xs
xsm
sm
md
lg

หยิบคดีเด่น : ศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

คำพิพากษาของศาลปกครองในแต่ละคดีนั้น นอกจากจะให้ความเป็นธรรมหรือเป็นการเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายให้แก่คู่กรณีหรือประชาชนผู้ฟ้องคดีแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของรัฐตามหลักธรรมาภิบาล และเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการกฎหมายปกครอง ด้วยการสร้างหลักกฎหมายทั่วไปในทางปกครอง การวางหลักกฎหมายปกครองและการสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดี

วันนี้ผมจึงขอหยิบยกคดีเด่นของศาลปกครองในช่วงเวลาที่ผ่าน ซึ่งถือเป็นการวางหลักกฎหมายปกครองและสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดี โดยศาลปกครองได้ให้เหตุผลในคำวินิจฉัยคดีต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ
ครองธรรมขอสรุปสาระสั้นๆ เพื่อให้อ่านง่าย มาฝากกันดังนี้ครับ

- คดีทนายความผู้มีรูปกายพิการได้สมัครสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการอัยการ และคณะกรรมการอัยการมีมติไม่รับสมัคร โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางหลักว่า การที่คณะกรรมการอัยการรับฟังความเห็นของคณะกรรมการแพทย์ โดยที่มิได้พิจารณาถึง “ความสามารถที่แท้จริงในการปฏิบัติงาน” ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีอาชีพทนายความ ซึ่งได้เคยปฏิบัติงานในห้องพิจารณาคดี ยืนซักถามและถามค้านพยานในศาลโดยไม่เคยขออภิสิทธิ์กรณีใดเป็นพิเศษ และยังเคยเป็นทนายความอาสาให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ฯลฯ จึงไม่มีเหตุผลหนักแน่นควรแก่การรับฟังว่า การที่ผู้ฟ้องคดีมีรูปกายพิการ (เดินขากะเผลก กล้ามเนื้อแขนขาลีบทั้งสองข้าง กระดูกสันหลังคด) จะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการอัยการได้อย่างไร มติของคณะกรรมการอัยการ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเพราะเหตุความแตกต่างในทางสภาพร่างกาย อันขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญฯ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.142/2547)

- คดีจัดงานประเพณีลอยกระทงโดยห้ามกระเทยนั่งในกระทง ศาลปกครองเชียงใหม่วินิจฉัยว่า ประเพณีดังกล่าวถือเป็นการบำรุงรักษาจารีตประเพณีและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นซึ่งจะต้องดำเนินการบนพื้นฐานการให้โอกาสประชาชนทุกคนในท้องถิ่นนั้น ได้เข้ามามีส่วนร่วม การกีดกันกลุ่มบุคคลประเภทใดประเภทหนึ่งในท้องถิ่นไม่ให้มีส่วนร่วมด้วยเหตุสภาพทางกายหรือจิตใจที่เป็นกระเทยหรือเกย์ ย่อมเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์จารีตประเพณีในชุมชนซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ ประกาศของเทศบาลนครเชียงใหม่ในส่วนที่ระบุให้เฉพาะสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษนั่งในกระทงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คดีหมายเลขแดงที่ 211/2554)

- คดีนายอำเภอแม่อายมีประกาศจำหน่ายชื่อและรายการบุคคล (ราษฎรชาวแม่อาย จำนวน 1,243 คน) ออกจากฐานข้อมูลทางทะเบียนบ้านโดยที่มิได้มีการร้องขอ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยวางหลักว่า ประกาศดังกล่าวเกิดจากดุลพินิจของนายอำเภออันถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในบังคับของคำสั่งได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตน ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เมื่อมิได้มีการดำเนินการดังกล่าว กรณีจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญของการออกคำสั่งทางปกครองและขัดต่อหลักการฟังความสองฝ่าย (อ.117/2548)

- คดีการดำเนินการแปรรูป กฟผ. ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางหลักว่า ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท เป็นกรรมการในนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ กฟผ.และบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ อันขัดต่อหลักความเป็นกลาง มีผลทำให้การดำเนินการใดๆ ของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเสียไปทั้งหมดหรือไม่มีผลทางกฎหมาย ประกอบกับบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในทางกฎหมายถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2543 นอกจากนี้บทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2548 ยังได้ให้อำนาจบริษัทฯ ในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นอำนาจมหาชนและเป็นอำนาจเฉพาะของรัฐเท่านั้น จึงเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งทรัพย์สินของ กฟผ.ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งได้มาจากการเวนคืนและสิทธิเหนือพื้นดินเกี่ยวกับระบบส่งไฟฟ้านั้น ถือเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ไม่อาจโอนให้ไปให้ บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) ได้ จึงพิพากษาให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 (ฟ.5/2549)

- คดีการดำเนินการแปรรูป ปตท. ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อ ปตท.เปลี่ยนสภาพไปเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลเอกชน จึง “ไม่มีอำนาจมหาชนของรัฐ” รวมทั้งไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของ ปตท. ที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแทนรัฐได้ ดังนั้น บมจ.ปตท.จึงต้องโอนทรัพย์สินของ ปตท. ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนให้แก่กระทรวงการคลัง โดย บมจ.ปตท.ยังคงมีสิทธิในการใช้ที่ราชพัสดุหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวต่อไป โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แก่แผ่นดิน แต่โดยที่ได้มีการเปลี่ยนสภาพ ปตท.ไปเป็น บมจ.ปตท. และได้นำหุ้นเข้าจดทะเบียนรวมทั้งได้ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์แล้ว หากให้มีการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ ประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และอาจก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายตามมาอีกนานัปการ เมื่อพิเคราะห์เหตุแห่งการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิกถอนกฎหมาย รวมทั้งวิธีการแก้ไขความไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จึงเห็นว่าไม่จำต้องเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว (ฟ.35/2550)

- คดีผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมทุจริตเบิกค่าเช่าบ้านเป็นเท็จ ในชั้นการสืบสวนข้อเท็จจริงพบว่าเป็นกรณีที่มีมูลจึงได้มีการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาการดำเนินการทางวินัยและการให้ออกจากราชการ มีนายศิน ในฐานะรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าการทำหน้าที่ของนายศิน ซึ่งมีส่วนร่วมในการเป็นประธานการประชุมทั้งในขั้นตอนการพิจารณาเสนอความเห็นและการพิจารณามีมติเห็นชอบให้สั่งลงโทษทางวินัยและการวินิจฉัยยกอุทธรณ์ รวมทั้งการให้ข้อมูล ความเห็นและการดำเนินการใด ๆ ในที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดในลักษณะที่เป็นการปกป้องความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาการดำเนินการทางวินัยและการให้ออกจากราชการที่ตนเองเคยทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมมาก่อน อันทำให้เกิดผลในทางลบต่อผู้ฟ้องคดี ถือเป็นการพิจารณาทางปกครองของคณะกรรมการที่มีเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการ ซึ่งมีสภาพร้ายแรงที่อาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางหรือมีเหตุแห่งความไม่เป็นกลางในทางเนื้อหาหรือโดยสภาพภายในของเจ้าหน้าที่หรือกรรมการที่มีส่วนร่วมในการพิจารณาทางปกครอง อันเป็นการพิจารณาทางปกครองที่ไม่ชอบตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 รวมทั้ง การทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมของกรรมการดังกล่าวซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุม กำหนดทิศทางการประชุมและอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ตนเอง (นายศิน) ที่มีความเห็นสนับสนุนหรือคัดค้านได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนหรือไม่ก็ได้ ทั้งยังทำหน้าที่ในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของกรรมการที่เป็นตัวแทนจากส่วนราชการประจำจังหวัดและเป็นผู้มีอำนาจกำกับดูแลองค์การบริหารราชการส่วนจังหวัด ย่อมทำให้กรรมการ (นายศิน) มีอิทธิพลเหนือกว่ากรรมการอื่น ดังจะเห็นได้จากการไม่มีกรรมการคนใดแสดงความเห็นในลักษณะที่แตกต่าง ขัดแย้ง คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับนายศินหรือความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ ที่นายศินเป็นประธาน จึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.245-246/2552)

- คดีกรุงเทพมหานครออกข้อบัญญัติ เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 โดยได้กำหนดนิยามความหมาย “เจ้าของสุนัข” หมายรวมถึง ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัด ให้มีหน้าที่จดทะเบียนสุนัขคือการกำหนดรายละเอียดรูปพรรณสัณฐานและรหัสไมโครชิปพร้อมจัดทำบัตรประจำตัวของสุนัขด้วย หากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดและได้รับโทษปรับ ผู้เลี้ยงสุนัข ซึ่งเลี้ยงสุนัขในครอบครองและเลี้ยงดูสุนัขจรจัดตามท้องที่ใกล้เคียงกับที่พักอาศัยเป็นประจำ จึงฟ้องขอให้เพิกถอนข้อ 5 ในส่วนของบทนิยามของคำว่า “เจ้าของสุนัข” “ที่หรือทางสาธารณะ” “ใบรับรอง”และ “การจดทะเบียนสุนัข” ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ปัญหาจำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้นในกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานาน รวมทั้งมีการแก้ไขปัญหาได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น และส่วนหนึ่งมาจากเจ้าของสุนัขนำสุนัขมาปล่อยในที่สาธารณะ ทำให้จำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มมากขึ้นจนยากที่จะควบคุมได้ด้วยวิธีการปกติ การตราข้อบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นมาตรการในการควบคุมและแก้ไขพฤติกรรมผู้เลี้ยงสุนัขให้มีความรับผิดชอบต่อสุนัขที่ตนเลี้ยงและสังคม อันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และแม้ว่าจะมีผลกระทบต่อเสรีภาพในการเลี้ยงสุนัขของผู้ฟ้องคดีก็ตาม แต่เมื่อชั่งน้ำหนักผลกระทบและความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับกับผลประโยชน์ของสาธารณะที่ต้องสูญเสียแล้ว ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับเบาบางกว่าความเสียหายของประโยชน์สาธารณะ ประกอบกับยังไม่อาจแสวงหามาตรการอื่นใดที่จะสามารถดำเนินการให้บรรลุผลได้เท่ากับมาตรการที่กำหนดในข้อบัญญัติดังกล่าว กรณีจึงเป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัขแล้ว นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้จัดให้มีบริการฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากเจ้าของสุนัขจะไปดำเนินการที่สถานพยาบาลสัตว์เอกชนก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้มากเกินไปกว่าที่รับภาระมิได้ การกำหนดนิยาม “ที่หรือทางสาธารณะ” “ใบรับรอง” และ “การจดทะเบียนสุนัข” จึงเป็นการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายและมิได้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร แต่การนิยาม“เจ้าของสุนัข” ว่ารวมถึงผู้ครอบครองสุนัขหรือผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำมีผลทำให้ประชาชนที่เพียงแต่ให้อาหารแก่สุนัขจรจัดเป็นประจำด้วยความเมตตาต้องมีภาระหน้าที่ในการพาสุนัขจรจัดไปฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัข มิเช่นนั้นอาจทำให้บุคคลนั้นกระทำผิดกฎหมายถือเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควรจึงให้เพิกถอนนิยาม“เจ้าของสุนัข”ที่ให้หมายความรวมถึงผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 764/2556)

- กรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าแทนถ่านหินที่มีราคาแพงและมีมลพิษมากกว่า โดยชาวบ้านเห็นว่าตำแหน่งท่อส่งก๊าซอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยมาก เป็นเหตุให้เกิดความวิตกกังวลและหวาดกลัวอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นจนทำให้เกิดความเครียดและสุขภาพจิตเสื่อม ทำให้ทรัพย์สินเสื่อมราคาลง จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้รื้อถอนท่อส่งก๊าซออกไปวางในแนวอื่นให้พ้นจากหมู่บ้าน ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 ที่ดินภายในหมู่บ้านที่อยู่ในแนวท่อส่งก๊าซเป็นพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านจึงไม่กระทบถึงที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชนที่อาศัยในหมู่บ้านรายหนึ่งรายใดโดยตรง ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในแนวเขตของ กฟผ.ตั้งแต่ก่อนการสร้างหมู่บ้าน จึงถูกจำกัดสิทธิการใช้ภายใต้ข้อกำหนดห้ามมิให้กระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ระบบไฟฟ้าแรงสูง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต จึงถือว่าชาวบ้านดังกล่าวมีสิทธิเพียงการที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านเท่านั้น และการวางท่อส่งก๊าซก็ไม่ได้ทำให้สิทธิใช้สอยร่วมกันนั้นลดน้อยถอยลงและแม้การวางท่อส่งก๊าซจะทำให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินถูกรอนสิทธิหรือจำกัดสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่มิได้มากไปกว่าที่เป็นอยู่เดิมจนเกินวิสัย และผู้ถูกฟ้องคดีได้จ่ายค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ทรงสิทธิในที่ดิน อาคารโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ การวางท่อส่งก๊าซยังได้เจาะลอดลึกลงไป 30 เมตร แทนการขุดหน้าดิน และใช้ท่อเหล็กชนิดพิเศษประกอบกับไม่มีหน่วยงานใดแสดงความเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีโอกาสที่จะเกิดอันตรายได้จนน่าวิตกกังวลเกินกว่าปกติธรรมดา อีกทั้งเมื่อพิจารณาระหว่างประโยชน์ของการดำเนินการเพื่อให้วัตถุประสงค์ในการจัดทำบริการสาธารณะความมั่นคงของรัฐด้านพลังงานบรรลุผลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ฟ้องคดีแล้ว การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามหลักของความได้สัดส่วนที่กำหนดให้หน่วยงานทางปกครองเลือกใช้มาตรการในการจัดทำบริการสาธารณะที่สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริงโดยก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนน้อยที่สุดเพียงเท่าที่จำเป็น ดังนั้น การวางท่อส่งก๊าซจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและได้ดุลยภาพระหว่างประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์ของเอกชน จึงไม่เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 883/2556)

- คดีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางมีมติให้มีการปรับปรุงเส้นทางการเดินรถประจำทาง ซึ่งมีผลเป็นการอนุญาตให้ผู้ประกอบการขนส่งประจำทางรายอื่นเดินรถทับเส้นทางที่ผู้ฟ้องคดีได้รับอนุญาตบางส่วน อันส่งผลต่อรายได้ในการประกอบการของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่ง ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า จุดมุ่งหมายหลักในการจัดทำบริการสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก ก็คือ การจัดบริการรถโดยสารสาธารณะให้แก่ประชาชนอย่างเพียงพอและมีความสะดวกรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการบริการสาธารณะและสามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง ดังนั้น แม้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางจะมีมติและออกประกาศดังกล่าว อันส่งผลต่อรายได้ในการประกอบการของผู้ฟ้องคดีก็ตาม แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนที่จะสามารถเดินทางระหว่างจังหวัดได้โดยไม่ต้องต่อรถ กับผลกระทบต่อรายได้ของผู้ฟ้องคดีในเส้นทางการเดินรถที่ทับซ้อนแล้ว เห็นได้ว่า การใช้ดุลพินิจในการปรับปรุงเส้นทางการเดินรถประจำทางดังกล่าวของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายหลักของการจัดทำบริการสาธารณะข้างต้น กรณีจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว (อ.78/2554)

- คดีปิดป้ายโฆษณาบนหน้าต่างรถไฟ คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักไว้ว่า หน้าต่างของตู้รถไฟมีไว้เพื่อให้แสงสว่างจากภายนอกเข้าไป และให้ผู้โดยสารสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ รถโดยสารที่ไม่มีหน้าต่างจึงมิอาจเรียกว่าเป็นรถโดยสาร แต่เป็นรถขนส่งสินค้า กรณีจึงถือเป็นการปฏิบัติต่อผู้โดยสารเยี่ยงวัตถุอันเป็น “การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถใช้ประโยชน์จากหน้าต่างได้ตามวัตถุประสงค์ของการมีหน้าต่าง จึงพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาออกจากกระจกหน้าต่างรถไฟ (อ.231/2550)

- คดีบ่อฝังกลบขยะราชาเทวะ ซึ่งบริษัทผู้รับจ้างได้ดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยโดยไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า โดยที่องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะมีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว การไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบให้มีการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง แต่ยังกลับทำสัญญาจ้างบริษัทดังกล่าวต่อไป ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ (อ.79/2547)

- คดีพิพาทกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิด โดยการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเสนอราคาไว้ในเอกสารประกวดราคาเพิ่มเติมจากประกาศประกวดราคา ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ถือเป็นการออกประกาศประกวดราคาโดยไม่เปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม กรณีจึงไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เมื่อผู้เข้าร่วมประกวดราคาได้ซื้อเอกสารประกวดราคาไปแล้วจึงทราบจากรายละเอียดในเอกสารประกวดราคาว่า ตนถูกจำกัดสิทธิตามเงื่อนไขการประกวดราคา ทำให้ไม่อาจเข้าร่วมเสนอราคาได้ ผู้ซื้อเอกสารประกวดราคาจึงย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว และชอบที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานทางปกครองต้นสังกัดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ จึงพิพากษาให้ชำระเงินค่าซื้อเอกสารประกวดราคาคืนแก่ผู้ฟ้องคดี (อ.98/2554)

- คดีพิพาทกรณีองค์การบริหารส่วนตำบลละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า องค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งซ่อมแซมและบำรุงรักษาทาง ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 จึงมีหน้าที่จัดทำป้ายเตือนกรณีสะพานที่ใช้ในการสัญจรขาดชำรุด และยังต้องดำเนินการปิดทางบริเวณก่อนถึงสะพานที่เกิดเหตุเพื่อป้องกันมิให้มีการสัญจรผ่านไปถึงสะพานได้ การไม่ดำเนินการย่อมถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่และทำให้ประชาชนผู้ใช้ทางเกิดความเสียหายโดยขับรถตกสะพาน จึงพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายที่ได้กระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวแก่ผู้ฟ้องคดี (อ.33/2554)

- คดีกรณีที่มีการเวนคืนที่ดินแต่เพียงบางส่วนแล้วปรากฏว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนั้นมีเนื้อที่น้อยกว่า 25 ตารางวา หรือด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่า 5 วา และที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นมิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เจ้าของที่ดินมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพื่อบังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยไม่อาจใช้ดุจพินิจปฏิเสธคำร้องขอได้ การที่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการดังกล่าว อันเป็นเหตุให้เจ้าของที่ดินไม่ได้รับเงินค่าทดแทนตามกฎหมาย ต้องถือว่ามีการจ่ายเงินค่าทดแทนล่าช้าเกินกำหนดตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงต้องรับผิดจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยเพื่อทดแทนความเสียหายดังกล่าวด้วย (อ.242/2554)

- คดีพิพาทกรณีนำผลการสอบสวนทางวินัยมาออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายฐานกระทำละเมิด ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกับคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่แตกต่างกัน ทั้งเป็นคณะกรรมการสอบสวนตามกฎหมายคนละฉบับ การที่หน่วยงานของรัฐนำผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมาออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายฐานกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นการออกคำสั่งทางปกครองโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามรูปแบบอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อ.114/2554)

- คดีพิพาทเกี่ยวกับการโอนย้ายข้าราชการระดับสูงโดยมิชอบ กรณีนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่งคงแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหารระดับสูง) นายจาดุร อภิชาตบุตร จากตำแหน่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหาร 10) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการ 10) สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และกรณีนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ ที่ในขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ถูกคำสั่งให้โอนไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยทั้งสามคดีดังกล่าวศาลปกครองได้วินิจฉัยว่าเป็นการโอนย้ายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ไม่มีเหตุผลที่เป็นจริงและสมเหตุสมผลรองรับ ไม่สอดคล้องตามระบบคุณธรรมและเจตนารมณ์ของกฎหมายเกี่ยวกับการโอนย้าย อันถือเป็นการวางบรรทัดฐานและหลักการสำคัญเกี่ยวกับการโอนย้ายข้าราชการประจำให้มีความชัดเจน (อ.33/2557,อ.229/2554,2143/2555)

คดีที่หยิบยกมานี้ เป็นเพียงบางส่วนจากคดีนับหมื่นที่ศาลปกครองได้พิจารณาวินิจฉัยและให้ความเป็นธรรมในข้อพิพาททางปกครอง เพื่อแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้กับประชาชนหรือคู่กรณีในคดี ควบคู่กับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมอย่างสมดุล รวมทั้งการสร้างและวางหลักกฎหมาย ตลอดจนบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีของภาครัฐ เพื่อการก้าวสู่สังคมธรรมาภิบาลร่วมกัน

ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น