xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ภูเก็ตยันไม่ให้สิทธิใครยึดหาด จัดโซนนิ่ง 10% เปิดกว้างทุกคนปักร่ม-ปูผ้าได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประกาศชัดเจนไม่ให้ผู้ประกอบการยึดหาด จัดพื้นที่โซนนิ่ง 10% ปักร่ม-ปูผ้า เปิดกว้างสำหรับทุกคนไม่จำกัดสิทธิใคร ยังห้ามเตียงลงหาด พร้อมแนะท้องถิ่นทำป้ายประกาศ 4 ภาษา แจ้งนักท่องเที่ยวทราบกติกา และข้อปฏิบัติการปักร่มให้ทำได้เฉพาะในพื้นที่โซนนิ่งเท่านั้น ทดลองทำ 3 เดือน

วันนี้ (29 ม.ค.) ที่ห้องประชุมกลุ่มจังหวัดอันดามัน ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังใหม่) นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานประชุมติดตามคณะธรรมงานแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาดจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสุธี ทองแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นายอำเภอจาก 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมือง อ.ถลาง และอำเภอกะทู้ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจชายหาดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบ และติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการชายหาดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

นายนิสิต กล่าวในการประชุมเพื่อยืนยันถึงจุดยืน และความชัดเจนในการบริหารจัดการชายหาดต่างๆ ว่า วันนี้ก็ขอประกาศเจตนารมณ์กันชัดๆ ที่ต้องทำแผนทดลองบริหารจัดการชายหาด ก็เพื่อเปิดโอกาสให้เฉพาะประชาชนที่เดือดร้อนจากการจัดระเบียบชายหาดได้ทำมาหากิน ไม่ใช่ให้ผู้มีอิทธิพลกลับมายึดครองชายหาดหาดแบบเดิม และขอยืนยันว่า จะไม่เปิดโอกาสให้มีการจับจองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่เช่นนั้นจะมีการตัดเอาคำพูดของตนแค่บางส่วนไปเขียนในโซเชียลจนทำให้เข้าใจผิด ซึ่งขอความกรุณาว่าอย่าเอาคำพูดไปตัดต่อ เรื่องนี้ตนได้บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องทำตามกฎหมายอย่างถูกต้องเป็นคนแรก ตนไม่สามารถที่จะปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดกฎหมายได้

ส่วนเรื่องการขอหารือใช้พื้นที่ชายหาดทะเล ที่ดิน หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ที่ได้หารือไปยังกรมที่ดิน ซึ่งวันนี้กรมที่ดินได้ตอบกลับมาแล้ว ตามที่ได้มีหนังสือหารือ หรือประเด็นว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้าไปดำเนินการดึงต่อไปนี้ 1.จัดโซนนิ่งบริเวณสาธารณะชายหาด หน้าหาด ที่ดิน นสร. เพื่อจัดระเบียบผู้ประกอบการชายหาด หน้าหาด นสร. ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้หรือไม่ อย่างไร มีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างไร 2.องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้าไปใช้พื้นที่หน้าหาด ชายหาด ที่ดิน นสร. ซึ่งเป็นที่สาธารณะ เช่น การจัดโซนนิ่งให้บริการสาธารณะโดยการปักร่มหน้าหาด สำหรับหลบแดดหลบฝนให้แก่นักท่องเที่ยว หรือบริการสาธารณะอื่นๆ ได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างไรนั้น

กรมที่ดินพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ชายหาด หน้าหาด เป็นที่สาธารณประโยชน์ ทั้งที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การใช้ประโยชน์ การใช้และการจัดการต้องมุ่งรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ร่วมกันของประชาชน จะตัดรอนได้ก็แต่เฉพาะเป็นการชั่วคราว หรือบางส่วนบางตอนตามสมควร และต้องไม่เป็นการตัดรอนสิทธิ หรือประโยชน์ของบุคคลใดที่เคยมี เคยได้อยู่เกินความจำเป็น นอกจากนี้ หน่วยงานหรือองค์กรที่จะเป็นผู้ใช้ และจัดการ หรือกระทำการนั้นได้จะต้องมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้นๆ ด้วย

ตามข้อหารือของจังหวัดปรากฏข้อเท็จจริง ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะนำที่ดินตามที่หารือไปจัดระเบียบผู้ประกอบการหน้าหาด เช่น หมอนวดชายหาด กลุ่มร่มเตียง หาบเร่หิ้วกระติก ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า การประกอบอาชีพดังกล่าวหากมิได้เข้าไปเป็นการยึดครอบครอง หรือก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างมั่นคงถาวร แต่เป็นการเข้าไปประกอบอาชีพเพียงชั่วคราว หรือระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเสร็จจากการประกอบอาชีพในแต่ละครั้งก็เก็บอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการประกอบอาชีพออกไปจากบริเวณพื้นที่สาธารณะนั้น มิได้ทำให้สาธารณะสมบัติของแผ่นดินเสื่อมสภาพ และไม่ได้เป็นการขัดประโยชน์การใช้ร่วมกันของประชาชนแต่อย่างใด

ดังนั้น การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดระเบียบผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยการจัดโซนนิ่งบริเวณชายหาด หน้าหาด และที่สาธารณประโยชน์ ทั้งที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และไม่มีหนังสือสำคัญที่หลวง จึงสามารถกระทำได้ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามนัยแห่งมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2543 แต่อย่างใด (เทียบเคียงนัยความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการร่างกฎหมายกองที่ 1 เลขเสร็จที่ 95/2503 บันทึกเรื่องหารือเกี่ยวกับชายตลิ่งกรณีที่ดินตำบลปากน้ำโพธิ์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์) แต่อย่างไรก็ดี ในการดำเนินการกรณีดังกล่าว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีการวางมาตรการ หรือระเบียบหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเกิดประโยชน์ร่วมกันของประชาชน โดยกำหนดให้สอดคล้องต่อข้อบัญญัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นด้วย ลงชื่อ นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล อธิบดีกรมที่ดิน

นายนิสิต กล่าวต่อไปว่า จากหนังสือที่ทางกรมที่ดินตอบกลับมา คงจะทำให้เกิดความชัดเจน สำหรับนักกฎหมาย หรือกูรูที่ชอบตีความในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองทั้งสิ้นมากขึ้น สำหรับตนตนชัดเจนแล้วในเรื่องของการบริหารจัดการชายหาด จะได้ไม่ต้องมานั่งหารือมาเถียง ว่าจะอนุญาตให้ใครไปครอบครอง หรือจะให้ใครไปซื้อสิทธิร่ม-เตียงหรือไม่ ขอยืนยันว่า ไม่มีเพราะทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องมานั่งสอบถามว่าผู้ว่าฯ หมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมายหรือไม่ อยากให้ทุกคนพูดตรงกัน ยืนยันว่าผู้ว่าไม่ทำผิดกฎหมายแน่ จะไม่อนุญาตให้ใครครอบครองชายหาดเด็ดขาด ซึ่งการดำเนินการบริหารจัดการชายหาดนั้นได้ทำเป็นแผนทดลองขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้ก็เช่นกันตนก็เน้นย้ำอีกครั้งว่า ต้องบริหารงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบของทางราชการ ไม่มีการยึดครองชายหาดเป็นส่วนบุคคล หรือไม่มีการซื้อขายสิทธิ ไม่มีการนำร่มไปปักจองทุกวันนี้พบว่ายังมีผู้ประกอบการบางรายมีความพยายามที่จะทำเช่นนั้นอยู่

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหานั้นตนระลึกอยู่เสมอว่า คนจนต้องมีงานทำ มีรายได้ โรงแรมประกอบกิจการราบรื่น ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ต่อไปนี้จะไม่มาไล่จับกันเป็นแมวจับหนูอีก เพราะมีแต่เรื่องสิ้นเปลือง เชื่อว่าถ้าทุกคนเคารพกติกาก็ไม่มีปัญหา ที่สำคัญการดำเนินการจะต้องก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี ของชาวบ้านผู้ประกอบการชายหาด ผู้ประกอบการโรมแรม และคนภูเก็ต ส่วนเรื่องของร่มบนชายหาดทุกวันนี้ปักกันทั่วหาด ซึ่งเราต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อให้บริหารจัดการง่าย สามารถจับกุมผู้ที่ทำผิดกฎหมายง่าย ก็ต้องบริหารจัดการให้มาปักร่มในพื้นที่เฉพาะ หรือพื้นที่โซนนิ่ง 10% โดยพื้นที่ดังกล่าวนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศจะเอาร่มมาเอง หรือเช่าจากกลุ่มผู้ประกอบการก็สามารถปักได้ ไม่ได้ให้สิทธิเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาใช้พื้นที่ แต่เป็นการให้สิทธิในการเข้าถึงหาดของคนทุกคน

นายนิสิต ยังกล่าวอีกว่า การปักร่มทุกวันนี้ ต่างทำลายความสวยงาม ส่งผลให้ผู้มีอิทธิพลเดิมๆ เข้ามาใช้หาดในทางที่ไม่ถูกต้องทำให้บริหารจัดการยาก ดังนั้น จะต้องจำกัดพื้นที่ตามขนาดพื้นที่ 10% ตามสภาพของหาด โดยจัดโซนนิ่งตามโซนนิ่งว่ายน้ำ เพื่อความปลอดภัย วิธีจัดต้องไม่ปิดหน้าหาด ทุกอย่างที่จะให้บริการไม่ว่าจะให้เช่าร่ม ผ้าปู หรืออื่นจะต้องทำอยู่นอกหาด ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องมีการลงทะเบียนให้ชัดเจน ทุกอย่างต้องมีกติกา ถ้าจะเช่าร่มต้องติดป้ายราคาให้นักท่องเที่ยวเห็นชัดเจน หากนักท่องเที่ยวนำมาเองก็ไม่มีสิทธิไปกีดกันใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการจองพื้นที่ และไม่มีการขายอาหารบนหาดเด็ดขาด ขณะที่ในส่วนของท้องถิ่น จะต้องไปออกประกาศออกระเบียบในการบริหารจัดการที่ชัดเจน ทั้งเรื่องความชัดเจนของพื้นที่ที่จัดโซนนิ่ง และที่สำคัญเรื่องการประชาสัมพันธ์ จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ 4 ภาษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษารัสเซีย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้กติกา และทำตามกติกาของบ้านเมือง สำหรับการทดลองบริหารจัดการชายหาดนั้นจะมีคณะกรรมการดูแลชายหาด และมีการประเมินผลทุกเดือน จัดมีชุดพิทักษ์ชายหาดเข้าไปติดตามดูแลเพื่อให้เป็นไปตามกติกาที่กำหนด ซึ่งการทดลองจะใช้เวลา 3 เดือน โดยให้นายอำเภอแต่ละอำเภอสรุปผลประเมินเข้ามายังจังหวัดทุกเดือน และสุดท้ายทาง ม.อ.จะเข้ามาประเมินผลเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปหรือปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

ขณะที่ นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการทดลองบริหารจัดการชายหาด ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ว่า ในการดำเนินการตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดในการทดลองบริหารจัดการจัดการชายหาด มีการตั้งคณะธรรมงานขึ้นมาดูแล และลงไปทำงาน โดยมีการกำหนดแบบแปลนของแต่ละหาด ซึ่งมีพื้นที่แตกต่างไม่เหมือนกัน ในการดำเนินการนั้นยังยึดหลักทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ห้ามไม่ให้มีการยึดครอง ถือครอง จับจอง และมีการกำหนดพื้นที่โซนนิ่ง 10% สำหรับปักร่ม ผ้าปู ส่วนกลุ่มอาชีพอื่นๆ เช่น หาบเร่ บางชายหาดไม่มีการอนุญาตให้ดำเนินการซึ่งเป็นข้อตกลงกันของคนในท้องถิ่น

จากการทดลองดำเนินการก็พบปัญหามากมาย เช่น ยังมีการจับจองพื้นที่ บางพื้นที่กลุ่มหมอนวดนำเตียงไปตั้งเพื่อให้บริการซึ่งไม่สามารถทำได้เพราะเป็นการจับจองพื้นที่ถาวร มีการนำถังน้ำไปฝังดินโดยอ้างว่าทางจังหวัดอนุโลม ซึ่งจริงๆ แล้วทางจังหวัดไม่เคยเคยให้แนวทาง และยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ การปักร่มไม่ปักไม่พักในพื้นที่โซนนิ่ง เพราะฉะนั้นในการดำเนินการคิดว่าจะต้องทำให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางในการบริหารจัดการชายหาด จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ ด้วยการทำป้ายแจ้งให้นักท่องเที่ยวทราบถึงแนวปฏิบัติ รวมถึงผู้ประกอบการ ว่า สามารถทำอะไรได้ หรืออะไรที่ทำไม่ได้ ซึ่งป้ายจะต้องติดให้ชัดเจน จุดไหนปักร่มได้จุดไหนปักไม่ได้ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบ

ขณะที่ นายสุธี ทองแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนหาดป่าตอง และหาดกมลา ได้มีการประชุม และลงไปตรวจสอบพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปแล้ว ซึ่งในส่วนของป่าตองมีผู้ประกอบการร่มเตียงจำนวน 62 ราย หาบเร่ 92 และหมอนวนชายหาด 198 ราย สำหรับการกำหนดพื้นที่โซนนิ่ง 10% กำหนดโซนนิ่งตามจุดว่ายน้ำที่มีการกำหนดไว้ 3 จุด แต่คิดว่าไม่เพียงพอ กำลังอยู่ระหว่างการปรับเป็น 5 จุดโซนนิ่ง แต่ยังคงเป็นพื้นที่ 10% เหมือนเดิม แต่ปัจจุบันในส่วนของป่าตองพบว่า มีการวางร่มระเกะระกะไปหมด ทั้งในโซน และนอกโซน รวมทั้งในส่วนของผู้ประกอบการเจ็ตสกีตอนนี้ก็เอาโต๊ะไปตั้งเอาร่มไปตั้งบนชายหาดด้วย รวมทั้งถังน้ำที่เอาไปฝังทรายไว้ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องอุดช่องโหว่ และเอาร่มที่อยู่นอกโซนกลับเข้ามาอยู่ในโซน ส่วนที่กมลา ผู้ประกอบการอยากที่จะทดลองบริหารจัดการหาดเหมือนกับที่ป่าตอง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพูดคุย แต่ก็เริ่มที่จะมีผู้ประกอบการบางกลุ่มที่เข้าไปจับจองพื้นที่ตั้งร้านขายเครื่องดื่มซึ่งเป็นการสื่อให้เห็นว่า มีการจับจองไว้แล้ว ทาง อบต.สั่งรื้อก็ไม่ยอมรื้อจนขณะนี้มีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว จำนวน 8 ราย

ขณะที่ในส่วนของพื้นที่อำเภอถลาง ตัวแทนนายอำเภอถลาง กล่าวว่า ในส่วนของหาดสุรินทร์นั้นมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ซึ่งในการบริหารจัดการชายหาดจะจัดพื้นที่บางส่วนเพื่อรองรับกลุ่มนี้ด้วย แต่ยังยืนยันพื้นที่โซนนิ่ง 10% ส่วนปัญหาก็เหมือนกับกะทู้ และ อ.เมือง คือ การปักร่มนอกโซนนิ่ง

ด้านผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประชุมกล่าวภายหลังการประชุมว่า ในวันนี้มีความชัดเจนเรื่องของพื้นที่โซนนิ่ง 10% แล้ว แต่มองว่าผู้ว่าฯ มีความตั้งใ จและเจตนารมณ์ที่ชัดเจน แต่ชั่งน้ำหนักในส่วนของความต้องการของนักท่องเที่ยวน้อยไป สำหรับพื้นที่ 10% ไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว ซึ่งจากการรับฟังคิดว่าผู้ว่าแคร์เสียงจากคนที่หวงแหนหาดมากเกินไป จนเสียสาระสำคัญของความเป็นหาดที่ต้องใช้บริการนักท่องเที่ยว และขณะนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งธงจะจะเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว มองว่าเป็นสิ่งที่ผิดพลาดร้ายแรงที่สุด และจะทำลายความเป็นภูเก็ตในอดีต 30 ปีที่ผ่านมา เพราะนักท่องเที่ยวคุ้นเคยกับความเป็นจังหวัดภูเก็ต 30-40 ปีที่ผ่านมา ภูเก็ตโตมาด้วยเงื่อนไขของความเป็นเมืองตากอากาศชายหาด นักท่องเที่ยวมาเพราะหวังความสะดวกสบายหน้าหาดเหมือนเดิม ตนอยู่ใกล้นักท่องเที่ยวรู้ดีว่านักท่องเที่ยวต้องการอะไร
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น