบัน ภาพความทรงจำเกี่ยวกับยานพาหะนะคลาสสิกอันนี้ก็ค่อยๆ เลือนรางไป คนตรังมีรถส่วนตัวใช้กันมากขึ้น แต่ของเก่าๆ บางอย่างก็มีคุณค่าที่จะดำรงอยู่ต่อไป หรืออย่างน้อยก็ให้พอเหลือเรื่องเล่ากับคนรุ่นหลังๆ ได้รู้บ้าง
ว่ากันว่า “ตุ๊กตุ๊กหัวกบ” “ตุ๊กตุ๊กเมืองตรัง” หรือ “สามล้อเมืองตรัง” จะเรียกอย่างไรก็ตาม แต่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแดนอาทิตย์อุทัย เข้ามาวิ่งเล่นบนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่ พ.ศ.2502 ในยุค “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” เป็นนายกรัฐมนตรี
เดิมทีเป็นกระบะสามล้อท้ายเปิด Daihatsu Midget สายพานการผลิตเริ่มผลิตในปี ค.ศ.1957 และหยุดการผลิตในปี ค.ศ.1972 ในรุ่นแรกๆ ที่ผลิตออกมา (รุ่น DKA และ DS2) ระบบบังคับเลี้ยวใช้แบบก้านจับแบบรถมอเตอร์ไซค์ รุ่นต่อมา (MP4-5) ได้เปลี่ยนมาเป็นแบบพวงมาลัยแบบเดียวกับรถสี่ล้อ รุ่น MP4 และ MP5 เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นแบบสองจังหวะ 305 ระบายความร้อนด้วยอากาศ มีกำลัง 12 แรงม้า มี 3 เกียร์ น้ำหนักบรรทุกประมาณ 350 กิโลกรัม
เดิมที “ตุ๊กตุ๊กหัวกบ” นำเข้ามาจากญี่ปุ่นรุ่นแรกใช้ในกรุงเทพฯ ก่อน แล้วต่อมาที่นำเข้ามาใช้งานในเมืองตรัง คือ รุ่น MP4 มีจำนวนไม่มากนัก นับเป็นรุ่นหายาก ต่อมาคือ รุ่น MP5 ซึ่งมีจำนวนมาก และใช้กันมาถึงปัจจุบัน
ส่วนแตกต่างระหว่าง MP4 และ MP5 ซึ่งเป็นรุ่น Minor Change ที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ ช่องระบายอากาศที่อยู่ใต้ไฟหน้าของ MP5 จะมีขนาดใหญ่กว่า MP4 รถทั้ง 2 รุ่นนี้ยังคงมีการอนุรักษ์ และใช้งาน โดยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างภายนอกของ Daihatsu Midget รุ่น MP4 และ MP5 เลย ส่วนราคาในยุคแรกแค่ราว 1 หมื่นบาท มาวันนี้เป็นหลักแสนบาทแล้ว เพราะไม่มีการผลิตใหม่ ที่เห็นกันอยู่คือ ของเดิมที่ซ่อมแล้วซ่อมอีก
แต่เมื่อกาลเวลาหมุนผ่านไป มาวันนี้เมื่อเริ่มวิ่งรับผู้โดยสารไม่คุ้ม หลายคันก็ถูกจอดทิ้ง สมัยก่อนเคยมีคิวให้เช่าวิ่ง ตอนนี้ก็เป็นแบบของใครของมัน
จากคำบอกเล่าในยุคเฟื่องฟูในเมืองตรังน่าจะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 500 คัน แต่ปัจจุบันคาดคะเนเอาคร่าวๆ จากการตรวจนับของระบบโฆษณาเคลื่อนที่บนตุ๊กตุ๊ก เหลืออยู่เพียง 100 กว่าคัน แถมในจำนวนนั้นถูกซื้อไปสะสมแล้วจำนวนมากอย่างน่าตกใจ
ใครผ่านไปผ่านมาแถวตลาดทับเที่ยงเมืองตรังเวลานี้ น่าจะสังเกตเห็นตุ๊กตุ๊ก ใหม่เอี่ยมสีสันแปลกตา ไม่ว่าจะสีชมพู สีแดง นั่นเพราะเป็นตุ๊กตุ๊กที่คนซื้อไปสะสมแล้วทำการตกแต่ง หรือซื้อไปเพื่อใช้งานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะของเอกชน ขณะที่ตุ๊กตุ๊กโดยสารแบบดั้งเดิมยังคงมี แต่ชำรุดทรุดโทรม เพราะเจ้าของทำมาหากินยากขึ้น เศรษฐกิจช่วงนี้ก็ซบเซาซ้ำเติมเข้าไปอีก
เคยคุยกับคุณลุงคนขับตุ๊กตุ๊กหัวกบคนหนึ่ง ผมขาวบนศีรษะของคุณลุงบ่งบอกถึงเวลาผ่านของประสบการณ์ แกจอดรถนั่งรอผู้โดยสารอยู่แถวโรงแรมธรรมรินทร์ธนา ในตัวเมืองทับเที่ยง ลุงบอกว่าขับมา 30 ปีแล้ว ไม่เคยทำอาชีพอื่น ส่งเสียลูกๆ จนจบปริญญาตรีทุกคน
แต่เมื่อถามถึงความอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รุกเข้ามา ลุงได้แต่ยิ้ม ก่อนจะแจกแจงถึงภาระ และปัญหาสารพัน ตั้งแต่ค่าน้ำมันที่แพงขึ้นมา แกบอกว่าสมัยก่อนเคยเติมเบนซินตั้งแต่ยุคลิตรละบาทกว่าๆ พอมาสมัยนี้ใครก็ใช้รถส่วนตัว ทั้งรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ที่มีมากจนล้นเมือง
“ทุกวันนี้ยังพอมีเพียงนักท่องเที่ยวจากที่อื่น หรือชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองตรังจำนวนหนึ่งที่มาใช้บริการ แต่ก็ไม่ได้ชุกชุมทั้งปี จะหนาแน่นเพียงในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือช่วงไฮซีซันเท่านั้น”
ความเปลี่ยนแปลงของโลกคมนาคมได้กำหนดชะตากรรมให้แก่ “ตุ๊กตุ๊กเมืองตรัง” ให้จอดนิ่ง หรือไม่ก็ต้องขายทิ้ง แล้วเปลี่ยนอาชีพเพื่อความอยู่รอด เพื่อเอาเงินมาต่อลมหายใจชีวิตให้ได้ไปต่อ
แต่ที่น่าตกใจคือ มีการกว้านซื้อตุ๊กตุ๊กออกไปนอกพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย?!?!