xs
xsm
sm
md
lg

ทางออกเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมที่ท่านนายกฯ ไม่ได้ยิน! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม

ประเด็นร้อนที่กำลังท้าทายสังคมไทยอย่างรุนแรงก็คือ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่กระทรวงพลังงาน ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะปิดรับการขอสัมปทานในวันที่ 18 ก.พ.นี้

มีรายงานว่า 3 ชั่วโมงที่วงประชุมแม่น้ำ 5 สายนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งถึงกรณีกระแสคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ของรัฐบาลว่า “มีแต่คนบอกว่าไม่ให้เปิดประมูลแล้วจะเอาที่ไหนมาใช้ บอกแต่ห้ามทำ แต่ไม่มีการเสนอทางออกมาให้ด้วย ยิ่งเฉพาะประเทศไทยไม่มีบริษัทที่จะสำรวจเกี่ยวกับพลังงาน ทั้งเอกชน และรัฐบาลก็ไม่มี แล้วจะให้ทำยังไง ก็ให้ไปคิดกัน” (ผู้จัดการออนไลน์ 7 ก.พ.58)

ในบทความนี้นอกจากผมจะเสนอทางออกตามที่ท่านนายกฯ เรียกร้องแล้ว ผมจะนำเสนอข้อมูลซึ่งผมเชื่อว่า ทั้งท่านนายกฯ และคนไทยจำนวนมากก็ไม่เคยรู้ ผมจะนำเสนอเป็นข้อๆ รวม 5 ข้อ ตั้งแต่ภาพรวม ไปจนถึงรายละเอียดว่า “แล้วจะเอาที่ไหนใช้” ดังต่อไปนี้ครับ

ข้อที่หนึ่ง จะปฏิรูปพลังงานเมื่อปิโตรเลียมหมดไปแล้วกระนั้นหรือ?

ในทันทีที่รัฐบาลลงนามในสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัท สัญญานั้นจะมีผลบังคับใช้ไปได้ประมาณ 39 ปี โดยที่ 9 ปีแรกเป็นขั้นตอนการสำรวจ ที่เหลืออีก 30 ปี เป็นขั้นตอนการผลิตโดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ 20 ปี และอีก 10 ปี หากปิโตรเลียมยังไม่หมดแม้ในช่วงหลัง กระทรวงพลังงานได้ออกประกาศกระทรวง (4 ก.พ.58) เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายเพื่อนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้ก็ตาม แต่นโยบายรัฐบาลจะขัดแย้งต่อพระราชบัญญัติปิโตรเลียม 2514 ได้อย่างไรรัฐบาลนี้กำลังหลอกลวงประชาชนครับซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่อันตรายมาก

ผมมีคำถามมี 2 ข้อ คือ

(1) ทำไมรัฐบาลนี้ไม่แก้ไขพระราชบัญญัติเสียก่อนซึ่งใช้เวลาไม่นานก็แล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังร่างได้เลย

2) รัฐบาลนี้ได้ประกาศจะปฏิรูปประเทศอย่างแข็งขัน 11 ด้าน เรื่องพลังงานเป็นหนึ่งในนั้นซึ่งประชาชนได้ให้ความสนใจ และเรียกร้องมายาวนาน ดังนั้น ถ้าเมื่อได้ให้สัมปทานไปแล้วจะมีพลังงานที่ไหนให้ปฏิรูปอีกเล่า

เหตุผลสำคัญที่ภาคประชาชนคัดค้านระบบสัมปทานก็มี 2 ข้อเช่นกัน คือ

(1) ระบบสัมปทานเป็นระบบที่ยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมที่กฎหมายระบุชัดเจนว่าเป็นของรัฐให้แก่เอกชน ทำให้รัฐ หรือประชาชนสูญเสียอำนาจในการจัดการ และควบคุมกิจการทั้งหมด โดยหมดสภาพอย่างสิ้นเชิงไปจากอำนาจอธิปไตย

(2) จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า บริษัทรับสัมปทานได้ผลกำไรสุทธิมากจนเกินไป ซึ่งหมายถึงว่ารัฐได้ผลประโยชน์น้อย เช่น ในปี 2556 บริษัทลงทุนรวม 193,824 ล้านบาท แต่ได้รับกำไรสุทธิหลังจากการหักต้นทุน ค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้แล้วถึง 151,998 ล้านบาท เป็นเช่นนี้มาหลายปีติดต่อกัน

ท่านนายกฯ ใช้คำว่า “มีแต่คนบอกว่าไม่ให้เปิดประมูล ความจริงแล้วท่านนายกฯ เข้าใจผิดครับ เนื่องจากในระบบสัมปทานไม่มีการเปิดประมูล เพราะผลประโยชน์ก้อนใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าภาคหลวง หรือภาษีเงินได้ซึ่งมีค่ารวมกันถึงมากกว่า 99%ของรายได้ที่ควรจะได้ของรัฐนั้นได้ถูกกำหนดไว้อย่างตายตัวในกฎหมายเรียบร้อยแล้ว การพิจารณาของคณะกรรมการว่าจะเลือกรายใดให้ได้รับสัมปทานนั้นขึ้นอยู่กับการเขียนเรียงความของแต่ละบริษัท พร้อมกับเงินทุนบริจาคซึ่งมีมูลค่าระดับร้อยล้านบาทเท่านั้นเอง ตรงกันข้ามกับระบบการแบ่งปันผลผลิตที่มีการประมูลกันจริงในผลประโยชน์ก้อนใหญ่ๆ

ข้อที่สอง “แล้วจะเอาที่ไหนมาใช้ บอกแต่ห้ามทำ แต่ไม่มีการเสนอทางออกมาให้ด้วย”

ผมขอแยกตอบคำถามนี้เป็น 2 เรื่อง คือ เรื่องน้ำมันดิบ กับเรื่องก๊าซธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่เราใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า

เอาเรื่องน้ำมันดิบก่อนครับ จากการสืบค้นข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศไทย กับราคาในตลาดโลก(http://www.indexmundi.com) ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยจาก 3 ตลาดใหญ่ของโลก คือ Brent, West Texas Intermediate และดูไบ พบว่า

ราคาเฉลี่ยที่ปากหลุมผลิตในประเทศไทยในปี 2557 สูงกว่าตลาด West Texas ประมาณ 90 บาทต่อบาร์เรล ในขณะที่แหล่งเบญจมาศเหนือ (สัมปทานโดยบริษัทเซฟรอน) สูงกว่าตลาด West Texas ถึง 212 บาทต่อบาร์เรล ผมเขียนกราฟมาให้ดูด้วยครับ

ดังนั้น สามารถตอบคำถามท่านนายกฯ ได้ว่า ในกรณีน้ำมันดิบนั้นเรานำเข้าจากต่างประเทศดีกว่าครับ และปัจจุบันน้ำมันดิบส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศไทยก็นำเข้าอยู่แล้ว ในขณะที่จากแหล่งเบญจมาศเหนือบางปีส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าส่งออกกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท

สำหรับเรื่องก๊าซธรรมชาติมีเรื่องแปลกๆ ที่ผมจะเล่าให้ฟังครับ ก่อนที่จะตอบท่านนายกฯ ว่าแล้วจะเอาที่ไหนใช้ ผมนำกราฟในช่วง 24 เดือน (2556-2557) มาลงให้ดูด้วยครับ

ที่ว่าแปลกมี 2 ข้อ คือ

(1) ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ที่ Henry Hub terminal in Louisiana ราคาขึ้นลงตามราคาน้ำมันดิบ แต่ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเกือบจะคงที่ตลอดเวลา

(2) ก๊าซที่ว่านี้เป็นราคาปากหลุมนะครับ ราคาเฉลี่ยที่ผลิตในประเทศไทยอยู่ที่ 237 บาทต่อล้านบีทียู (1 ล้านบีทียูเท่ากับประมาณ 1,000 ลูกบาศก์ฟุต) แต่ราคาเฉลี่ยที่ Henry Hub เท่ากับ 129 บาท มันต่างกันเยอะนะครับ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าในช่วงหลังสหรัฐอเมริกาผลิตจากหินดินดาน (Shale gas) จึงมีราคาถูกมากๆ แต่ก็มีผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง และกำลังได้รับการต่อต้านจากประชาชน

ประเด็นที่ผมอยากจะให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาตอบก็คือ ทำไมราคาในประเทศไทยจึงคงที่ และราคาเป็นธรรมหรือไม่ แต่จากข้อมูลในข้อที่หนึ่งที่พบว่า บริษัทรับสัมปทานมีกำไรสุทธิเกือบ 100% ของเงินลงทุน ก็ทำให้เราทราบได้แล้วว่า ราคาไม่เป็นธรรมต่อประชาชนแน่นอน

มาที่คำถามว่า ถ้าต้องเลื่อนการเปิดสัมปทานออกไปแล้วจะเอาก๊าซที่ไหนมาใช้ ผมขอตอบในข้อที่สามครับซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการปฏิรูปเร็ว หรือ Quick Win ที่ได้ผ่านสภาปฏิรูป และผ่านมติ ครม.ไปแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าจากข้าราชการประจำ

ข้อที่สาม ความไม่คืบหน้าจากโครงการปฏิรูปเร็ว “โซลาร์รูฟท็อปเสรี”

สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ผ่านมติเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ของฝ่ายปฏิบัติการ หรือหน่วยงานของรัฐ เช่น จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์บนหลังคาในราคาหน่วยละเท่าใด จึงจะเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายทั้งการไฟฟ้า และเจ้าของหลังคาบ้าน

จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผมค้นได้ว่าก๊าซธรรมชาติ จำนวน 9.4 ลูกบาศก์ฟุต สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1 หน่วยไฟฟ้า (kwh)

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อนในเครือข่ายของผมคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดนนทบุรี บอกผมว่า บ้านเขาได้ติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ จำนวน 12 แผ่น บนหลังคาบ้านตนเองสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ 17.8 หน่วย (เป็นวันที่แสงแดดดีมาก แถมยังคุยอีกว่าลองเปิดแอร์ 2 ตัวแล้วมิเตอร์ไฟฟ้ายังเดินถอยหลังเลย

ซึ่งหมายความว่า ไฟฟ้ามากพอ ดังนั้น บ้านหลังนี้สามารถลดการใช้ก๊าซได้วันละ 167 ลูกบาศก์ฟุต ปีหนึ่งก็ประมาณ 6 หมื่นลูกบาศก์ฟุต

หรือประมาณ 60 ล้านบีทูยู

ถ้ารัฐบาลนี้ส่งเสริมให้มีการติดตั้งสัก 1 ล้านหลังคาเรือน (จากทั้งหมดประมาณ 22 ล้านครัวเรือน) ก็สามารถลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงได้ถึง 60 ล้านล้านบีทียู ก็สามารถลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงได้ประมาณถึง 18% ของที่เคยใช้ในปี 2557 (หมายเหตุ การประเมินของผมอาจจะสูงเกินไปบ้างเพราะคิดเฉพาะวันที่แดดดีมากๆ)

นี่เป็นทางออกของประเทศในกรณีต้องล่าช้าครับท่านนายกฯ

การคิดว่าหากคนไทยติดโซลาร์เซลล์ 1 ล้านหลัง (หรือประมาณ 5% ของจำนวนหลัง) อย่าคิดว่าสูงเกินไปนะครับ เพราะเมื่อปลายปีที่แล้ว ทุกๆ 4 หลังคาเรือนในรัฐออสเตรเลียใต้ ได้มีการติดตั้งแล้วถึง 1 หลัง และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับต้นทุนการติดตั้งของเพื่อนในเครือข่ายของผมขนาด 3 กิโลวัตต์ ก็ประมาณ 1 แสนบาทต้นๆ โดยไม่คิดค่าแรง เพราะลงมือทำกันเอง ลองคิดดูดีๆ นะครับ ถ้ามีการส่งเสริมกันอย่างจริงจังจะมีการจ้างงานนับแสนตำแหน่ง และเงินทุนหมุนเวียนน่าจะสูงกว่าค่าภาคหลวงจากก๊าซธรรมชาติที่ต้องลดจำนวนลง

สำหรับข้อมูลด้านการผลิตปิโตรเลียมประจำปี 2557 ผมได้รวบรวบจากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (รายงานของกรมฯ อาจจะต้องรอข้ามปี) ดังแสดงในตารางครับซึ่งพบว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าปิโตรเลียมมาจากก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียว

อนึ่ง ราคาก๊าซแอลพีจีในตารางข้างต้น มาจากแหล่งสิริกิติ์ เท่ากับ 9.90 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาต้นทุนที่ทางราชการประกาศเท่ากับ 16.54 บาท

ทำไมมันต่างกันเยอะขนาดนี้!

ข้อที่สี่ ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงมาก แต่ราคาน้ำมันหน้าปั๊มของไทยจึงลดน้อยมาก

ผู้ที่ติดตามข้อมูลเรื่องพลังงานพอจะทราบกันทั่วไปว่า ราคาน้ำมันที่หน้าปั๊มในประเทศไทยก็ไม่ค่อยจะแปรผันตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพ่อค้าน้ำมัน และนโยบายของรัฐบาลทั้งเรื่องภาษี และกองทุนน้ำมัน แต่ก็ไม่ค่อยมีใครศึกษาให้เป็นระบบชัดเจน

ผมพบข้อมูลจากบทความที่เขียนโดย Tom Randall ชื่อ Seven Reasons Cheap Oil Can’t Stop Renewables Now ในเว็บไซต์ของ Bloomberg

ผู้เขียนได้ยกเอาข้อมูลจากแหล่งหนึ่ง (อ้างเรียบร้อย Bernstein Research) เป็นการเปรียบเทียบราคาน้ำมันที่หน้าปั๊มในประเทศต่างๆ จำนวน 15 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย ผมนำกราฟมาเสนอก่อนนะครับ

เขาเปรียบราคาในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาด Brent ได้ลดลงถึงประมาณ 22%

ผลการศึกษาพบว่า ราคาหน้าปั๊มในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเก็บภาษีในอัตราต่ำ) ได้ลดลงประมาณ 14% ในขณะที่ประเทศเยอรมนี และไต้หวันลดลงประมาณ 10% และออสเตรเลียลดลง 4%

แต่ราคาในประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียไม่ได้ลดลงเลยครับ ดูกราฟ (ตามระเบียบ)

ผมเองก็ไม่เชื่อข้อมูลดังกล่าวครับ เพราะใครๆ ก็พูดกันว่าน้ำมันได้ถูกลงจริงๆ

แต่ความหมายของผู้วิจัยก็คือ เป็นการเปรียบเทียบราคาน้ำมันเฉลี่ยของรายไตรมาส นั่นคือต้องเอาราคาน้ำมันทุกวันมาเฉลี่ยของแต่ละ 3 เดือนมาเปรียบเทียบกัน แต่เนื่องจากทางราชการไทยไม่ได้ทำเอาไว้ ผมจึงนำค่าราคาของกลางเดือนไตรมาสที่ 3 (15 สิงหาคม) และที่ 4 (15 พฤศจิกายน) มาเปรียบเทียบกันอย่างง่ายๆ (โดยไม่มีการถ่วง และถือว่าเป็นการศึกษาที่หยาบมาก) พบว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยลดลงแค่ 3.9%

ข้อที่ห้า ประเทศใดที่มีน้ำมันเยอะ ประเทศนั้นจะมีประชาธิปไตยน้อย

ผลงานวิจัยของ Michael L. Ross, “Does Oil Hinder Democracy?” World Politics April 2001 ซึ่งเป็นการศึกษาจาก 133 รัฐ พบว่า ประเทศที่มีน้ำมันเยอะ ประเทศจะมีประชาธิปไตยน้อย รวมถึงความขัดแย้งจนนำไปสู่สงครามภายในประเทศ ไม่ใช่เฉพาะแต่ในตะวันออกกลางที่เราทราบ แต่ในทวีปอื่นๆ ด้วย

บทเรียนในประเทศไทยเราเองพบว่า การให้สัมปทานส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ถ้าท่านนายกฯ มีความจริงใจต่อประเทศจริงเหมือนที่ท่านพูด (แต่ไม่ชอบฟังชาวบ้าน) ขอได้โปรดหยุดสัมปทานเถอะครับ สุดท้าย ผมจะไม่ขอสรุปอะไรมากไปกว่าการนำภาพแปรอักษรในวันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 มาลงเพื่อเตือนท่านว่า “ธรรมคืออำนาจ มิใช่อำนาจคือธรรม”

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น