ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ปฏิบัติการอารยะขัดขืนของ “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ย่างเข้าวันที่ 2 เผยตัวแทน รมว.การท่องเที่ยวฯ เจ้าของสถานที่ไล่ให้ไปปักหลักหน้าหน้าทำเนียบ พอตกดึกมีทัพตำรวจ ทหารยกทัพกดดัน แต่กำลังใจยังท่วมท้น สถานทูตแคนาดา และอเมริกายังให้ส่งตัวแทนไปให้ข้อมูล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดช่วงเช้าวันนี้ (11 ก.ค.) ยังมีตัวแทนภาคประชาสังคม นักวิชาการ และประชาชนซึ่งเห็นด้วยต่อการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ เพราะจะเป็นการทำลายการท่องเที่ยวตลอดชายฝั่งทะเลอันดามัน อันสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ได้ทยอยเข้ามอบดอกไม้ และให้กำลังใจแก่ผู้ประสานงาน “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ที่ยังคงปฏิบัติการอารยะขัดขืนนั่งอดอาหารประท้วง ณ บริเวณทางเท้าหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่เมื่อเวลา 10.30 น. ของวันวาน
ทั้งนี้ น.ส.ชลาใส ราชกิจภารวิสัย เลขานุการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินทางมาเจรจากับคณะที่อดข้าวประท้วงเพื่อขอให้เลิกเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. วานนี้ แต่ได้รับคำตอบแบบยืนกรานกลับไปจะอดอาหารจนกว่ารัฐบาลประกาศยกเลิกโครงการ เมื่อไม่เป็นผล เวลาประมาณ 12.10 น. นายสุธรรม เดชดี ผอ.สำนักทะเบียน ซึ่งอ้างว่าได้รับมอบหมายจาก นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ให้มาเจรจาว่า ทำไมไม่ไปนั่งกันหน้าทำเนียบ ไปบอกนายกรัฐมนตรีเลย เพราะกระทรวงไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่คำตอบยังคงเดิมคือ “พวกเราขอประกาศว่า หากท่านไม่ยอมยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินอันดามัน เราจะอดอาหารจนชีวิตจะตกตายไป”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เวลาประมาณ 23.20 น. ของคืนที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารราว 20 นาย เดินทางเจรจากับคณะอดข้าวประทวง พร้อมได้สั่งการเชิงข่มขู่คุกคามให้ออกไปให้พ้นจากพื้นที่ โดยเสนอให้ไปนอนที่โรงพัก ซึ่งทางเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินยืนยันที่จะนั่งอดอาหารต่อไป สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ล่าถอยไปเอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ปฏิบัติการอารยะขัดขืนของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินครั้งนี้ ได้รับการจับตาจากหลายประเทศชั้นนำของโลก เช่น สถานทูตแคนา ได้ให้ตัวแทนเครือข่ายเข้าพบ และให้ข้อมูลต่อ แมธธิว โรเบิร์ตสัน เลขานุการโทฝ่ายการเมืองและเศรษฐกิจ ผู้แทนท่านเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ระหว่างเวลา 10.00-11.00 น. วานนี้
หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ที่เข้าพบตัวแทนทูตแคนาดาให้ข้อมูลว่า รัฐบาลแคนาดา กำลังเดินหน้าลด ละ เลิก โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และไม่ใช่เพียงให้ความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายพลังงานเท่านั้น แต่ความโปร่งใส และเป็นธรรมเป็นสิ่งที่รัฐบาลแคนาดาให้คำนึงถึงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวด้วยว่า ระหว่างที่พูดคุยกันเรื่องการที่ กฟผ. และรัฐบาลไทยจะประกาศผลการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือถ่านหิน จ.กระบี่ ทั้งที่กระบวนการการจัดทำรายงานผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่ผ่านการอนุมัติ และขาดธรรมาภิบาล ตัวแทนทูตแคนาดาให้ความเห็นว่า ทางแคนาดากำลังจับตานโยบายพลังงานของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือถ่านหิน จ.กระบี่
ทางรัฐบาลแคนาดามุ่งเน้นการพัฒนาการลงทุนพลังงานหมุนเวียน ทั้งด้านพลังงานสีเขียว และสะอาด หรือ Green & Clean Energy เราพูดคุยกันเรื่อง Krabi goes Green และกระบี่กำลังเป็นโมเดลแรกที่จะก้าวสู่จังหวัดพลังงานหมุนเวียน 100% ในอีก 2 ปี ในขณะที่ผู้ว่าการรัฐของออนแทริโอ กับพลเมืองได้เริ่มเดินหน้าปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินของเขาทั้ง 19 โรง ตั้งแต่ปี 2003 อันเนื่องมาจากผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ
“ในตอนท้ายตัวแทนทูตแคนาดาย้ำว่า ทางสถานทูตแคนาดาขอขอบคุณเครือข่ายหยุดถ่านหินอันดามันที่ได้เข้ามาให้ข้อมูล และจะนำเสนอประเด็นดังกล่าวไปยังรัฐบาลแคนาดาอีกทางหนึ่ง โดยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการประสานงานหลังจากนี้ในด้านนโยบายพลังงาน” ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินให้ข้อมูล
นอกจากนี้แล้ว ก่อนปฏิบัติการอารยะขัดขืนเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ก็ได้มีโอกาสเข้าพบ ทาห์รา โวส เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสุขภาพ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะผู้แทนของเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องนโยบายพลังงาน และการท่องเที่ยว
จากการพบปะทำให้ทราบว่า อเมริกามีนโยบายในการลด ละ เลิก การใช้ถ่านหิน และมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนถึง 80% ในปี ค.ศ.2030 และเพิ่มเป็น 100% ในปี ค.ศ.2050 ซึ่งทางอเมริกาเองก็ได้ติดตามนโยบายพลังงานของไทยอย่างใกล้ชิด และสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนในไทย รวมถึงประเทศแถบลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์
เป็นที่น่ายินดีว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มีการติดตามข่าวแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี 2015) ที่รัฐบาลเพิ่งอนุมัติ และได้ติดตามข่าวโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือถ่านหิน จ.กระบี่ เช่นกัน โดยได้ตั้งคำถามว่าการจะเปิดประมูลการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในวันที่ 22 ก.ค.นี้ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็แบบเดียวกับคนไทยจำนวนมากรับรู้คือ รายงานทั้ง 2 อย่างยังไม่ผ่านการอนุมัติ แถมกระบวนการดังกล่าวยังขาดธรรมาภิบาล และความโปร่งใส ทางอเมริกาจึงบอกว่า จะมีการจับตาใกล้ชิดต่อไป
“เราพูดคุยถึงเรื่อง จ.กระบี่ มีพื้นที่แรมซาไซต์ และกรณีที่ชาวบ้านส่งจดหมายไปยังเลขาธิการแรมซาไซต์ และอดีตเลขาฯ ก็ได้เดินทางลุยไปดูพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งคำตอบของชาวบ้านในด้านการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนทำให้อดีตเลขาฯ ได้กล่าวชื่นชมในศักยภาพของชาวบ้านที่กระบี่ว่า สุดยอด พร้อมแสดงการชื่นชมให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ติดตามลงพื้นที่ได้เห็นอย่างชัดเจนด้วย”
ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวให้ฟังด้วยว่า ยังมีพูดคุยถึงการท่องเที่ยวแถบอันดามัน และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เป็นพลเมืองสหรัฐฯ เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 71,857 คน ที่เดินทางไปท่องเที่ยวยัง จ.กระบี่ และ 258,792 คน เดินทางไปยัง จ.ภูเก็ต ซึ่งก็เป็นที่น่าดีใจที่ผู้แทนทูตอเมริกาก็เป็นคนหนึ่งที่รัก และชื่นชอบ จ.กระบี่เช่นกัน โดยที่ผ่านมา ได้เดินทางมาท่องเที่ยวที่ จ.กระบี่ แล้วถึง 3 ครั้ง ซึ่งทางตัวแทนเครือข่ายได้ขอบคุณผู้แทนสถานทูตอเมริกาที่ร่วมปกป้องอันดามันจากถ่านหินด้วย